ธีรภัทร นิมิสวิง
แกนนำเยาวชน active citizen จ.สตูล
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

เยาวชนเด่น โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศของกุ้งเคย ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล


ชื่อเรื่อง บิ๊กเอ็มกับภารกิจสร้างบ้านกุ้งเคยตัวจิ๊ด ต้นทางกะปิรสเยี่ยมบ้านขอนคลาน


“ผมรู้สึกว่าเสียดายเมื่อรู้ว่าเมื่อก่อนทรัพยากรทางทะเลแถบนี้ เคยอุดมสมบูรณ์แต่ตอนนี้ ไม่ค่อยเหมือนแต่ก่อนแล้ว” บิ๊กเอ็ม - ธีรภัทร นิมิสวิง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนท่าศิลาบำรุงราษฎร์ อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เอ่ยขึ้น

ในอดีตพื้นที่ชายฝั่งตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก แม้มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านบ้านขอนคลานอย่างเข้มแข็ง เพื่อตรวจตราดูแลการทำประมงผิดกฎหมายตามแนวชายฝั่งทะเลมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี แต่ก็เกินต้านทานความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอกรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) หรือผลกระทบโดยตรงจากพฤติกรรมมนุษย์

ขอนคลานเคยเป็นแหล่งจับกุ้งเคยที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอทุ่งหว้า แต่ปัจจุบันจำนวนกุ้งเคยที่เคยนำมาใช้ทำกะปิลดจำนวนลงไปมาก ตั้งแต่การทำบ่อกุ้งเชิงพาณิชย์ได้รับความนิยมในชุมชนอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ทำให้มีการปล่อยน้ำเน่าเสียที่มีสารเคมีตกค้างลงสู่ทะเล แน่นอนว่ามลพิษเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งโดยตรง

กะปิเป็นวัตถุดิบสำคัญประจำครัวใต้ เป็นส่วนผสมที่ช่วยชูรสเมนูอาหารใต้หลากหลายเมนู กะปิที่ดีเมื่อตำน้ำพริกออกมารสชาติจะกลมกล่อม หอมหวน อีกทั้งยังเป็นเคล็ดไม่ลับในการทำเครื่องแกงใต้รสชาติเด็ด เมื่อทรัพยากรในพื้นที่ไม่เพียงพอ คนในชุมชนจึงจำเป็นต้องหาช่องทางซื้อกุ้งเคยจากพื้นที่อื่น บางครั้งไม่รู้ที่มาที่ไปทำให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษตกค้างปนเปื้อนอยู่ในวัตถุดิบ


การหายไปของสิ่งเล็กๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก

เยาวชนบ้านขอนคลานเล็งเห็นถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงร่วมกันหาแนวทางในการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศของกุ้งเคย จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังในการช่วยเพิ่มปริมาณกุ้งเคยตัวจิ๊ดบริเวณรอบๆ แนวป่าชายเลนบ้านขอนคลาน ช่วยรักษาทั้งธรรมชาติ เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และทำให้อาชีพการแปรรูปกะปิของคนบ้านขอนคลานที่ต้องใช้เคยเป็นวัตถุดิบ ยังคงอยู่กับชุมชน

บิ๊กเอ็ม บอกว่า เขาตกลงใจมาทำโครงการเพราะอยากหาประสบการณ์ เขาไม่ชอบเล่นเกมเพราะขี้เบื่อ แต่ชอบพูดคุยเฮฮากับเพื่อน เรื่องที่สนุกที่สุดในการทำโครงการ คือ การได้พบปะเพื่อนฝูงและได้เจอเพื่อนใหม่ เขาอยากเจอเพื่อนเยอะๆ เพราะอยากเป็นที่จดจำ น่าจะเป็นเพราะความมั่นใจและความกล้า เพื่อนๆ จึงตกลงใจเลือกเขาเป็นประธานกลุ่ม

“ผมกล้านำคนอื่น ไม่กลัวโดนด่าถ้าเกิดทำพลาด ถ้าเกิดผมไม่กล้าไม่ทำตัวเด่น อยู่เงียบๆ ก็ไม่มีคนจำได้ แต่ถ้าทำตัวเด่นคนก็จะจำได้ ถ้าเลือกได้ ผมคงเลือกให้คนอื่นจำเราในทางที่ดี แต่เราบังคับใครไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่เขาว่าจะจำเราแบบไหน”

