กัสมา หรนจันทร์
แกนนำเยาวชน active citizen จ.สตูล
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

โครงการสืบสานและสร้างการเรียนรู้ของเล่นพื้นบ้าน  บ้านโกตา ม.7 ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล


ชื่อเรื่อง ของเล่นเหนือกาลเวลาที่ “บ้านโกตา” กับ กัส - กัสมา หรนจันทร์

เยาวชนเด่น กัส - กัสมา หรนจันทร์


คุณยังจำของเล่นในวัยเด็กได้หรือไม่?

แล้วของเล่นในวัยเด็กของคุณคืออะไร?

เก็บคำตอบของคุณไว้ในใจ แล้วมาดูกันว่า ของเล่น ที่เราจะพาไปชวนคิด ชวนทำ ชวนเล่นในวันนี้ ตรงกับคำตอบที่อยู่ในใจของคุณหรือเปล่า เราจะพาไปที่ บ้านโกตา ม.7 ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล


กาลเวลา กลืนห้วงแห่งความสนุก

การเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้ผู้คนหันไปใช้เวลาบนหน้าจอมือถือมากขึ้น เกมออนไลน์กลายเป็นช่องทางของการรวมกลุ่ม (แบบเสมือนจริง) มีการนัดหมาย พบปะ รวมกลุ่มกันเล่นเกม ท่องโลกอินเทอร์เน็ต ไม่เฉพาะในชุมชนเมือง แม้แต่ในชุมชนชนบทที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง การวิ่งเล่นตามทุ่งกว้าง เล่นของเล่นในสนามเด็กเล่น หรือนั่งเล่นของเล่นที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เป็นเรื่องที่หาได้ยาก ของเล่นและการละเล่นบางอย่างได้สูญหายไป อันที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ กัส - กัสมา หรนจันทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนกำแพงวิทยา หนึ่งในแกนนำเยาวชน โครงการสืบสานและการเรียนรู้การทำของเล่นพื้นบ้านโกตา บอกว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เด็กรุ่นหลัง (อย่างเธอ) และรุ่นต่อไป จะไม่มีโอกาสได้เห็น ได้เล่น หรือแม้แต่ได้สัมผัสของเล่นพื้นบ้าน เพราะของเล่นตามภูมิปัญญาแต่เดิมนั้น ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ สติปัญญา ได้ไม่แพ้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์

สำหรับหมู่บ้านโกตา ไม่ต่างจากชุมชนอื่น ๆ ในประเทศไทย ที่ของเล่นท้องถิ่นคงสูญหายไปตามกาลเวลา หากไม่ได้เยาวชนในชุมชนเข้ามาสืบค้น ทดลองทำ ทดลองเล่น แล้วส่งต่อความสนุก จนทำให้ของเล่นพื้นบ้านกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“เขาก็ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรกัน ผู้ใหญ่บางคนเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไรพออธิบายเยอะๆ เขาก็บอกว่าไร้สาระ หนูไม่พูดมากค่ะ หนูลงมือทำให้เขาดูเองเลย พิสูจน์ให้เห็น ซึ่งเขาก็ได้เห็นจากงานมหกรรมการละเล่นโกตา”

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคทางทัศนคติที่เห็นต่างกลับเป็นแรงผลักดันให้เธอมีแรงฮึดทำโครงการต่อ กัส เล่าต่อว่า สถานการณ์ของเล่นในหมู่บ้านที่เริ่มสูญหาย ส่วนหนึ่งเพราะพฤติกรรมของนักเรียนและเยาวชนเองด้วย

“ตอนประถมเที่ยงๆ วิ่งไล่จับ ปิดตาซ้อนแอบ มอญซ้อนผ้าก็มีค่ะ แล้วก็เล่นผีเหรียญ ตอนนี้พักเที่ยงในโรงเรียนมัธยม หนูก็เล่นแต่โทรศัพท์ค่ะ การละเล่นต่างๆ แทบไม่มีแล้ว”

