อรุณ ยันติง
แกนนำเยาวชน active citizen จ.สตูล
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

เยาวชนเด่นโครงการสืบสานภูมิปัญญาจักสานเตยหนามสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของกลุ่มเยาวชน บ้านนาพญา

ชื่อเรื่อง : ซิล-ซัน สองหนุ่มขี้อาย ที่ยอมออกจากเกมฟีฟายเพื่อมาสืบสานภูมิปัญญาจักสานหนามเตยของชุมชน


“แพนดามุนอะกอละทิสสะมุส”

ฟังดูคล้ายคาถามหัศจรรยพันธุ์ลึกในแฮรี่พอตเตอร์ แต่ไม่ใช่

แพนดามุนอะกอละทิสสะมุส เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ ‘Pandanus odoratissimus’ ของพืชจักรสานชนิดหนึ่งที่ภาษาไทยเรียกว่า “เตยหนาม” “เตยทะเล” “ปาหนัน” หรือ “ลำเจียก” ส่วนภาษาอังกฤษเรียกว่า “Screw Pine” เตยหนามเป็นหนึ่งในพืชท้องถิ่นภาคใต้พบได้ในหลายจังหวัด ขอบใบและใต้ท้องใบตรงแกนกลางมีหนาม คล้ายใบสับปะรดแต่ยาวกว่า ชอบขึ้นตามชายน้ำและริมทะเล

งานสร้างสรรค์หัตถกรรมจากเตยหนามเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบต่อกันมาโดยช่างฝีมือพื้นบ้าน หลายพื้นที่เป็นงานหัตถกรรมประจำท้องถิ่นสร้างรายได้ แต่ภูมิปัญญานี้กำลังค่อยๆ ลางเลือนด้วยไม่มีคนสานต่อ เช่นเดียวกับที่ บ้านนาพญา หมู่ที่ 8 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่บ้านนาพญาได้จับมือกันทำ โครงการสืบสานภูมิปัญญาจักสานเตยหนามสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของกลุ่มเยาวชนบ้านนาพญา เพื่อเรียนรู้และสืบสานภูมิปัญญาจักสานเตยหนามให้อยู่คู่ชุมชน ซึ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ แกนนำหลักของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้กลุ่มผู้ชายวัยรุ่น ที่งานอดิเรกยามว่าง คือ การจับกลุ่มกันเล่นเกมที่ศาลาเอนกประสงค์กลางหมู่บ้าน หันมาสนใจเรียนรู้งานจักสาน ซิล - อรัณ ยันติง และ ซัน - อรุณ ยันติง สองพี่น้องฝาแฝดวัย 19 ปีเป็นตัวแทนกลุ่มมาไขข้อข้องใจ


เปลี่ยนจากเล่นเกมฟีฟายมาเดินสายงานสาน

“ก่อนหน้านี้หลังจากช่วยงานที่บ้านเสร็จเรียบร้อย พวกผมนัดเจอกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้านประมาณ 5-6 คน รวมกันที่ศาลาเอนกประสงค์กลางหมู่บ้านอาศัยเน็ตฟรีของเน็ตประชารัฐเล่นเกมฟีฟายกันทุกวัน เพราะไม่รู้จะทำอะไร เลยรวมกลุ่มกันเล่นเกมดีกว่า” ซิลกับซัน เริ่มต้นเล่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาพที่เห็นจนชินตาของคนในชุมชนบ้านนาพญา แต่กลับเป็นภาพที่สะดุดตาของ ก๊ะ-สุวัลยา ยาหยาหมัน ที่เข้ามารับผิดชอบเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ก๊ะ มองว่า หากดึงเยาวชนกลุ่มนี้ออกจากเกมมือถือให้มาทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี

“จ๊ะก๊ะเดินเข้ามาหาพวกเราที่ศาลาแล้วบอกให้เรามาช่วยงานเขาหน่อย ถ้าช่วยทำงานแล้วพี่เขาจะพาเราไปเที่ยว เพราะคำว่าไปเที่ยวเราเลยตอบตกลงทำโครงการ” ซิลเล่าถึงแรงจูงใจ

แม้จะตอบตกลงเข้าร่วมโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งสองยอมรับว่า ตนเป็นคนที่อายมาก ไม่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นมาก่อน ชีวิตประจำวันช่วยงานที่บ้าน เข้าสวนกรีดยาง และล้อมวงเล่นเกมฟีฟายกับเพื่อนในช่วงเย็น

“ก๊ะชวนผมไปร่วมเวทีด้วยเป็นครั้งแรก ตอนนั้นตื่นเต้นมากเพราะไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมมาก่อน คนในเวทีเยอะมาก ทำตัวไม่ถูกเลย” ซิลและซันเล่าถึงเหตุการณ์ที่ต้องเข้าร่วมกลุ่มกับเพื่อนๆ อีกสิบกว่าโครงการ

โครงการการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านนาพญาเป็นโครงการแรกที่พวกเขาได้มีส่วนร่วม ซิลและซัน เล่าว่า หลังจากนั้นก๊ะได้ชวนสมาชิกในทีมช่วยกันคิดว่าอยากทำโครงการอะไรต่อในปีที่สอง โดยให้โจทย์ว่าโครงการในปีที่สองนี้ซิล ซัน รวมทั้งเพื่อนๆ จะเป็นคนทำโครงการเองทั้งหมด ส่วนก๊ะจะขยับขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการทำหน้าที่ดูแลพวกเขาแทน

“ชุมชนบ้านนาพญามีต้นเตยหนามเยอะ และยังมีผู้รู้ที่นำเตยหนามมาสานเสื่อ จึงคิดอยากสืบสานภูมิปัญญาการจักสานของชุมชนให้อยู่ต่อไป” ซิล ให้เหตุผลที่เลือกทำโครงการสืบสานภูมิปัญญาจักสานเตยหนามในปีที่สอง

การสานเตยหนามดูเหมือนจะขัดกับบุคลิกของสมาชิกในทีมเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ซิล และซันไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องยาก สามารถฝึกกันได้ จากเดิมที่เคยเป็นแค่สมาชิกในโครงการคนหนึ่ง แต่ตอนนี้ทั้งสองขยับเข้ามามีบทบาทในการทำโครงการมากขึ้น

ซันรับหน้าที่เป็นฝ่ายบัญชี ซันบอกว่าที่ตนได้รับหน้าที่นี้เพราะจ๊ะก๊ะเป็นคนเลือกให้ ตอนแรกแอบหวั่น ๆ เพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่จ๊ะก๊ะบอกว่าจะคอยช่วยเลยทำให้ตัวเองมั่นใจมากขึ้น หน้าที่หลัก ๆ ที่ต้องทำคือจดรายละเอียดรายรับ-รายจ่ายในแต่ละครั้ง ซันยอมรับว่าเป็นงานที่ยากพอตัวสำหรับเขา

เพราะต้องคอยดูแลรายจ่ายของโครงการทั้งหมดว่าแต่ละครั้งที่จัดกิจกรรมใช้เงินไปเท่าไหร่ และนำไปทำอะไรบ้าง

“กลัวว่าถ้าพลาดไปเราต้องมานั่งทบทวนว่าเราลืมจดรายละเอียดตรงส่วนไหนไปหรือเปล่า” ซันบอกอธิบายความยากของงานบัญชี

ด้านซิลเป็นเลขาโครงการเล่าว่า “ตอนนั้นไม่มีใครรับตำแหน่งนี้เลยอาสาเป็นให้ แค่คิดว่าเราต้องคอยช่วยจ๊ะก๊ะและเพื่อนๆ คอยหาข้อมูลในโครงการเกี่ยวกับหนามเตย พอมาทำก็ค่อนข้างยากพอสมควร เพราะต้องหาข้อมูลหลายๆ แหล่งเพื่อมาใช้ประโยชน์กับงาน”

ซันและซิลบอกว่าการเป็นเลขาและฝ่ายบัญชี ช่วยเปลี่ยนให้เขากลายเป็นคนที่มีระเบียบและรอบคอบมากขึ้น เห็นได้อย่างชัดเจนเวลาจับจ่ายซื้อของ ทั้งสองคนต้องดูว่าของที่ซื้อคุ้มหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการเสพข้อมูลข่าวสาร พวกเขาจะหาข้อมูลอื่นๆ มาประกอบด้วยเสมอก่อนที่จะเชื่อข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ได้รับติดตัวมาจากกระบวนการทำงานในโครงการ ซึ่งเดิมทีไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน


กิจกรรมจักสานความสัมพันธ์

สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเตยหนามทางอินเทอร์เน็ต แล้วลงพื้นที่สอบถามข้อมูลเตยหนามและการสานเตยหนามจากผู้รู้ ลงสำรวจพื้นที่ที่อยู่ของเตยหนามในชุมชน รวมทั้งลงมือเรียนรู้การสานหนามเตยหนาม เป็นขั้นตอนหลักๆ ของการทำโครงการ

ทั้งสองคนเล่าว่าตอนลงพื้นที่สอบถามผู้รู้ในชุมชน สมาชิกในทีมประชุมจับคู่กันลงพื้นที่ ซันจับคู่กับรองประธานแต่รอบนั้นเขายอมรับว่าตัวเองไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์ เพราะเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรก เขาค่อนข้างเขิน อาย และไม่กล้าพูด เพื่อนจึงรับหน้าที่เป็นคนซักถาม ด้านซิลรับหน้าที่เป็นช่างภาพคอยเก็บภาพบรรยากาศการลงพื้นที่ เพราะชอบถ่ายรูปเป็นทุนอยู่แล้ว เขาจึงอาสารับหน้าที่ช่างภาพประจำกลุ่ม

