ครูแผนกทวิศึกษาช่างไฟฟ้า โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4
โครงการการศึกษาขั้นตอนวิธีการในการทำผ้ากัญชงของชาติพันธุ์ม้งอำเภอพบพระ จังหวัดตาก
นายศราวุธ ปิจนันท์ (ครูจูน) ครูแผนกทวิศึกษาช่างไฟฟ้า โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 หนึ่งในทีมพี่เลี้ยงของกลุ่มเยาวชน The Hemp ครูจูนจบด้านวิศวกรรม เคยร่วมงานกับหลายประเทศทั้งญี่ปุ่น เกาหลีและยุโรป เป็นนักอ่าน ชอบเรียนรู้เรื่องแนวความคิดของคน ครูจูนสอนทวิศึกษาสอนทั้งสองโปรแกรม ทั้งสายสามัญและช่าง ดูแลแผนกช่างไฟฟ้า สอนความรู้และวัดเด็กจากการปฏิบัติ ครูจูนเคยเป็นพี่เลี้ยงให้กับโครงการป่าประโยชน์ ได้นำเสนอผ่านช่องทาง YouTube จนรายการสองกำลังสื่อนำไปเสนอที่ช่อง TPBS โครงการป่าประโยชน์เกิดขึ้นเพราะเด็กอยากปลูกป่า ครูมีหน้าที่สนับสนุน กระตุ้นไอเดีย ตั้งคำถาม กระตุ้นให้เห็นประโยชน์ในระยะยาว เยาวชนได้ลงมือทำ ครั้งนั้นโครงการได้ปลูกป่าตามแนวป่า สร้าง Buffer ระหว่างชุมชนกับป่า ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ ชุมชนบุกรุกไม่ได้แล้วเพราะจะโดนชาวบ้านด้วยกันต่อว่า เขาเช็คกันเอง เข้าปีที่ 2 คนที่บุกรุกป่ายอมคืนพื้นที่เพราะเห็นเด็กๆ มาปลูกป่า ครูจูนทำโครงการสองปีถือว่าเกิดผลสำเร็จ ย้ายโรงเรียนมาอยู่ที่โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 จึงส่งต่อโครงการให้โรงเรียนเดิมดูแล
ครูจูนได้เข้ามาเป็นทีมพี่เลี้ยงของโครงการฯ โดยมีคุณครูกฤษณาชักชวน เนื่องจากรู้ถึงประสบการณ์การทำงานและแนวคิดของครูจูน จึงมอบหน้าที่ให้ครูจูนวางแผนกลยุทธ์ วิธีการและกระบวนการซึ่งมุ่งเน้นผลลัพธ์ โดยครูจูนทำหน้าที่ใกล้ชิดกับเยาวชน
โครงการการศึกษาขั้นตอนวิธีการในการทำผ้ากัญชงของชาติพันธุ์ม้งอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เกิดขึ้นจากโรงเรียนตั้งอยู่กลางชุมชน ตำบลคีรีราษฏร์ที่ได้รับอนุญาติให้ปลูกกัญชงได้จำนวน 300 ไร่ซึ่งพื้นที่อื่นปลูกได้เพียง 10 – 20 ไร่ มีองค์ความรู้เรื่องกัญชง แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครเรียนรู้และรู้จักทั้งกระบวนการปลูก ปั่น ทอ มีเพียงคนอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่รู้ข้อมูล คุณครูจึงชักชวนเยาวชนร่วมทำโครงการฯ
ครูจูนเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ลองผิดลองถูก รับฟังความคิดเห็นและการนำเสนอของพวกเขา เพื่อให้เยาวชนรู้สึกเป็นเจ้าของ ตั้งคำถามปลายเปิดและยกระดับการเรียนรู้ด้วยคำถามที่ท้าทายแต่ไม่ทำให้เยาวชนรู้สึกตกใจกลัว จนไม่กล้าลงมือทำ สนับสนุนให้เยาวชนมีวินัยและรับผิดชอบบนฐานการเรียนรู้จากการกระทำและสามารถเล่าความจริงเพื่อแก้ไขปัญหาที่แท้จริง ชักชวนให้เยาวชนค้นหาเป้าหมายที่เกิดขึ้นจากตัวพวกเขาเอง สร้างแรงบันดาลใจให้เห็นภาพที่มีความหมายต่อเยาวชน เพื่อร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะมีเป้าหมายเดียวกันคืออยากรู้จัก