กลุ่มมโนราปากลัด .
เยาวชน Active Citizen โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนบนฐานความรู้สู่การขับเคลื่อนงาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประวัติและผลงาน

โครงการเด่น โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด

นายชานนท์ ปรีชาชาญ (ชานนท์) อายุ 30 ปี ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น พี่เลี้ยงโครงการ

­

­

โครงการสืบสานมโนราห์บ้านปากลัด เริ่มต้นมาจากน้องบอม ซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่ ทราบว่ามีโครงการ Active Citizen ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ทำโครงการในชุมชน น้องบอมนั้นอยากทำโครงการศึกษาเรื่องมโนราห์จึงนำเอกสารมาปรึกษาครูชานนท์ ซึ่งเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น มีคณะแสดงมโนราห์ ชื่อคณะพี่เสือรามจันทร์ น้องสิงห์ ศิลป์ชัย ณ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ วันนั้นครูชานนท์เห็นโอกาสว่ามโนราห์น่าจะเป็นเครื่องมือที่ดึงเด็กๆ ในชุมชนซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องการพนันและยาเสพติด ออกมาได้ โครงการนี้จึงเกิดขึ้น โดยมีแกนนำเยาวชนบ้านปากลัดจำนวน 8 คนทำโครงการ และมีครูชานนท์เป็นพี่เลี้ยง

โครงการมีเป้าหมายส่งเสริมเยาวชนให้มีบทบาททางสังคม ผ่านการสืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้าน “มโนราห์” ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ ครูภูมิปัญญา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชน ผ่านกิจกรรมพัฒนาทักษะการแสดงมโนราห์ในเยาวชนรุ่นใหม่ ทีมเยาวชนผู้รับผิดชอบโครงการ ทำหน้าที่ตั้งแต่เขียนโครงการ วางแผนการทำงาน สืบค้นข้อมูลจากครูภูมิปัญญา เปิดรับสมัครสมาชิกเยาวชนที่สนใจ จัดทำข้อมูลประเภทเยาวชนตามสภาพปัญหาและความยากลำบากในการดำเนินชีวิต เพื่อดูแลและประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดการเรียนรู้การแสดงมโนราห์ร่วมกับครูชานนท์และรุ่นพี่ ประเมินผลพัฒนาการของสมาชิกแต่ละคนเพื่อจัดการฝึกฝนที่เหมาะสม จัดเวทีแสดงความสามารถในชุมชน รวมถึงการสรุปงานและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน

บอม-ภัศรุท ประเสริฐ หัวหน้าโครงการเล่าว่า โครงการเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เด็กๆ ในชุมชนสมัครเข้ามาเรียนรู้เรื่องมโนราห์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ รำ ดนตรี และการประดิษฐ์

“ใครอยากเรียนกลุ่มไหนก็เรียนไป แต่ก็เรียนอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยในช่วงเวลาว่าง ดนตรีจะเรียนเครื่องดนตรีมโนราห์ การประดิษฐ์จะมีการร้อยชุด ทำเครื่องแต่งกายมโนราห์ ในหนึ่งวันจะมีการทำกิจกรรม 3 กลุ่มย่อย กลุ่มที่รำก็รำ กลุ่มดนตรีก็เรียนดนตรี กลุ่มประดิษฐ์ก็ประดิษฐ์ก็คือมี 3 กลุ่มนี้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่ในศูนย์ แต่ทุกคนจะได้เรียนพื้นฐานความเป็นวงมโนราห์ด้วยกัน...มีครูชานนท์และรุ่นพี่มาช่วยสอน ผมดูทุกกลุ่ม ประเมินว่าแบบนี้โอเคไหมสิ่งที่ทำไป ดูภาพรวมในวันนั้นจาก 3 กลุ่มย่อย” บอมอธิบาย

แม้เด็กบางคนที่ตัวใหญ่ บางคนตัวดำรูปร่างอ้วน พี่ๆ ก็ไม่เกี่ยง เปิดโอกาสให้เขาลองดู เริ่มจากท่าง่ายก่อนใส่ท่าที่ยากให้ แม้ที่อื่นเขาจะไม่รับเด็กกลุ่มนี้ แต่ครูชานนท์เปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ ที่อื่นจะไม่เอา แต่ครูชานนท์เอาเพราะถือว่าเด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นด้วย จากที่เขาไม่เคยมีโอกาส เขาก็ได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมา เขาก็ทำได้ “ที่นี่ครูชานนท์สอนทุกอย่างไม่สอนแค่มโนราห์ สอนเรื่องการอยู่กับเพื่อนในโรงเรียน สอนถึงการใช้ชีวิตในครอบครัว ครูเล่าว่าเด็กที่แม่เสียชีวิตแล้วพ่อเป็นมะเร็ง เขามาบอกผมซึ่งผมไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องปรึกษาครูชานนท์ เป็นปัญหาครอบครัวของเขา เมื่ออยู่ร่วมกันเราต้องช่วยเหลือกัน เด็กบางคนมีปัญหาที่โรงเรียน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม พอรู้เราประสานงานให้ บางครั้งครูชานนท์ก็ช่วยเหลือค่าเทอมเด็กเอง