“พวกเราลงสำรวจพื้นที่ที่มีเตยหนามขึ้นเยอะ อาศัยถามข้อมูลจากผู้รู้เมื่อครั้งลงไปหาข้อมูล สถานที่ที่ประทับใจที่สุดน่าจะเป็นตอนนั่งเรือลงไปดูหนามเตยที่เกาะใกล้บ้าน ตอนนั้นไปกันประมาณเกือบสิบคนแต่ติดปัญหานิดหน่อยคือไม่มีคนขับเรือให้ พวกผมเลยต้องไปขอความช่วยเหลือจากญาติที่ขับเรือเป็นให้มาช่วย” ซิลและซันช่วยกันเล่า

ซิล เล่าว่า เตยหนามเป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในชุมชนบ้านนาพญา พวกเขาใช้เวลาในการลงสำรวจพื้นที่ประมาณ 2-3 ครั้ง ก่อนกลับมาสรุปข้อมูลที่ได้ พบว่า เตยหนามชอบอยู่บริเวณที่มีน้ำขัง และรากของเตยหนามสามารถนำมาทำยาได้ หลังลงสำรวจพื้นที่เพื่อหาแหล่งอาศัยของเตยหนามทั้งในชุมชนและรอบชุมชนแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ต้องเรียนรู้คือการลงมือสานเตยหนามร่วมกับผู้รู้ในชุมชน

เตยหนาม...คือหัวใจหลักของกิจกรรมนี้ ซันและซิลรวมทั้งเพื่อน ๆ ในทีมลงเรือกันไปอีกครั้งเพื่อเข้าไปตัดเตยหนามที่เกาะใกล้บ้าน เตยหนามจำนวน 50 ใบถูกขนกลับลงเรือเพื่อนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำจักสาน

“ต้นเตยหนามมีหนามค่อนข้างเยอะ เวลาตัดต้องระวังเป็นพิเศษเพราะอาจโดนหนามตำได้ จึงต้องสวมถุงมือและหามีดที่มีด้ามยาวๆ ไว้ใช้สำหรับตัดใบของหนามเตย ถึงจะป้องกันแต่ก็ได้แผลกลับมากันทุกคน เตยหนามหนามสมชื่อจริงๆ” ซิลบอก

ทีมงานนำเตยหนามที่เก็บได้มาขูดหนามออก รนไฟ ก่อนแช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วนำตากแดดให้แห้งประมาณ 1-2 วัน ซิลและซันบอกว่าขั้นตอนการเตรียมใบเตยหนามเป็นกระบวนการที่ยาก เพราะตอนขูดหนามต้องคอยระวังหนามที่อยู่ตามใบ หากดูไม่ดีอาจโดนข่วนได้แผลเต็มไม้เต็มมือไปแบบไม่รู้ตัว

การสานเสื่อ...เป็นแบบทดสอบฝีมือของซิล ซันและเพื่อน ๆ หลังเตรียมหนามเตยสำหรับใช้สานเสื่อเรียบร้อย พวกเขานัดแนะผู้รู้ให้เข้ามาสอนวิธีการสานที่บ้านของ ไหม - พัชรรีภรณ์ ติ้งหวัง พี่เลี้ยงอีกคนของโครงการฯ

“ตอนแรกคิดว่าจะทำง่าย แต่พอได้ลองทำจริง ๆ มั่วไปหมดต้องคอยถามผู้รู้เป็นระยะ ๆ เพราะไม่เคยทำมาก่อน มันยากมากโดยเฉพาะตอนเริ่มต้นขึ้นลาย ทำไปพอเหนื่อยๆ ก็พักแล้วค่อยทำต่อ” ซิล กล่าว

พวกเขาจับกลุ่ม 3 คน รับผิดชอบสานเสื่อหนึ่งผืน ซิลได้เรียนรู้ว่าการทำงานไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือ “การทำงานเป็นทีม” สมาชิกในทีมต้องช่วยเหลือกันเพื่อให้งานที่ทำสำเร็จได้เร็วขึ้น แม้บ่นว่ายากแต่พวกเขาก็อดทนทำจนสำเร็จออกมาเป็นเสื่อให้ตัวเองได้ภูมิใจ

