ศุภชัย หนูแก่นเพชร
พี่เลี้ยงพัฒนาเยาวชน active citizen จ.สตูล
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

พี่เลี้ยงเด่น โครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหมู่ที่ 7  ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล


ชื่อเรื่อง “ตามขั้นตอน ไม่ยึดติดวิธีการ ทำงานให้สำเร็จ” กุญแจการเรียนรู้ของ ครูชัย - ศุภชัย หนูแก่นเพชร



“ยากไหมน้อง?”

เป็นคำถามที่ ครูชัย - ศุภชัย หนูแก่นเพชร ครูสอนวิชาพละศึกษา ลูกเสือ และเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนอนุบาลมะนัง เอ่ยถาม พิเชษฐ์ เบญจมาศ หรือ บังเชษฐ์ ผู้ประสานงานโครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล หรือ Satun Active Citizen เมื่อถูกชักชวนให้เข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงโครงการ

“ไม่ยากพี่ คล้ายๆ กับโครงงานฐานวิจัยที่โรงเรียนพี่ทำอยู่” เป็นคำตอบที่ครูชัยได้รับจากบังเชษฐ์

โรงเรียนอนุบาลมะนัง ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล เป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล ที่ปรับการเรียนการสอนมาใช้ “โครงงานฐานวิจัย” สร้างกระบวนการเรียนรู้จากโจทย์ที่นักเรียนสนใจ ลงมือทำผ่านประสบการณ์ (Project Based Learning: PBL) เป็นการเรียนแบบบูรณาการสาระวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน

ครูชัย เล่าว่า โครงงานฐานวิจัยเป็นนโยบายของโรงเรียน เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนอนุมัติให้สามารถทำโครงการ Active Citizen ควบคู่กันไปได้ แกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจึงไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งครูชัยเป็นที่ปรึกษา

“โครงงานฐานวิจัยที่ ผอ.ยงยุทธ ยืนยง นำเข้ามาไม่ได้เน้นเรื่องของผลลัพธ์

แต่เน้นเรื่องกระบวนการและวิธีการที่ทำให้เด็กได้มาซึ่งการค้นคว้า หาความรู้ ส่วนโครงการ

Active Citizen มีส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม แล้วพัฒนางานไปจนสำเร็จ

ตอนโรงเรียนเปลี่ยนหลักสูตรมาเป็นโครงงานฐานวิจัยแรกๆ ผมพูดกับ ผอ.ตรงๆ ว่า ผมทำไม่เป็นนะ ถ้าจะให้ผมสอน ผอ. อย่ารำคาญผมนะ เพราะสิ่งไหนที่ผมไม่รู้เรื่อง ผมจะถาม ท่านตอบกลับมาว่า โอเคได้ ผมสอนไปก็เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เอาโจทย์ หัวข้อ ลำดับขั้นตอนที่ ผอ. ให้มา มาวางแผน ลองผิดลองถูก”


ใหม่ ง่าย และทำได้จริง

การเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิจัย เปิดโอกาสให้นักเรียนคิดโจทย์เพื่อทำในสิ่งที่ “นักเรียนสนใจและอยากทำ” ไม่จำกัดอยู่แค่การเรียนรู้ในห้องเรียนหรือจากการอ่านตำรา เมื่อนำมาผนวกเข้ากับโครงการ Active Citizen ที่เชื่อมโยงกับปัญหาหรือสิ่งที่น่าสนใจในชุมชน ก็ยิ่งช่วยส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ในพื้นที่

“ผมงมอยู่ตรงขั้นตอนการสรุปประเด็นเพื่อหาโจทย์ทำโครงการอยู่นานถึง 5 วัน รวม 15 ชั่วโมง ก็เลยโทรหาบังเชษฐ์ว่า มาช่วยพี่หน่อย” ครูชัย เล่าถึงความท้าทายของการตั้งโจทย์โครงการ

“หลักมีสามข้อ หนึ่งเป็นเรื่องใหม่ สองเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการทำ และสามเป็นเรื่องที่ทำได้จริง” บังเชษฐ์ ตอบมาด้วยประโยคสั้นๆ แต่ได้ใจความ

เมื่อได้ยินดังนั้น ครูชัยจึงพานักเรียนลงพื้นที่สำรวจปัญหาและสิ่งที่มีในชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนักเรียนว่า พวกเขาสนใจและอยากทำโครงการเรื่องอะไร