“เป้าหมายของโครงการ คือการทำของเล่นที่เราเห็นว่ากำลังหายไปจากชุมชน กลับมาแล้วก็เห็นเด็ก ๆ จากที่เล่นโทรศัพท์บ่อย ๆ ได้หันมารวมกลุ่มกันจริงๆ เพื่อเล่นของเล่นบ้าง เพราะสังเกตเห็นว่าเด็กไม่ค่อยมารวมตัวกันเหมือนเมื่อก่อน แต่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับตัวเอง เล่นเกม เล่นมือถือ กันอย่างเดียว” เธอกล่าวถึงเป้าหมายโครงการอย่างหนักแน่น

โครงการสืบสานและการเรียนรู้การทำของเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตา มีสมาชิกทั้งสิ้น 11 คน ในวัยใกล้เคียงกัน สมาชิกต่างเห็นพ้องกันว่าอยากรักษาและสืบสานการเล่นของเล่นพื้นบ้านให้เด็กในหมู่บ้าน ได้แบ่งเวลามามีส่วนร่วม ลดเวลาหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือ ที่อาจลดทอนศักยภาพ และการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กโดยไม่รู้ตัว กัส กล่าวว่า พวกเขาได้ลงพื้นที่สืบค้นข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชน ทำระเบียนประวัติของเล่นพื้นบ้าน วิธีการผลิต การหาแหล่งวัสดุ และวิธีการเล่น ของเล่นกว่า 27 ชนิด เป็นเล่มคู่มือ พร้อมทั้งประดิษฐ์ของเล่นจริง และจัดกิจกรรมชวนน้องๆ ในชุมชนมาเล่นและมาเรียนรู้การทำของเล่นร่วมกัน

“มีของเล่นประมาณ 27 ชนิด แต่เราไม่ต้องทำใหม่ทั้งหมด เพราะบางชนิดก็มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างที่เด่น ๆ คือ กระบอกฉับโผง ลูกสะบ้า กงจักร หมากขุม แล้วก็ลูกแก้ว อันไหนที่เราทำไม่เป็นก็จะลงพื้นที่ไปถามผู้รู้”

ยกตัวอย่างเช่น ฉับโผง เป็นไม้ไผ่ขนาดเล็ก บรรจุลูกพลา (ผลไม้ป่ามีลักษณะผลเป็นช่อคล้ายมะเขือพวงแต่ลูกเล็กกว่า) หรือใช้กระดาษทิชชู อัดเข้าไปในกระบอก มือข้างหนึ่งถือกระบอก มือข้างหนึ่งถือด้ามจับ สอดปลายด้ามจับกระทุ้งไปด้านหน้าแรงๆ ให้แรงอัดดันลูกพลาพุ่งออกไปนอกกระบอก ของเล่นชนิดนี้ใช้เล่นยิงกันแทนปืน หรือยิงเพื่อฝึกความแม่นยำและฝึกประสาทสัมผัสความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ


กระบวนการ ชุบชีวิต ของเล่น เหนือกาลเวลา

“หนูชอบเจอคนเยอะค่ะ เพราะอยู่คนเดียวชอบคิดฟุ้งซ่าน และชอบทำกิจกรรม เหมือนได้ละลายพฤติกรรมของตนเองด้วย มันทำให้เรากล้าหาญทำในสิ่งใหม่ๆ ตลอด ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์”

ด้วยนิสัยส่วนตัวของกัส ที่มีความคล่องแคล่ว พูดจาฉะฉาน มนุษยสัมพันธ์ดี การเข้ามาทำกิจกรรมในโครงการจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเธอ ส่วนโจทย์เรื่องของเล่นพื้นที่ที่กำลังหายไปเป็นสิ่งที่ทำให้กัส แม้ยังอยู่ในวัย 16 ปี ได้ย้อนรำลึกถึงความหลังเช่นกัน