การสืบสาน เรียนรู้มโนราห์ เป็นส่วนหนึ่งของการติดตั้งวิธีคิดอย่างมีระบบให้กับเด็ก ๆ ที่มาเรียนรู้ ต้นทุนครอบครัวของเด็กเยาวชนที่ร่วมโครงการมาจากครอบครัวกลุ่มเสี่ยง มีทั้งปัญหายาเสพติด การพนัน ความยากจน แม้มีอุปสรรคในช่วงแรก คือเรื่องการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเรื่องความเชื่อเดิม เพราะในชุมชนปากลัด ไม่มีมโนราห์มาก่อน มโนราห์เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเชื่อดั้งเดิมในชุมชนว่าเป็นการนับถือผีบรรพบุรุษ คล้ายการนับถือผีฟ้า หากเด็ก ๆ เข้ามาสนใจผู้ปกครองกลัวว่าเด็กจะโดนผีเข้า กลัวเรื่องไสยศาสตร์แฝงเข้ามาในตัวเด็ก ครูชานนท์และโครงการฯ พยายามทำความเข้าใจ เปลี่ยนความคิดใหม่ว่ามโนราห์เป็นศิลปวัฒนธรรมที่อยู่คู่ความเชื่อ การรำมโนราห์ทำเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ ให้มรดกทางวัฒนธรรมได้คงอยู่คู่ชุมชน เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า เด็กรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องนี้ แต่ผู้ปกครองก็ยังคงกังวล ครูชานนท์ใช้เวลาในการพิสูจน์จนเยาวชนคนหนึ่งที่มีปัญหาสมาธิสั้น มาฝึกรำมโนราห์ เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม เขาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น พูดจาสุภาพอ่อนน้อมขึ้น ทำให้ผู้ปกครองเปิดใจให้เด็ก ๆ มาเรียนมากขึ้น

การทำงานของโครงการสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด ทำงานอย่างเชื่อมโยงสอดคล้องตามหลัก บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) มีวัดหนุนเสริมให้สถานที่ในการฝึกซ้อม นำขนม อาหารว่างมาสนับสนุนเด็ก เยาวชนในระหว่างทำกิจกรรม รวมทั้งช่วยประสานงานให้ใช้พื้นที่วัดในการเปิดศูนย์การเรียนรู้มโนราห์แห่งที่ 2 ในวัดศรีพนมพลาราม อำเภอท่าชนะ และศูนย์ที่ 3 คือสำนักสงฆ์เกาะเวียงทอง อำเภอพุนพิน การเปิดศูนย์แห่งที่ 2 และ 3 เนื่องจากมีเด็ก และผู้ปกครองให้ความสนใจจำนวนมาก มีการบอกปากต่อปากกันในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ทำให้มีเด็ก เยาวชนสนใจ เกือบ 400 คน ครูชานนท์เล็งเห็นถึงความปลอดภัยในการเดินทางและเรื่องการลดค่าใช้จ่ายของเด็ก ๆ ที่ต้องจ่ายค่ารถมาเรียนที่บ้านปากลัด จึงเปิดศูนย์เพื่อแบ่งโซนให้เด็กคนไหนใกล้ที่ไหนไปเรียนที่ศูนย์ใกล้บ้าน ถึงตอนนี้มี 3 ศูนย์ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี และ 1 ศูนย์ในจังหวัดปัตตานี

กระบวนการทำงานของโครงการฯ ใช้วิธีพี่สอนน้อง มีครูชานนท์ พี่เลี้ยง ดูภาพรวม เปิดเป็นโอกาสให้เด็กได้ลองผิดลองถูก แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง การดูแลกันเหมือนครอบครัวใหญ่ เด็ก เยาวชนเกื้อกูลดูแลกันในยามที่มีสมาชิกลำบาก แม้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับโครงการฯ แต่การเป็นหนึ่งเดียวกันทำให้พวกเขาช่วยเหลือไม่ทอดทิ้งกัน การเรียนรู้แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อยกลุ่มรำ กลุ่มดนตรี (เครื่องดนตรีมโนราห์) กลุ่มการประดิษฐ์ (ร้อยลูกปัด ทำชุด ทำเครื่องแต่งกายมโนราห์) เลือกเรียนตามความสนใจจะมี 3 กลุ่มเคลื่อนไหวทำกิจกรรมอยู่ในศูนย์ แต่ทุกคนจะได้เรียนพื้นฐานความเป็นวงมโนราห์ด้วยกัน โดยมีการติดตาม วิเคราะห์การสอนและการเรียนรู้ ทั้งคนสอนและผู้เรียน ให้มีพัฒนาการและตามกลุ่มทัน พาไปทัศนศึกษา เรียนรู้จักครู สัมภาษณ์ครูภูมิปัญญาท่านอื่น สอนให้เด็ก ๆ เปิดใจ เปิดโลกและกล้าเรียนรู้นอกเหนือจากวงที่ตัวเองอยู่

โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด พัฒนาเด็ก เยาวชน ให้เติบโตโดยมีสำนึกพลเมืองอย่างรอบด้าน ใช้ทั้งหลักการเรียนรู้ 3H Head Hand Heart ผ่านศิลปะพื้นบ้านมโนราห์ เกิดพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ในชุมชน

Head มีวิธีคิดที่มีระบบ มีตรรกะความคิด (Mindset) ที่มีเหตุผล เข้าใจและเลือกตัดสินใจเส้นทางที่ถูก

Hand การเรียนรู้การรำผ่านฐานกาย เสริมบุคลิกให้เคลื่อนไหว สมดุล แข็งแรง

Heart สร้างอำนาจภายในให้ ผู้เรียนเกิดความภูมิใจ รัก เคารพตัวเอง ไม่ตัดสินคนจากภายนอก และการเรียนรู้ร่วมกันด้วยความรัก มิตรภาพ ได้บ่มเพราะคุณลักษณะเชิงบวกที่มนุษย์พึงมีให้งอกงามในใจเด็ก

กระบวนการที่เด็กๆ ได้ทำโครงการ ทำให้พวกเขามีการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่น่าสนใจ เช่น

เด็กบางคนเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ ห่างไกลอบายมุข ยาเสพติด การลักขโมย ปรับแนวความคิดและเห็นทางเลือกใหม่ ๆ ในชีวิต การที่เด็กได้ห่างไกลจากสิ่งแวดล้อมเดิม มาเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการติดตั้งมุมมองใหม่ให้เด็กได้ตระหนักคิดว่าตัวเองมีทางเลือกที่จะสร้างอนาคตผ่านการสืบสาน สืบค้น ฝึกหัดการรำมโนราห์

เปลี่ยนแปลงจากคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ไม่มั่นใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง (รูปร่าง หน้าตา สีผิว) เป็นเกิดความมั่นใจ ร่าเริง ภูมิใจในตัวเอง มีอำนาจภายในที่เข้าใจความสวยในรูปแบบที่เป็นธรรมชาติ ความสวยงามที่เกิดจากความคิดและโลกภายใน กล้าที่ก้าวอย่างภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง

เยาวชนคนหนึ่งที่บ้านติดการพนัน น้องคลุกคลีอยู่ในวงพนันตลอดทั้งวัน นอนดึก ผลการเรียนตกต่ำ เมื่อเข้าร่วมโครงการฯ ได้ออกจากสิ่งแวดล้อมเดิม ทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง มีมิติที่มองสังคมใหม่ ได้พบเจอกลุ่มเพื่อนและครูที่ดี ทำให้หลุดจากวงอโคจร ส่งผลให้การเรียนดีขึ้น เป็นที่รักในหมู่เพื่อน

เมื่อผู้ปกครองในละแวกบ้านใกล้เคียงเห็นการเปลี่ยนของเยาวชนจึงให้ลูกหลานติดตามมาร่วมโครงการฯ ด้วย

“เด็กบางคนนี้เขาไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลย แค่ไปโรงเรียนไปเรียนหนังสือ ไม่มีเป้าหมายเลยว่าจะไปเรียนเพื่ออะไร กลายเป็นว่าเขามีเป้าหมายในชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น น้องเคเขามีเป้าหมายในชีวิตว่า เขาอยากเป็นครูสอนหนังสือ...มีการพัฒนาจากเกรดเฉลี่ยที่น้อยเป็นเกรดเฉลี่ยที่สูงขึ้น จนโรงเรียนยอมรับ เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และพ่อแม่” ครูชานนท์ พี่เลี้ยงโครงการพูดถึงน้องเค หนึ่งในสมาชิกโครงการ

นอกจากนี้ ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ดำเนินกิจกรรม โดยมีหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นให้ความสนใจ สนับสนุนทุนในการต่อยอดทำกิจกรรม มีงานแสดงให้เยาวชนได้แสดงทั้งในและนอกจังหวัด ทำให้เยาวชนมีรายได้จุนเจือครอบครัว

­

ความโดดเด่น
  • บูรณาการการสืบสานภูมิปัญญา มรดกวัฒนธรรม "มโนราห์" ให้เด็ก เยาวชน ค้นพบ เรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการระเบิดจากภายใน
  • เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่รับทุกคน โดยไม่แบ่งหรือกีดกัน ให้พื้นที่สำหรับเด็ก เยาวชน กลุ่มเสี่ยงได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ในการค้นพบศักยภาพของตัวเอง
  • ทำงานอย่างมีระบบ บนฐานความรักและความเข้าใจองค์ความรู้ เข้าใจกันและกัน กล้าที่จะเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ มีหัวใจแห่งความเป็นครู