“ประเด็นที่ได้จากการลงเก็บข้อมูลมีสามเรื่อง คือ หนึ่ง น้ำประปาสีชาเย็น สอง น้ำใต้ดิน และ สาม สวนป่าในชุมชน จากนั้นผมนำเด็กๆ ลงพื้นที่ 3 จุดจากประเด็นที่เขาเลือกอีกครั้ง เริ่มจากน้ำประปาสีชาเย็น เจอปัญหาเยอะมาก เช่น ป่าถูกทำลาย ไปเจอมูลช้าง ไปเจอการเลื่อยไม้ เจอดินสไลด์ การฉีดหญ้าในสวนยาง เจอการบุกรุกป่า เป็นต้น ส่วนที่สอง คือ น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล ไม่ใช่การเจาะแต่เป็นการขุดบ่อของคนโบราณลึกประมาณ 15 เมตร พอเข้าไปดูแล้วไม่น่าสนใจเพราะฐานข้อมูลเดิมไม่มีแล้ว จึงไปดูส่วนที่สาม คือ สวนป่าในชุมชน มีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ แต่ถูกบุกรุกเหลือ 4 ไร่ ส่วนที่เหลืออยู่เป็นป่าธรรมชาติที่รกร้างและเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น บริเวณรอบๆ มีขยะเกลื่อนกลาด เช่น ขวดแก้ว พลาสติก แม้กระทั่งถุงยางอนามัย”

“ประเด็นอะไรที่น่าสนใจ โดยใช้หลักสามข้อของลุงเชษฐ์” ครูชัยถามนักเรียนหลังได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยตัวเอง

“สวนป่า!! เอาอันนี้แหละครู มันง่ายกว่าและอยู่กลางชุมชน” เป็นคำตอบสุดท้ายที่นักเรียนเลือก กลายมาเป็นโจทย์ตั้งต้นของ โครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหมู่ที่ 7 ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสวนป่าทิ้งร้างร่วมกับผู้นำชุมชนและคนในชุมชน จัดสรรพื้นที่สวนป่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพันธุ์ไม้และพืชสมุนไพร เป็นสถานที่พักผ่อนที่ปราศจากการมั่วสุมของวัยรุ่น แต่เป็นสถานที่ที่คนในชุมชนช่วยกันรักษาเพื่อป้องกันการบุกรุกผืนป่าในอนาคต

“ที่นักเรียนไม่เลือกน้ำประปาสีชาเย็น ด้วยเหตุผลเดียวคือชุมชนตรงนั้นไม่ให้ความร่วมมือและยังมีอิทธิพลในพื้นที่มาเกี่ยวข้อง จึงคิดว่าไม่ปลอดภัยกับคนที่มาลงมือทำโครงการ” ครูชัย กล่าวเสริม


การเรียนที่ทำให้ “ความแตกต่าง” ของเด็ก มีตัวตน

การเรียนการสอนรูปแบบเดิมในห้องเรียนที่ครูเป็น “ผู้ป้อนความรู้” และ การเรียนการสอนแบบโครงงานฐานวิจัยที่มาเชื่อมโยงกับโครงการ Active Citizen ซึ่งครูมีบทบาทเป็น “ผู้แนะนำ” ผ่านการตั้งคำถามให้นักเรียนคิด ทั้งสองแนวทางมีจุดแข็งและจุดอ่อนแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากนำพื้นฐานความพร้อมของนักเรียนในแต่ละพื้นที่มาพิจารณาร่วมด้วย ครูชัย บอกว่า การออกแบบการเรียนการสอนไม่ว่าในรูปแบบใดต้องคำนึงถึง “พื้นฐานของนักเรียน” เพราะทุกคนแตกต่างกัน ครูไม่สามารถใช้ตัวชี้วัดเดียวเป็นมาตรฐานประเมินเด็กทุกคน แต่ครูต้องรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของเด็กแต่ละคน