บิ๊กเอ็ม เล่าถึง ภารกิจของกลุ่มแกนนำเยาวชนที่มีกันราว 16 คน ว่า พวกเขาวางแผนการทำงาน เริ่มจากการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตกุ้งเคยและระบบนิเวศชายฝั่งบ้านขอนคลาน ทั้งจากอินเทอร์เน็ตและจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ที่ประกอบอาชีพประมงในชุมชน ได้แก่ แม่มณี มอฮิยะ ทำอาชีพประมง และลุงสมชัย โสสนุย เป็นคนทำอุปกรณ์หากุ้งเคย ทั้งสองคนเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่รู้วิธีการจับกุ้งเคยโดยใช้ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม กล่าวคือ จับเพื่อนำมาบริโภคด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ ขณะเดียวกันก็รู้วิธีดูแลรักษาฟื้นฟูระบบนิเวศน์เพื่ออนุรักษ์กุ้งเคยไม่ให้สูญหายไป

การเก็บข้อมูล แบ่งทีมงานออกเป็น 2 กลุ่ม ผู้ชายเป็นทีมสัมภาษณ์ และผู้หญิงเป็นทีมหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลทั้ง 2 แหล่งมาเทียบเคียงกัน บิ๊กเอ็ม บอกว่า “กุ้งเคย” มีความสำคัญมากในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศทะเล เนื่องจากเป็นอาหารของสัตว์ทะเลหลายชนิด ลักษณะทั่วไปมีเปลือกบางและนิ่ม มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มริมตลิ่งที่มีน้ำลึกระดับประมาณหน้าแข้งถึงระดับอก และเป็นบริเวณที่มีน้ำนิ่งและใส ตามบริเวณรากไม้ในป่าชายเลน ที่มีต้นโกงกาง แสม และลำพู โดยจะใช้ชีวิตอยู่บริเวณผิวน้ำไม่จมลงไปในน้ำ หากน้ำเคลื่อนไหวกุ้งเคยจะไม่สามารถจับกลุ่มรวมกันได้

วงจรชีวิตของเคยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7 เดือน ตัวโตเต็มวัยยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร แต่หากอยู่ในแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ปราศจากการรบกวนพบยาวสูงสุดได้ถึง 2.5 เซนติเมตร ชาวบ้านมักออกช้อนตัวเคยกันในเวลาเช้า และสามารถช้อนได้ทุกวันเพราะมีอยู่มากทุกฤดูกาล


‘ซั้ง’ แหล่งพักพิงของสัตว์ทะเลตัวน้อย

นอกจากข้อมูลที่รวบรวมได้ กลุ่มแกนนำเยาวชนยังได้ลงมาเรียนรู้การทำอุปกรณ์จับกุ้งเคยและเครื่องมืออนุรักษ์สัตว์น้ำขนาดเล็กในทะเลที่เรียกว่า “ซั้ง” ร่วมกับผู้รู้

“เราได้สอบถามผู้รู้ด้วยว่าใช้อุปกรณ์อะไรบ้างในการจับ และให้เขาสอนวิธีการทำอุปกรณ์ การจับใช้ไม้กับอวนครับ เอาไม้มาไขว้กัน แล้วมีอวนปิดเอาไว้ ดุน (ไถ) ไปเรื่อยๆ แล้วก็ยกขึ้น ถ้าจับถูกตำแหน่งก็จะมีเคยอยู่ด้านใน”

“ซั้ง” หรือปะการังเทียมพื้นบ้าน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่อดีต ทำหน้าที่เป็นเหมือนบ้านปลาและบ้านของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก รวมถึงกุ้งเคย เพื่อให้สัตว์น้ำขนาดเล็กมาอาศัยอยู่รวมกัน เป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนคล้ายปะการัง ยิ่งมีที่หลบภัยมากขึ้น โอกาสเจริญเติบโตของสัตว์น้ำขนาดเล็กยิ่งมีมากขึ้น นั่นหมายถึง โอกาสของการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำน้อยใหญ่ในท้องทะเล โดยทั่วไปแล้ว ซั้งถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุธรรมชาติ ที่สามารถย่อยสลายในน้ำได้ เช่น ไม้ไผ่ ต้นปาล์ม กิ่งไม้

