ภัศรุท ประเสริฐ
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สุราษฎร์ธานี
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน
­ความโดดเด่น :
  • เป็นผู้นำที่ดี สร้างสรรค์โอกาสให้ตัวเองและผู้อื่น กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นพี่ เป็นเพื่อนที่ดี นำพาให้สมาชิกอยู่ในพื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัย สบายใจ (Learning Zone)
  • มี Critical Thinking มีระบบการทำงาน คิด วิเคราะห์ แยกแยะ หาสาเหตุ และนำผลลัพธ์ในแต่ละครั้งมาประเมินเพื่อพัฒนาในกิจกรรมครั้งต่อไป
  • ใจกว้าง เปิดโอกาส ไม่ตัดสิน เคารพในความเป็นมนุษย์และเชื่อว่าทุกคนอยากเติบโตให้ดี

       บอม ภัศรุท ประเสริฐ จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนเวียงสระ กำลังเตรียมตัวเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะรัฐประศาสนศาตร์ ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการ เริ่มทำโครงการจากการชักชวนของพี่ทีม สก.สว. สุราษฏร์ธานี บอมโทรไปถามซื้อลูกปัดมโนราห์ได้คุยกันพี่ ๆ เขาจึงชวนทำโครงการ บอมมีความชื่นชอบมโนราห์อยู่แล้วจึงตัดสินใจทำโครงการ คุณทวดของบอมชอบรำมโนราห์ ได้ไปเรียนมโนราห์ที่จังหวัดตรัง แต่สมัยนั้นการเดินทางไม่สะดวก จึงเรียนไม่เต็มที่นัก ครอบครัวของบอมจึงขาดช่วงและห่างหายจากศิลปะแขนงนี้ จนประทั่งบอมซึ่งเป็นเหลนที่กลับมาสนใจอีกครั้ง บอมเคยเรียนรำมโนราห์จากโรงเรียนในช่วงประถมศึกษา ห่างหายไปกว่า 10 ปี จนกระทั่งได้รู้จักกับครูชานนท์ พี่เลี้ยงโครงการ เมื่อทำโครงการโรงเรียนได้ตั้งชุมนุมมโนราห์ขึ้นมา จึงได้อยู่ชมรมมโนราห์จนจบ ม.6

      บุคลิกนิสัยเดิมบอมเป็นคนจริงจัง ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ ไม่ค่อยยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เวลาทำงานกลุ่มที่โรงเรียน เพื่อนเสนอความคิดแต่ไม่ตรงกับประเด็นที่ตัวเองวางไว้ ก็จะอารมณ์ฉุนเฉียว แสดงสีหน้าไม่พอใจ หรือยกให้คนอื่นทำไปเลย ชอบทำงานให้เสร็จเร็ว เร่งงาน ชอบทำงานคนเดียว เป็นคนเฮฮาเฉพาะกับคนที่สนิท จะทำเฉยกับคนไม่สนิท การลงมือทำงานจริงในโครงการฯ ทำให้เขาได้เรียนรู้ เพราะพบปัญหาจากการทำเร็ว คิดเร็ว ไม่วางแผน จนเกิดข้อผิดพลาดหน้างาน จนต้องหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อได้กลับมาทบทวน หากวางแผนก่อนการทำงาน ทำเป็นขั้นตอนงานจะออกมาดีปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็น้อยลง