เรียนรู้ และยกระดับกัญชง ผลผลิตของชาวม้ง ที่มีภูมิปัญญามาแต่ดั้งเดิมในท้องถิ่น เมื่อนักเรียนมีใจ มีเป้าหมายเดียวกัน ครูจูนสร้างบรรยากาศการทำงานอย่างเป็นมิตร มีกระบวนการที่ทำให้เยาวชนได้ออกจากพื้นที่ปลอดภัยเดิมๆ กล้าหาญที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ครูจูนบอกว่า “ผมบอกเขาเสมอว่าทำผิดไม่เป็นไร แต่หนูต้องทำเพราะไม่อย่างนั้นมันจะเป็นสูญเปล่า ถ้าหนูทำมาได้ 20 ครูพร้อมปรับ พร้อมให้ความช่วยเหลือ ครูพร้อมสนับสนุน แต่ไม่สามารถเอากระดาษเปล่ามายื่นให้ครูทำให้ได้ เพราะมันไม่ใช่โครงการของครู เป้าเป็นเรื่องของเด็กที่อยากตั้งเป้าให้กับตัวเอง เรามีหน้าที่ทำให้เขาเข้าใจเป้านั้นมากกว่า” ครูจูนเปิดมุมมองกว้างให้เยาวชนเห็นว่าพวกเขามีเพื่อนและเครือข่าย การลงพื้นที่ 13 หมู่บ้านกันเองอาจจะยากเกินไปสำหรับ ทีมทั้ง 7 คน เมื่อพวกเขาเข้าใจจึงชวนเพื่อนๆ และสอนการใช้แบบสอบถามและการเก็บข้อมูล “เด็กนักเรียนมองไม่ออก ครูมองออก แต่ถ้าเด็กไม่ทำมา ครูมองออกก็ไม่เป็นประโยชน์ คือ ผมสอนเด็กกลุ่มนี้เสมอว่าถ้าหนูไม่ช่วยตัวเอง ต่อให้เทพเจ้าก็ไม่ช่วยหนู ครูก็ไม่ช่วย พยายามให้ครูเห็นก่อน แล้วครูถึงจะช่วย ผมสอนพวกเขาอยู่เสมอ ความพยายามเป็นเรื่องสำคัญ”
ครูจูนสรุปให้ฟังว่าใช้วิธีการและเครื่องมือหลักๆ กับทีม The Hemp “ผมใช้ 1.การตั้งคำถาม 2.คือฟังก่อน 3.คือต้องให้เขาเชื่อใจเราถ้าไม่เชื่อใจเราก็จบ 4.เขาต้องรู้สึกสบายใจ ถ้าไม่สบายใจความคิดไม่ออกผมชื่อเรื่อง creative จะทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างชื่นใจ” ครูจูนคิดว่าการทำวิจัยต้องสามารถยกระดับและสร้างมูลค่าได้ อนาคตอยากทำให้เกิดสินค้าที่ทำจากเยาวชนจำหน่ายที่ร้านค้าหน้าโรงเรียนโดยได้ประสานงานกับผู้ประการชุมชนไว้แล้ว
ครูจูนคิดว่าการเป็นครูและพี่เลี้ยงไม่เพียงการสร้างพลเมือง แต่เป็นการสร้าง พลโลก ที่จะเท่าทันโลกอนาคตที่ไร้พรมแดนมากขึ้นทั้งในแง่การเรียนรู้และการตลาด “ผมมาเป็นเพราะครูก็คือ World Citizen คุณเป็นพลโลก คุณต้องคิดต่อโลกใบนี้ คุณห้ามคิดว่าคุณเป็นแค่คนในพื้นที่นี้ คุณจะคิดได้กว้าง คุณไม่ใช่คนเกิดมาที่นี่ แล้วตายที่นี่อย่างเดียว” ครูจูนจึงเป็นมากกว่าครู มากกว่าพี่เลี้ยง แต่มุมมองการดำเนินชีวิตที่สร้างประโยชน์ ปฏิบัติต่อโลกอย่างเป็นมิตรและถ่อมตัวด้วยเชื่อว่า เราคือ พลโลก World Citizen
ความโดดเด่น
- มีระบบ ระเบียบ แบบแผน มุมมองกว้าง เป็นนักเรียนรู้และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วม พร้อมสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกช่วงเวลา
- รับฟัง เป็นมิตร สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ กล้าเรียนรู้และแสดงความคิดเห็น พร้อมยกระดับให้เด็กตื่นตัว เป็นนักสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจ
- มุมมองและวิสัยทัศน์กว้าง ชัดเจน มองการณ์ไกล เห็นคุณค่าต่องานที่ทำ