“ตอนไปเรียนที่มัสยิดเสร็จแล้ว จะกระโดดยาง เล่นวิ่งไล่จับ แล้วก็กระต่ายขาเดียว แต่เดียวนี้ไม่มีแล้ว พอรวมกลุ่มได้ประมาณ 11 คน ก็เลยชวนกันทำโครงการ มีการประชุมทุกอาทิตย์ หลังจากประชุมเสร็จเราก็แบ่งงานไปสอบถามผู้รู้ในหมู่บ้านเกี่ยวกับเรื่องของเล่น แล้วนำข้อมูลมารวบรวม ว่ามีของเล่นกี่ชนิด มีอะไรที่ยังเล่นอยู่บ้าง และมีอะไรที่หายไปจากชุมชนแล้ว”

กระบวนการลงพื้นที่ของเยาวชนครอบคลุมตามหลัก 3 R ได้แก่ Research คือการรวมข้อมูล ลักษณะของเล่น วิธีเล่น ด้วยการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้ และค้นข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต และนำมา Review ทบทวนว่าของเล่นชิ้นดังกล่าวยังมีอยู่ในหมู่บ้านหรือไม่ ถ้ามีเปลี่ยนแปลงหรือถูกประยุกต์ไปเป็นอะไร หรือถ้าไม่มีสูญหายไปเพราะอะไร และสุดท้าย การใช้จริงกับเด็กและเยาวชน ให้น้อง ๆ ได้ทดลองเล่นของเล่น Re-conceptual แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงคุณสมบัติและประโยชน์ของของเล่น เช่น ของเล่นชนิดนี้มาจากแนวคิดอะไร เมื่อเล่นแล้วได้ประโยชน์ทางกายภาพ พัฒนาสมอง ความคิด และดีต่อพัฒนาการเด็กอย่างไร เป็นต้น

“พวกเราลงพื้นที่สอบถามผู้รู้ ให้ผู้รู้สอนก่อน แล้วมาทดลองทำเอง เล่นเอง หนูกับตาต้า (เพื่อนในทีม) จะแบ่งกันสัมภาษณ์ และจดโน้ต วางตัวแบบมีมารยาท เพราะปกติหนูเป็นคนโพงพาง เวลาไปเจอผู้รู้หนูจะเงียบๆ soft ลงมาหน่อย จากนั้นเราจะเอาข้อมูลมาประกอบกับการรวมข้อมูลในอินเทอร์เน็ตค่ะ”

“ผู้รู้ (บังดีน) จะบอกว่า ปัจจุบันมีของเล่นชิ้นนี้อยู่ไหม ถ้ามีเขาจะบอกว่าไปหาได้จากบ้านไหน หรือถ้าไม่มีเขาจะสอนทำ หลังจากนั้นเราทดลองเล่นแล้วสอนน้องๆ เล่น แล้วเราก็นำข้อมูลมาทบทวนกันว่า ของเล่นชนิดนี้มีอยู่หรือหายไป อย่างไร โดยการประชุมกับสมาชิกและพี่เลี้ยง ทุกวันศุกร์หรือเสาร์ เวียนกันไปทุกบ้านของสมาชิกกลุ่มค่ะ”

ของเล่นทุกชิ้นไม่ว่าจะมีอยู่แล้วหรือประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่กลุ่มเยาวชนแกนนำจะทดสอบลองเล่น และประดิษฐ์จริงก่อนเสมอ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับจากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้านมาถ่ายทอดสอนน้อง ๆ ในชุมชนได้อย่างถูกต้อง

“ลูกสะบ้าเล่นคล้ายๆ เบตอง มีลักษณะเป็นลูกแบนๆ มันจะขัดแล้วพันกัน มีแพ้ มีชนะ หนูรู้สึกว่ามันท้าทายดี ฝึกทักษะความแม่นยำ สนุกด้วยค่ะ ลูกสะบ้าที่นำมาทำของเล่น จะขึ้นแถวๆ บนเขา เดี๋ยวนี้หายาก เลยไม่มีคนทำของเล่น และไม่มีใครเล่น มีเยอะช่วงถือศีลอดของอิสลามค่ะ”