นอกจากประโยชน์ทางตรงที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กแล้ว ประโยชน์ทางอ้อมของซั้งยังป้องกันการทำการประมงของเรือขนาดใหญ่ เช่น เรืออวนลาก มาทำการประมงในเขตหวงห้ามได้ด้วย

บิ๊กเอ็ม อธิบายว่า ชาวประมงบ้านขอนคลานมักใช้วัสดุต่างๆ เช่น ทางมะพร้าวมาผูกมัดรวมกันและถ่วงด้วยก้อนหินหย่อนลงไปในน้ำ หรือผูกมัดกับโขดหินใต้น้ำเพื่อไม่ให้ลอยออกไปจากจุดที่ต้องการ ส่วนด้านบนจะผูกติดไว้กับทุ่น กลุ่มแกนนำเยาวชนได้ช่วยกันทำซั้งประมาณ 20 ชิ้น แล้วนำไปหย่อนไว้ตรงบริเวณที่ผู้รู้บอกว่าเป็นแหล่งชุมนุมของกุ้งเคย

จากประสบการณ์ของผู้รู้ พบว่า ซั้งสามารถใช้งานได้ 2-3 เดือน แต่ก็ไม่สามารถต้านทานแรงพายุได้ บิ๊กเอ็ม บอกว่า ซั้งที่พวกเขาวางไว้ตอนนี้ก็หายไปกับพายุแล้ว

“เวลาเอาซั้งไปวาง เราต้องปรับให้เป็นสามเหลี่ยม เป็นซุ้มแล้วเอาใบมะพร้าวมาคลุมไว้ เป็นที่บังแดดเล็กๆ ให้สัตว์เล็กเข้ามาได้ครับ เพราะกุ้งเคยมันตัวเล็ก”

บิ๊กเอ็ม เล่าว่า การลงเรือไปสำรวจป่าชายเลน รวมถึงออกไปจับเคยและวางซั้งในแต่ละครั้ง พวกเขามีพี่เลี้ยงไปด้วย บางครั้งขอความร่วมมือจากผู้ปกครองของเยาวชนในกลุ่ม หรือคนในชุมชนที่มีเวลาว่างขับเรือพาพวกเขาไปขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน

“เสร็จแล้วพวกเราก็เลี้ยงข้าวเขาเป็นการตอบแทน” บิ๊กเอ็ม เล่า


ใช้ความสนุกขับเคลื่อนการทำงาน

“เราต้องทำงานด้วยความสนุก ให้เพื่อนได้ออกความคิดเห็นร่วมกัน เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว ไม่เอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นหลัก ตัวผมเองก็ไม่ได้เป็นคนขรึมๆ อยู่แล้ว ผมชอบให้เพื่อนสนุกด้วย เพราะถ้าไม่สนุกก็ไม่อยากทำครับ ผมไม่ได้เป็นคนหัวร้อน ถ้ามีเรื่องไหนคิดไม่ตรงกัน ผมก็รับฟัง”

บิ๊กเอ็ม เล่าว่า การทำงานร่วมกับกลุ่มเพื่อนไม่มีความขัดแย้ง อุปสรรคส่วนใหญ่เป็นเรื่องความไม่ตรงต่อเวลาซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำให้เขาแปลกใจ เพราะเพื่อนส่วนใหญ่ติดเกม แล้วยังอยู่ในวัยที่ไม่เคยต้องรับผิดชอบงานเป็นจริงเป็นจัง จึงอาจไม่ให้ความสำคัญกับการนัดหมายเท่าที่ควร

“ผมก็บอกให้เขาเล่นเป็นเวลา ตอนทำโครงการก็ทำ เสร็จก็ค่อยเล่นกัน เพราะตัวเขาเองก็อยากมาทำโครงการ ผมไม่ได้ไปบังคับ เพื่อนๆ ก็ให้ความร่วมมืออยู่ครับ”

ส่วนการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกเช่นกัน แม้ว่าพี่เลี้ยงโครงการนี้เป็นกลุ่มแม่บ้านผู้หญิงที่มีกันอยู่ถึง 7 คนเป็นทั้งญาติผู้ใหญ่ของตัวเอง และเป็นผู้ปกครองของเพื่อนในทีม