“ผมคิดเปรียบเทียบระหว่างการเรียนในสภาพปกติกับการเรียนในการทำโครงงานฐานวิจัย ถามว่ามันดีไหม มันดีทั้งคู่ แต่ก็มีจุดแข็งจุดด้อยอยู่ เช่น ในการสอนสาระตามหลักสูตรโดยปกติแล้ว เด็กความคิดสร้างสรรค์ไม่เกิดและความกล้าไม่เกิด แต่เด็กจะได้ความรู้เพราะเราบังคับให้เขาเรียน เมื่อเข้าร่วมโครงการ สิ่งที่ได้มากที่สุดคือระเบียบวินัยและการรับผิดชอบ ถ้าไม่มีสองตัวนี้ เมื่อให้เด็กไปค้นคว้าแล้วไม่ทำ คุณก็จะไม่ได้อะไรเลย เด็กบางคนไม่มีความกระตือรือร้น เช่น เวลาให้ไปหาข้อมูล บางทีก็ไม่ได้ข้อมูลมา ทุกครั้งที่เรียนถ้าครูไม่ถอดองค์ความรู้ในแต่ละชั่วโมง เด็กก็จะไม่ได้อะไรเนื่องจากยังขมวดข้อมูลไม่เป็น ดังนั้นเราต้องช่วยเขา

“ในจำนวนเด็ก 22 คนที่ผมสอนอยู่ เมื่อจบโครงการเด็กที่รู้เรื่อง เข้าใจและนำไปถ่ายทอดให้คนอื่นได้มีแค่ 7 คนเท่านั้นเอง ความแตกต่างในตัวเด็กมีอยู่แล้ว เด็กบางคนที่เรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง แต่พอไปลงพื้นที่ภาคปฏิบัติที่ต้องใช้ทักษะพื้นฐานเขาทำได้ดี ทั้งที่ผมไม่ได้สอน เช่น การทำป้ายชื่อต้นไม้ การใช้เครื่องมือขัดไม้เพื่อตกแต่งป้าย เคลือบป้าย เขานำทักษะเอาออกมาใช้ได้เลย แต่ในขณะที่เด็กบางคนก็ทำไม่เป็น ด้วยความที่เราเป็นโคชกีฬามาก่อน ผมจะดูว่าคนไหนเก่งอะไร จุดเด่นจุดด้อยคืออะไรแล้วใช้คนให้ถูกกับงาน เด็กไม่ได้เก่งเหมือนกันทุกคน คนที่เก่งที่สุดก็ไม่ได้เป็นทุกเรื่อง แต่การใช้ให้ถูกกับงานเป็นเรื่องที่สำคัญ ผลที่ตามมาคือความภาคภูมิใจและความสำเร็จ เด็กจะสนุก”


ผลลัพธ์ความสำเร็จที่ค่อยๆ เติมจากศูนย์จนถึงร้อย

“เดี๋ยวเราไปสำรวจลงพื้นที่กัน วันนี้ต้องได้จำนวนต้นไม้ในพื้นที่ ต่อปริมาณพื้นที่ว่าต้องใช้กี่ต้น”

“วันนี้เราจะไปเช็คดูกันว่าพื้นที่ตรงนั้นน่าจะมีต้นไม้สักกี่ต้น ดูซิว่าอัตราเฉลี่ยต้นไม้ต่อพื้นที่นั้นมีมากพอไหม เราควรซ่อมแซมเพิ่มเติมไหม”

สำหรับผู้อ่าน...เราเห็นความแตกต่างอะไรจากประโยคทั้งสองชุดข้างต้น?

ครูชัยเล่าถึงบุคลิกของตัวเองว่าเป็นคนโผงผาง ตรงไปตรงมา การเป็นครูพละศึกษา เป็นโคชทีมวอลเลย์บอลโรงเรียน เป็นคณะทำงานการกีฬาจังหวัด และบทบาทการเป็นคณะกรรมลูกเสือจังหวัด ทำให้คุ้นชินกับการใช้คำสั่งและรับคำสั่ง แต่เมื่อเปลี่ยนจากการใช้ “คำสั่ง” บอกให้นักเรียนทำ มาเป็นการตั้ง “คำถาม” ให้นักเรียนคิดเพื่อค้นหาคำตอบ นักเรียนกลับรู้สึกสนุกและมีความคิดสร้างสรรค์ในการเรียนมากขึ้น

ครูชัย ย้ำว่า ภาษา น้ำเสียงและจังหวะการพูดที่ครูใช้ในการสื่อสารกับนักเรียน มีผลอย่างชัดเจนต่อการตอบรับเพื่อนำไปปฏิบัติ และความรู้สึกต่อการเรียนรู้ในแต่ละครั้ง