      บอมเป็นคนมั่งคงและเปิดกว้าง ครูชานนท์สอนบอมว่า "คนเราต้องให้โอกาสคนก่อน แต่ก็ต้องระมัดระวัง คนเตือนให้รับฟังเพื่อป้องกัน แต่ไม่ตัดสิน" เมื่อมีผู้ปกครองพาน้องมาสมัครสมาชิก บางคนเตือนว่าอย่ารับเด็กคนนี้เพราะประวัติไม่ดี ชอบลักขโมย บอมรับฟังทุกเสียงที่แนะนำ แต่ไม่ตัดสินปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้เด็กที่ถูกกล่าวหาเข้าร่วมโครงการฯ เพราะเห็นว่าน้องมีความตั้งใจ บอมใช้ความรัก ความเป็นครอบครัวดูแลสมาชิกทุกคน เด็กทุกคนเข้ามาร่วมโครงการก็ปรับตัวและดูแลกัน จากกลุ่มเป้าหมายเดิมที่โครงการวางไว้ 20 คน แต่มีผู้มาสมัครเข้าศูนย์เพื่อเรียนมโนราห์จากทั่วสารทิศ จนตอนนี้มีสมาชิกกว่า 400 คน

       บทบาทหน้าที่หัวหน้าของบอม จึงต้องทำงานมากขึ้น วางแผนก่อนเริ่มงาน ประชุมทีมแกนนำ นำผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานครั้งก่อนมาประเมินหาวิธีการใหม่ที่จะทำให้สำเร็จ (Critical Thinking)

       “วางแผนก่อนทำ พอทำแล้วเกิดปัญหาก็นำมาแก้ไข ต้องฟังจากทุกคน การวางแผนจะเรียกทุกคนมานั่งล้อมวงคุยกันแบบพี่แบบน้อง ไม่ประชุมเป็นพิธีการ คุยกันว่าเราต้องทำอะไรถ้ามีปัญหาต้องแก้อย่างไร ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องหาวิธีการอื่นมาแก้ต้องผิดลองถูกไปก่อน เอาผลลัพธ์จากครั้งนั้นมาคุยกัน แล้วก็หาวิธีการที่ทำให้สำเร็จจากเป็นคนที่จะทำอะไรก็ทำเลยไม่วางแผน ทำให้เกิดอะไรแบบนี้ พอได้ทำโครงการนี้ ทำให้รู้ว่าต้องวางแผนก่อนการทำงาน เป็นขั้นตอน งานออกมาดีปัญหาที่เกิดขึ้นมีน้อยลง” บอม อธิบาย

       ในบทบาทของพี่ที่คอยดูแลน้องๆ ระหว่างเรียนมโนราห์ เนื่องจากกิจกรรมหนึ่งในการทำโครงการคือเปิดให้เด็กและเยาวชนในชุมชนสมัครเข้ามาเรียนรู้เรื่องมโนราห์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักคือ เรียนรู้เรื่องการรำ เรียนรู้เรื่องดนตรีที่ใช้กับมโนราห์ และกลุ่มที่เรียนเรื่องการประดิษฐ์ เช่น การทำชุดมโนราห์ ซึ่งมีครูชานนท์ พี่เลี้ยงโครงการเป็นผู้สอน ร่วมกับครูภูมิปัญญาในชุมชน ซึ่งบอมมีหน้าที่ดูภาพรวม ดูว่าน้องคนไหนเรียนได้หรือไม่ได้ ต้องช่วยเหลืออะไร ซึ่งเวลาสอนน้องวิธีการที่บอมใช้คือ รับฟัง สอบถาม อธิบาย ใจเย็น

       "อยู่ที่โรงเรียนครูดุมาก ทำงานพลาดจะโดนตำหนิบ่อย ๆ แต่การอยู่ศูนย์เรียนรู้ เราจะทำวิธีการแบบนั้นกับน้อง ๆ ไม่ได้ ต้องรับฟัง และสอบถาม อธิบายว่าทำอย่างไร บางครั้งพอรับฟังก็รู้ว่าน้องไม่สบายจึงเป็นแบบนี้ เราก็ยอมรับ ไม่บังคับ” การรับฟังของบอมทำให้น้อง ๆ สมาชิกร่าเริง สนิทกันมากขึ้น บอมเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่น้อง ๆ จะมาปรึกษาเวลาที่เกิดเรื่องราวไม่สบายใจทั้งเรื่องครอบครัว การเรียน เพื่อน หรือเรื่องที่โรงเรียน บอมจะรับฟังและหากเป็นเรื่องที่เกินกำลังบอมจะปรึกษาครูชานนท์ บอมเชื่อว่าการฟังคือการแก้ปัญหาระดับหนึ่ง น้อยสุดน้องที่เล่าเขาก็ได้ระบาย และส่งผลดีต่อการเรียนรู้ต่อไป