“โครงการของพวกเราให้เด็กคิดกันเป็นหลักก่อนครับ แล้วผู้ใหญ่ก็ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาเพื่อให้เด็กใช้ความคิดของตัวเอง ถ้าเด็กไม่เข้าใจตรงไหนก็ให้ถาม ไม่เครียดครับ ไม่ต้องทำตามผู้ใหญ่บอกก็ได้ ไม่ต้องคาดหวังมากก็ไม่มีความคาดหวังเยอะ ”

“ตื่นเต้นดีครับได้ร่วมงานกับผู้ใหญ่ รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นผู้ใหญ่ ได้ฝึกฝนตัวเองไปด้วย ผมไม่มีปัญหาเวลาทำงานกับผู้ใหญ่ สบายๆ ความคิดของผมก็เหมือนผู้ใหญ่อยู่แล้ว เขาบอกให้ทำอะไร ถ้าผมทำได้ผมก็ทำครับ ถ้าทำไม่ได้ก็พยายาม”

ในฐานะเด็กเยาวชนคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อตัวเขาเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บิ๊กเอ็ม บอกว่า เขาไม่เคยคิดโทษใคร และไม่คิดว่าเป็นเรื่องยากเกินไปที่จะลงมือแก้ปัญหา

ถ้าเรียนในเรื่องที่เราทำอยู่แล้วมันก็เป็นเรื่องง่ายครับ แต่โครงการนี้เราลงมือทำในสิ่งที่ไม่มีอยู่ในห้องเรียน ผมอยากทำด้วยตัวเองอยู่แล้ว ถ้ามีโอกาสก็จะทำ เพราะที่นี่เป็นบ้านเรา ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเราต้องทำอยู่แล้ว”

“ผมพอใจกับโครงการ ในซั้งมีสัตว์น้ำตัวเล็กชนิดอื่นเข้ามาหลบเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย ไม่เฉพาะกุ้งเคย คนในชุมชนสนใจสิ่งที่พวกเราทำ เด็กเยาวชนเพื่อนๆ กันก็สนใจมาถาม หรือถ้าเขาไม่ถามเราเขาก็ถามพ่อแม่ พอพ่อแม่อธิบายให้ฟังเด็กๆ ก็จะได้รู้ข้อมูลด้วย”

“ผมมั่นใจแต่แรกว่าผมทำได้ แต่พอทำได้จริงๆ ก็ภูมิใจดีครับ ที่เราได้เรียนรู้และลงมือทำด้วยตัวเอง ตอนนี้ทำอุปกรณ์ประมงได้ ทำซั้งเป็นและสอนคนอื่นได้ เรายังเด็กอยู่แต่ก็ทำได้ ผมว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งเลยที่สามารถนำเพื่อนทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ ถ้าให้คะแนนความตั้งใจของทีมงานทุกคน ผมให้เต็มสิบเลย เพราะพวกเราได้ทำตามที่ตั้งใจ ไม่ท้อไม่ยอมแพ้ ตั้งใจทำมาตลอด ส่วนพัฒนาการในตัวเองที่เห็นชัดเจน คือ กล้าพูดมากขึ้นครับ พอไปเข้าร่วมโครงการกับกลุ่มอื่นๆ ได้เข้าสังคมมากขึ้น เพื่อนก็รู้จักเรามากขึ้นด้วย ถ้าไม่ได้ทำโครงการคงไม่มีเพื่อนเยอะขนาดนี้ ผมมีเพื่อนสนิทจากโครงการนี้ มีเพื่อนเพิ่มขึ้นจากโครงการนี้”

ความรู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้บิ๊กเอ็มพร้อมลงมือทำสิ่งที่พอทำได้ตามศักยภาพของตัวเอง เพื่อปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรเหล่านั้น โดยไม่มองว่าเป็นภาระหรือเป็นเรื่องเหล่าบ่ากว่า แรงดูเหมือนว่าภารกิจสร้างบ้านให้กุ้งเคยตัวเล็กๆ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนภายในใจให้คนรุ่นใหม่อย่างบิ๊กเอ็มอยู่ไม่น้อย

/////////////////////