“คำพูดอาจใกล้เคียงกัน แต่อารมณ์ในการพูดก็มีผล ถามว่าเป้าหมายเปลี่ยนไหม ไม่ได้เปลี่ยนเลย แค่การใช้คำ เน้นคำและน้ำเสียง ที่เข้าไปมีผลกับเด็กค่อนข้างมาก เดิมทีผมเป็นคนตรงๆ ห้าวๆ ถามว่ามีผลกับเด็กไหม ตอบเลยว่ามีผลมากในแง่ลบมากกว่าบวก เด็กกล้าทำแบบเต็มใจหรือถูกบังคับคนละเรื่องกันนะเมื่อลงมือปฏิบัติ ถ้าเด็กถูกบังคับ เช่นครูสั่งไปหนึ่งก็จะได้หนึ่ง ไม่เคยได้สองกลับมาแต่ถ้าตรงนี้เขามีใจอยากทำ สั่งไปหนึ่งก็ได้กลับมาโดยไม่ต้องบอก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมปรับ คือ การควบคุมตัวเอง”

ครูชัย ขยายภาพให้เห็นวิธีคิดในการทำงานกับเด็ก โดยเฉพาะกับการตั้งโจทย์เรียนรู้นอกห้องเรียนว่า

“ครูอยากให้เด็กมีความตั้งใจเต็มร้อย แต่การได้มาซึ่งความตั้งใจเต็มร้อยต้องใช้วิธีการแตกต่างกัน เด็กต้องไปลงมือทำไหม คำตอบคือ เด็กต้องไปทำ แต่ทำด้วยความเต็มใจกับถูกบังคับ ครูต้องเลือกวิธีการ สำคัญที่สุดคือ ในจังหวะที่ต้องใช้คำพูด คำพูดที่เป็นการสั่งเด็กไม่ชอบ เด็กชอบในลักษณะของความสนุก เช่น โอเคนะ วันนี้เราไปทำกิจกรรมนี้กัน ร่วมด้วยช่วยกัน ครูพาเด็กไปให้ถึงเป้าหมาย โดยที่เป้าหมายแต่ละครั้งเราไม่ตีวงใหญ่ ตั้งเป้าหมายเล็กๆ เป็นครั้งๆ ไป แล้วผลลัพธ์ที่ได้ในแต่ละครั้ง ไม่เต็มร้อยก็ไม่เป็นไร ผู้สอนต้องทำใจในส่วนนี้ให้ได้ จากนั้นเราค่อยเพิ่มจำนวนครั้งการลงพื้นที่เข้าไป เราไม่ได้ถูกล็อคด้วยเวลาถ้าเรามีเป้าหมาย ถ้าวันนี้ได้แค่สามสิบเปอร์เซ็นต์ไม่เป็นไร วันหลังเราค่อยไปอีกและเพิ่มไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราไปคาดหวังว่าวันนี้ต้องเป๊ะๆ ผลที่ตามมาคือเด็กเครียด”

“ครูคือแบ็คที่อยู่ข้างหลัง ต้องมองภาพออกว่าจะให้เกิดผลลัพธ์อย่างไรในอนาคต แล้วจะเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร จุดจบหรือปลายทางการเรียนรู้คืออะไร เราต้องวาดฝันให้ออก ถ้าวาดฝันไม่ออกคุณจะกำหนดทิศทางไม่ได้ มันอาจจะไปตามกระบวนการและขั้นตอนแต่ก็ขาดจินตนาการ ถ้าเราไม่วาดภาพ ไม่จินตนาการการทำงานจะยากขึ้น”


“การให้” และ “โอกาส”

“ผมเคยเสียโอกาสมาเพราะยากจนมาก่อน เป็นเด็กชนบทไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่เราสามารถทำได้ จึงอยากให้โอกาสเพื่อเอามาทดแทนในส่วนของตัวเองที่หายไป ให้กับทุกคนที่เขาพร้อมจะรับ” ครูชัย เอ่ยถึงคติประจำใจของตัวเอง

ผู้ติดต่อประสานงาน เป็นบทบาทหนึ่งของครูชัยในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ครูชัย กล่าวว่า ตนเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อเด็กต้องประสานงานเพื่อขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและบุคคลภายนอก ครูชัยในฐานะพี่เลี้ยงต้องคิดแผนซ้อนแผนเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้นักเรียน