“ กงจักรค่ะ อันนี้หายไปแล้วไม่มีใครเล่นเลย เป็นการเอาฝาน้ำอัดลมมาทุบจนแบน เจาะรู 2 รูตรงกลาง แล้วก็เอาเชือกมาหมุน น่าจะเปลี่ยนแปลงจากกงจักรเป็นโยโย่ ในปัจจุบันค่ะ”

“หมากขุม ที่เป็นเรือแล้วเป็นหลุมๆแล้วก็ คล้ายๆลูกแก้ว แต่ออกเป็นสีเทาๆ เค้าก็จะใช่ลูกนั้นมีเค้าใช่ลูกแก้วแทนค่ะเพราะว่าลูกนั้นมันหายาก มันเมล็ดค่ะ แต่เมล็ดอะไรไม่รู้ “

“ลูกแก้ว ยังคงมีเด็กเล่นอยู่ แต่นาน ๆ ถึงจะเห็นดีดลูกแก้ว มันก็มีเป็นช่วง ๆ ส่วนใหญ่ เด็ก ๆ จะเล่นกันตอนปิดเทอมค่ะ ”


“กัส” แกนนำ

สำหรับกัส เด็กสาวตัวเล็กๆ หน้าที่หลักของเธอในโครงการ คือ ทำทุกอย่าง ทั้งลงพื้นที่เก็บข้อมูล รวบรวมจัดทำคู่มือของเล่น การเขียนบทภาพยนตร์สั้น ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อวิดีโอ สื่อสารให้คนในชุมชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ของเล่น ตลอดจนทำหน้าที่สำคัญ คือ การเป็นพิธีกร ในงานมหกรรมการละเล่นโกตา

“หนูชอบพูด แต่การเป็นพิธีกรต้องรอบครอบ การทำงานกับผู้ใหญ่สอนให้เราต้องทบทวนตัวเองนิดนึงค่ะ เราจะเป็นแบบเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเพื่อให้ผู้ใหญ่เชื่อมั่นเรา”

“หลังจากเก็บข้อมูล และได้ทดลองทำ ทดลองเล่นกันแล้ว เราจัดงานมหกรรมการละเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตา เป็นการฝึกให้น้อง ๆ ลองเล่นของที่หายาก แล้วให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านได้กลับมาเล่นของเล่นที่ไม่ได้เล่นมานาน เป็นงานใหญ่ แบ่งเป็น 2 ช่วงค่ะ มีช่วง เช้า เป็นช่วงเวลาของเด็ก ช่วงกลางคืนผู้ใหญ่มาร่วมกิจกรรม ให้เขามาโชว์เล่นของเล่น เพราะเด็ก ๆ ไม่เคยเห็น แล้วก็ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่รู้จักด้วย” กัส เล่าถึงบรรยากาศในวันงาน

ระหว่างทางดำเนินโครงการ กัส พบกับอุปสรรคมากมาย แต่การเรียนรู้ เพื่อแก้ไขทำให้ได้ประสบการณ์ไปปรับใช้ในชีวิตจริง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ต้องฝึกความอดทนและความยืดหยุ่นสูง

“เมื่อก่อนหนูเป็นคนระเบียบจัด คาดหวังให้ทุกคนเป็นแบบเรา แต่ปัจจุบันยืดหยุ่นขึ้นมาก สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เขาจะไม่ค่อยติดตามงานเท่าไหร่ ชอบมาสาย เราเองก็รู้สึกหัวเสีย เหวี่ยงๆ แก้ได้โดยการวางเฉย ตามบ้างเมื่อไหร่เขาพร้อมเขาจะมาเอง เราทำในส่วนของเรารอไปก่อนได้ค่ะ”