       จากหลายบทบาทที่รับผิดชอบ ประสบการณ์การทำงานทำให้บอมเท่าทันและจัดการอารมณ์ตัวเองได้ เท่าทันความผิดหวัง ความเจ็บปวดที่อยู่ด้านในเนื่องจากการกดดันตัวเอง แปรเปลี่ยนเป็นการยอมรับความผิดพลาด สร้างพลังภายใน ให้ตัวเองกลับมาทบทวนและพยายามอีกครั้ง บอมมีทักษะในการเข้าสังคมมากขึ้น รู้วิธีการเข้าหาผู้อื่น กล้าสื่อสาร ตั้งสติ จดจ่อกับงานตรงหน้า และรู้จักการบันทึกกันลืม

       “จากที่อารมณ์ฉุนเฉียวจากความโมโหก็พยายามควบคุมสติตัวเองก่อน มีเหตุการณ์หนึ่งในเวทีแสดงความสามารถเราเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ตอนนั้นวางแผนไว้เยอะแต่งบประมาณไม่เพียงพอ ก็มีอารมณ์ที่ฉุนเฉียวไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร...ตอนนั้นโมโหตัวเองที่ทำพลาด ยังไม่รู้แนวทางแก้ไข กว่าจะได้ก็ต้องปรับตัว พยายามปล่อยวาง ไม่เก็บมาคิดมาก ยืดหยุ่น”

       อีกเรื่องคือการต้องพบเจอ และจัดการกับผู้คนที่หลากหลายในระหว่างทำโครงการ “เมื่อก่อนเป็นเด็กอยู่แต่บ้านไม่ชอบออกสังคม พอทำงานแบบนี้ได้รู้ว่าสังคมอยู่แบบนี้ เราต้องพัฒนาตามให้ทันสังคมเรื่องความรู้ ตอนแรกลำบากเรื่องการปรับตัวอยู่ในสังคม เพราะว่าต้องเจอกับผู้ปกครองของเด็กที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาเป็นคนอย่างไร แต่เราต้องรับมือกับเขาให้ได้ พอเขาแสดงความคิดเห็นมาเราต้องรับฟังเขา นำมาคิดก่อน เราจะปฏิเสธทันทีไม่ได้” บอม เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง

       โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด ที่บอมและเพื่อนได้ร่วมกันสร้างพื้นที่เรียนรู้ โดยมีครูชานนท์หนุนเสริม จึงไม่ใช่เพียงห้องเรียนวิชา "มโนราห์" แต่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ที่เสมือนห้องเรียนชีวิต ที่มีเยาวชนทำเพื่อเยาวชน ต่อเติม เรียนรู้ และก้าวไปด้วยกัน บอมไม่หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อมีช่องทางและโอกาสบอมจะเขียนโครงการ สื่อสารกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ได้ทุนมาทำศูนย์การเรียนรู้ให้ต่อเนื่อง และเข้าถึงคนที่ต้องการเรียนรู้ต่อ ไป

        “จากเด็กที่ชอบขับรถเที่ยวไปวัน ๆ มั่วสุมยาเสพติด เขาก็พยายามถอยห่างออกมาจากเดิมมากขึ้น บางคนผอมมาก ตอนนี้กลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งในโครงการดีใจที่ได้ขนาดนี้ ถือว่าเยอะแล้ว ที่สามารถทำให้คนในชุมชนและครอบครัวของเราพัฒนาเกิดความคิดใหม่ ๆ ได้” บอม ทิ้งท้าย