“ก่อนที่เด็กๆ จะทำอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก เกี่ยวกับชุมชน เรารู้ความจริงอยู่หนึ่งอย่างว่า เราจะไม่ปล่อยให้โอกาสที่เด็กได้ลงมือทำนั้นสูญเปล่า เรากลับมาคิดโจทย์กับตัวเองว่าจะทำอย่างไร คำตอบคือ เราต้องลงมือไปก่อน เข้าไปคุยให้ผู้นำชุมชนเข้าใจก่อน เมื่อเด็กเข้าไปสอบถาม นัดแนะ เขาจะได้คำตอบและพร้อมเดินต่อได้ ยกเว้นบางอย่างที่ต้องสัมภาษณ์สด เช่น สัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชนผมจะไม่ลงไปด้วย ไม่ไปแทรกแซง”

“สมมุติเด็กๆ วางแผนไปติดต่อประสานงานกับกำนันพรุ่งนี้ วันนี้ผมจะเข้าไปถามกำนันด้วยตัวเองว่า พรุ่งนี้กำนันอยู่บ้านไหม จะไปไหนไหม ถ้าไม่อยู่จะกลับมาช่วงไหน ผมไม่ใช้โทรศัพท์ แต่เข้าไปหาด้วยตัวเองก่อน เราต้องยอมรับว่าบางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กเท่าที่ควร ต่อให้เด็กไปนัดเองก่อนก็อาจจะไปแล้วไม่เจอ เราอยากให้เด็กทำงานเป็นแต่ไม่อยากให้เสียเวลา ถ้าไปแล้วกลายเป็นความผิดหวัง พอหลายๆ ครั้งเข้า มักเกิดคำถามว่า ไปทำไม! เด็กจะสะท้อนกลับว่า ไปทำไม ไม่เจอใคร เราไปทำอย่างอื่นดีไหมครู ผมไม่อยากให้เกิดตรงนั้น มันเสียความรู้สึกด้วย เสียเวลาด้วย ทั้งตัวเราเองและตัวเด็กๆ แต่เด็กจะไม่รู้ว่าผมได้ไปแจ้งข่าว เพื่อประสานงานไว้ให้ก่อนหน้าแล้ว”

ครูชัยไม่ได้เป็นครูเฉพาะแค่ในโรงเรียน แต่เป็นครูของชุมชน และเป็นครูอยู่ตลอดเวลา “ความเป็นส่วนตัว” เป็นสิ่งที่ครูชัยไม่ปฏิเสธว่าต้องสูญเสียไปอย่างสิ้นเชิง ไม่เฉพาะแค่จากการรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโครงการ แต่รวมถึงหน้าที่ “ครู” ในบทบาทต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย แต่เป็นสิ่งที่ครูชัยเต็มใจมอบให้

“เวลาที่หายไป กับ ความสบายใจ มันคนละเรื่องกัน เช่น ไปงานลูกเสือ 7 วัน ไปเป็นวิทยากรอบรมครู 7 วันเต็ม งบตัวเองก็ใช้ แต่สิ่งที่เราได้คือ เพื่อน ได้คุย ได้แลกเปลี่ยนความรู้

ได้สนุกสนานเฮฮา ในช่วง 1-2 ปีหลังที่เข้าไปช่วยงานโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม

เหตุผลเพราะอุดมการณ์ เหมือนกับงานลูกเสือที่พูดถึงการให้โดยไม่มีผลตอบแทน

ไม่มีผลประโยชน์ ให้กับชุมชนและส่วนรวมมันคุ้มค่า จึงตัดสินใจเข้าไปทำส่วนนั้น แต่ถ้ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องผมไม่เอาเลย ไม่ชอบความวุ่นวาย ไม่ชอบการแก่งแย่ง”

“ตามขั้นตอน ไม่ยึดติดวิธีการ ทำงานให้สำเร็จ” เป็นแนวทางการเป็นพี่เลี้ยงที่ครูชัยนิยามให้กับตัวเอง

โครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหมู่ที่ 7 เริ่มตั้งแต่การค้นหาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับป่าจากการลงพื้นที่สำรวจป่าในพื้นที่จริง การค้นคว้าข้อมูลพืชพรรณในป่าจากอินเทอร์เน็ต และการสัมภาษณ์คนในชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากป่า ข้อมูลที่รวบรวมได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเภทของต้นไม้และพืชสมุนไพรในป่า จำนวนต้นไม้ต่อสัดส่วนพื้นที่ สาเหตุของการบุกรุกป่า และสาเหตุที่ทำให้ป่าถูกทิ้งร้าง ไปจนกระทั่งมีการบวชป่า กระบวนการดำเนินงานถูกวางแผนไว้อย่างชัดเจน แต่ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