การไม่ตรงเวลาของสมาชิกบางคนในกลุ่ม เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ลดทอนกำลังใจของกัสในฐานะแกนนำ รวมถึงการไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่บางคน รุนแรงถึงกระทั่งดูถูกว่าโครงการจะลืมเหลวเพราะมีแต่คนไม่เอาไหน เธอยอมรับว่ามีท้อบ้างแต่ไม่ยอมถอยจนกว่าโครงการจะสำเร็จ

“บังปิ้ง (พี่เลี้ยง) เขามาบอกว่า ผู้ใหญ่บางคนดูถูกว่าเด็กพวกนี้ทำไม่ถึงจุดหมายหรอก เดี๋ยวก็เลิกล้มเป็นพวกเสเพลไม่ค่อยได้สนใจอะไร ขับรถตระเวนไปเรื่อยๆ ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มันมีท้อบ้าง เพราะว่าบางคนไม่ร่วมมือ บางคนก็มาสาย บางคนก็เฉยๆ พวกบังก็จะเครียดเรื่องนี้กัน แต่สุดท้ายเขาก็ทำสำเร็จ มีร้องไห้ไปแล้วหลายครั้งเหมือนกันกับโครงการนี้”

อย่างไรก็ตาม กัสย้ำว่าโครงการนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้มากมาย ได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ มีความรู้เกี่ยวกับของเล่นพื้นบ้านเพิ่มเติม ฝึกทักษะการเป็นผู้นำ มีความกล้าแสดงออก มีทักษะการจับประเด็น สัมภาษณ์ ทักษะการพูดในที่สาธารณะ และได้กระชับความสัมพันธ์กับเยาวชนคนอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น

“การพยายามยกระดับตัวเองขึ้นมา จากจุดที่เราไม่เคยทำอะไร ตอนนี้กล้าแสดงออก พูดรู้เรื่องขึ้นจากเมื่อก่อนพูดจาไม่รู้เรื่อง มันรู้สึกดี กับพวกพี่ๆ แกนนำที่ธรรมดาเราไม่ค่อยได้คุย ไม่ค่อยได้เจอกัน ขนาดเดินผ่านหน้ายังเฉยๆ พอทำโครงการก็รู้สึกว่ากระชับมิตรขึ้น เราสนิทกันมากขึ้น”

ความใฝ่ฝันของกัส เดิมอยากเป็นนักกฎหมาย และวิศวกร และมีอีกหนึ่งอาชีพที่อยากเป็นคือไกด์นำเที่ยว เพราะอยากมีโอกาสได้ออกไปถ่ายรูปตามที่ต่าๆ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้เรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นในโครงการนั่นเอง


วันพิสูจน์

งานมหกรรมการละเล่นพื้นบ้านโกตา คือวันพิสูจน์ว่าเยาวชนจะได้รับการยอมรับจากชุมชนหรือไม่ กัสเล่าว่าเป็นงานใหญ่ระดับตำบลที่ทั้งกดดันและภูมิใจ

“ก่อนจัดงาน เราประชาสัมพันธ์ รอบหมู่บ้าน ขี่รถพ่วงกันไป ประกาศออกไมค์ ประชาสัมพันธ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ประมาณ 2-3 รอบ ใช้รถพ่วงของพี่เลี้ยง ประกาศข้อความประมาณว่า เราจะมีการจัดมหกรรมการละเล่นพื้นบ้านโกตาเพื่อฟื้นฟูของเล่น มีการเลี้ยงน้ำชาและข้าวต้มตลอดงาน”

ภายในงานก่อนเข้าสู่พิธีการ มีการเปิดภาพยนตร์สั้นความยาว 20 นาที เรื่อง “ของเล่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ” นักแสดงเป็นลูกหลานคนในชุมชน ใช้เวลาถ่ายทำ 2 วัน ตัดต่อประมาณ 2 สัปดาห์โดยมีเนื้อหาสะท้อน ถึงวัยรุ่นในปัจจุบัน

“กลุ่มแรกเป็นวัยรุ่นเล่นเกม เล่นจนเบื่อเพราะมีแต่ด่านซ้ำๆ เดินมาเจอวัยรุ่นอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังเล่นของเล่นกันอยู่ เขาจึงคิดว่าเราน่าจะไปหาของเล่นแล้วไปเล่นกับกลุ่มที่สอง เพราะรู้สึกเบื่อกับการเล่นโทรศัพท์ทุกวัน อยากลุกออกไปหาอะไรใหม่ๆ ทำ สุดท้ายหนังจบตรงที่วัยรุ่นทั้ง 2 กลุ่มกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว กระโดดลงเล่นน้ำคลองด้วยกันอย่างมีความสุข” กัส เล่านั้นหาแบบรวบรัด

เมื่อถึงวันงานเยาวชนแบ่งกลุ่ม จัดเตรียมสถานที่ ฝ่ายเครื่องเสียง ฝ่ายจัดแสดงโชว์ปันจักสีลัต จากชุมชนบ้านทุ่ง ฝ่ายสวัสดิการอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งมีเด็ก ผู้ใหญ่ และคนในชุมชนมาร่วมงานอย่างคับคั่ง เกินความคาดหมาย กัสทำหน้าที่เป็นพิธีกร ด้วยความตื่นเต้น

งานเริ่มจากต้อนรับเด็กและเยาวชนเข้าร่วมงาน ทานชา และข้าวต้ม แลกเปลี่ยนทัศนคติกันอย่างอบอุ่น กระทั่งถึงช่วงสำคัญ เปิดภาพยนตร์สั้น และทันทีที่ภาพยนตร์จบลง ทุกคนปรบมือ พร้อมเสียงหัวเราะ วินาทีนั้นยังก้องอยู่ในใจของกัส

“เราเซอร์ไพส์มาก คิดว่าทัศนคติของผู้ใหญ่ที่มีต่อเราเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะว่าตอนฉายหนัง พอหนังจบเขาก็ปรบมือ พร้อมเสียงโห่ร้อง มีความสุขกันมาก ๆ ค่ะภายในงานเต็มไปด้วยรอยยิ้ม คิดว่าทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน จะอนุรักษ์สืบสานของเล่นบ้านโกตาต่อไปค่ะ”

ภาพที่เกิดขึ้นเรียกความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกกลุ่มเยาวชน จากที่ถูกมองข้าม ดูถูกและไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่ กลับกลายเป็นเยาวชนในชุมชนได้รับการยอมรับให้มีบทบาทในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนมากขึ้น

“ล่าสุดชุมชนจัดงานฟุตบอลการกุศล เขาก็ขอให้พวกหนูช่วยค่ะ ไปช่วยเป็นสตาฟเก็บภาพในงาน ชุมชนให้การตอบรับดีขึ้น เราลบคำดูถูก ด้วยการทำให้เห็นว่าเราเป็นเด็กเราก็ทำได้ เราทำงานใหญ่ได้ดีและสำเร็จด้วย แต่ถ้าไม่มีโครงการนี้ เขาก็ไม่ได้เห็นมุมนี้ เพราะเขาไม่เห็นคุณค่าในตัวเรา”

ของเล่นพื้นบ้าน เป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง จากการหยิบหาวัสดุใกล้ตัวมาประดิษฐ์ ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อ กระตุ้นเซลล์สมองของเด็กให้แผ่ขยายได้อย่างเต็มที่ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้และจดจำ กระตุ้นพัฒนาเด็กทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ และสำหรับเด็กโต การได้ละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ช่วยให้พวกเขามองเห็นสิ่งรอบตัวและคนรอบข้างได้ชัดขึ้น นี่คือสิ่งที่กลุ่มเยาวชนแกนนำโครงการสืบสานและสร้างการเรียนรู้ของเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตา ฝากไว้ให้กับชุมชนของพวกเขา

////////////////////////