“ตั้งแต่แรกเราสอนให้เด็กสร้างเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นคำถาม การบันทึก การเตรียมตัวลงสัมภาษณ์ เช่น โทรศัพท์ น้ำดื่ม อาหาร เป็นต้น ในกรณีที่สัมภาษณ์ไม่เสร็จ เราจะไปกินอาหารกันตรงไหน ไปไหนคนเดียวไม่ปลอดภัย เราแบ่งกลุ่มไปดีไหม เมื่อกลับมาแล้ว แต่ละกลุ่มเอาคำถามเหล่านี้ มาประมวลรวมกันและบันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์เข้ากองกลาง”

ข้อมูลทั้งหมดนำมาสู่การตั้งคำถามร่วมกันกับกลุ่มนักเรียนว่า

“เราจะทำอย่างไร เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนรักษาผืนป่าตรงนั้นให้คงอยู่ถาวร? ได้คำตอบจากเด็กๆ ว่าถ้าจะสร้างจิตสำนึก ต้องดึงความเชื่อเข้ามาจึงกลายเป็นที่มาของการบวชป่า” ครูชัย อธิบาย

“ก่อนการดำเนินงานบวชป่า ผมถามเด็กว่าเราจะบวชป่าอย่างไร ก่อนบวช ขณะบวช และหลังบวช และคำถามต่อไป คือทำอย่างไรให้มันอยู่อย่างถาวร? คำตอบข้อแรกคือ ก่อนบวชป่า เราต้องทำตรงนั้นให้เป็นป่าชุมชนที่สมบูรณ์ คือ ต้องมีข้อบังคับในการใช้สวนป่า ข้อที่สองต้องมีคณะกรรมการในการบริหารสวนป่า และข้อที่สามต้องมีการบวชป่า ประสานผู้นำชุมชนให้มาร่วมประชุม เขาให้เด็กร่างระเบียบการใช้สวนป่าแล้วนำไปให้กำนัน

จากนั้นกำนันก็พาเข้าประชุมหมู่บ้าน สิ่งที่ได้คือ คณะกรรมการและระเบียบสวนป่า

หลังจากผ่านคำถามเรื่องการบวชป่า ผมแนะนำเด็กๆ ทำไปทีละขั้นตอน เช่น บวชป่าต้องทำอะไรบ้าง พอถึงวันบวชป่า เด็กๆ ได้เชิญนายอำเภอมาเป็นประธาน

เชิญเจ้าคณะจังหวัดมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ชวนคนในชุมชน วันที่บวชป่าคนในชุมชนนำปิ่นโตมาถวายพระ มากันเกือบร้อยคนในวันนั้น” ครูชัย เล่าถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการทำโครงการ

จากครูคนหนึ่งที่แทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโครงงานฐานวิจัย ไม่เคยพานักเรียนออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนหรือร่วมกับชุมชน แต่เพราะครูชัยไม่เคยปิดกั้นตัวเองจากการเรียนรู้ ทำงานอย่างเป็นลำดับขั้นตอนแต่คงความยืดหยุ่น แล้วมุ่งมั่นทำงานจนสำเร็จตามเป้าหมาย ครูชัยยอมปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อนักเรียน จนกลายเป็นครูคนหนึ่งที่มีความรู้ความเข้าใจในการเรียนการสอนโครงงานฐานวิจัย และได้มีโอกาสช่วยเหลือครูคนอื่นๆ ในโรงเรียน เห็นได้จากที่ถูกแซวอยู่บ่อยครั้งว่าเป็น “โครงงานฐานวิชัย”

“ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ผมเหนื่อยนะ แต่ดีใจลึกๆ ตอนมีภาพข่าวออกไป

เป็นการบวชป่าครั้งแรกของสตูลในรอบหลายปี แล้วล่าสุดเจ้าคณะอำเภอได้ขยายการบวชป่าไปที่อื่นด้วย

ในพื้นที่ที่ไม่ไกลกันมาก นั่นคือการบอกให้เรารู้ว่า

ไม่ได้มีแต่เราแล้วนะ ยังมีผู้นำชุมชนบางส่วนให้ความสำคัญ

จึงได้นำกิจกรรมนี้ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปอีก

จะได้มีการรักษาผืนป่าผืนต่อไปเพิ่มขึ้นอีก” ครูชัย กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

////////////////////////////