ด้าน ซัน กล่าวว่า “สิ่งที่ชอบมากที่สุดในการทำโครงการนี้คือตอนที่ได้ลงมือทำในทุก ๆ กิจกรรม ตั้งแต่ตอนลงเรือไปดูเตยหนามที่เกาะ จนถึงตอนช่วยกันทอเสื่อเตยหนาม เพราะรู้สึกว่าการทำกิจกรรมทำให้ได้อยู่กับเพื่อนๆ สนิทกับเพื่อนมากขึ้นกว่าเดิม”


ผลตอบรับ...ที่มากกว่าความรู้

กลุ่มแกนนำเยาวชนเดินหน้าทำโครงการตามแผนอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อลงมาเรียนรู้การสานเสื่อเตยหนาม ผู้ใหญ่ในชุมชนหลายท่านสนใจและเดินเข้ามาดูการทำงานของพวกเขา บางคนเดินเข้ามาถามไถ่ถึงโครงการ บางคนแม้ไม่ได้ถามแต่ก็แวะเวียนเข้ามาดู จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่ วัยรุ่นอยู่ส่วนวัยรุ่นล้อมวงเล่นโทรศัพท์มือถือ ผู้ใหญ่เข้าสวนกรีดยาง แต่เพราะกิจกรรมนี้ทำให้ผู้ใหญ่เริ่มสนใจสิ่งที่เด็กและเยาวชนทำมากขึ้น

“ในวันที่ลงมือสานเสื่อร่วมกับผู้รู้มีผู้ใหญ่หลายท่านเห็นเราสานเสื่อก็เข้ามาสอน มาแนะนำวิธีการให้เราด้วย ตอนนั้นดีใจเพราะไม่คิดว่าจะมีใครเข้ามาสอนเรา” ซันบอกความประทับใจให้ฟัง

ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ช่องว่างระหว่างวัยที่หดแคบลง ทำให้ทั้งสองคนเกิดแรงบันดาลใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชนด้วยเช่นกันหากมีโอกาส เพราะเห็นว่าคนในชุมชนก็เข้ามาช่วยเหลือตนเอง เช่นเดียวกับภูมิปัญญาการจักสานเตยหนามของชุมชนบ้านนาพญา ที่พวกเขาเองพบว่ายิ่งได้ลองสืบค้นข้อมูล ได้ลงพื้นที่ และลงมือเรียนรู้อยู่หลายครั้งก็ยิ่งอยากรักษาภูมิปัญญานี้ไว้ให้อยู่คู่ชุมชน เพราะคนส่วนใหญ่ที่มีความรู้และมีทักษะจักสานเป็นผู้สูงอายุ เด็กรุ่นใหม่อย่างพวกเขาจึงอยากช่วยสืบสานภูมิปัญญานี้ไว้

เมื่อได้ทบทวนตัวเอง ทั้งซิลและซันมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งเกิดจากการบ่มเพาะผ่านกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทำโครงการฯ

ซันบอกว่าตนเองเองกล้าเข้าหาคนมากขึ้น จากเดิมไม่กล้าพูดคุยกับคนอื่นเลย เพราะเป็นคนขี้อาย แต่หลังจากได้ทำโครงการฯ ความกล้าได้เข้ามาแทนที่ความกลัว การเอ่ยปากทักทายพูดคุยกับคนอื่น กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น ในส่วนของความรู้สึกที่มีต่อชุมชนซันพบว่า จากเดิมที่ไม่เคยสนใจกิจกรรมในชุมชน เพราะเป็นคนที่ขี้อาย ไม่ชอบเข้าสังคม ทำให้เลือกไม่เข้าร่วมกิจกรรมกับทางชุมชน แต่ตอนนี้ตนเองอยากเข้ามาทำกิจกรรมกับทางชุมชนมากขึ้น

ในขณะที่ซิล จากเดิมเป็นคนเงียบ มักพูดจาปราศรียอยู่เฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น รวมตัวกันเล่นเกมออนไลน์บริเวณศาลากลางหมู่บ้านเท่านั้น แต่พอทำโครงการนี้เขารู้จักคนมากขึ้น จากที่ไม่เคยทักทายก็เริ่มทัก เริ่มถามสารทุกข์สุขดิบคนอื่น ถ้าถามถึงความร่วมมือในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ซิลบอกว่าเป็นศูนย์ เพราะเขาเลือกที่จะปฏิเสธ ไม่อยากเข้าร่วมอยากเล่นแต่เกมเท่านั้น แต่เพราะได้รับโอกาสจากจ๊ะก๊ะที่เข้ามาชวนให้ทำโครงการฯ

ผลลัพธ์จากการทำโครงการฯ ทำให้ทั้งสองได้มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อชุมชน และได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน หากมีกิจกรรมอะไรในชุมชนจ๊ะก๊ะมักเข้ามาชักชวนให้ทั้งสองเข้าร่วมกิจกรรมอยู่เสมอ จนทำให้เป็นที่รู้จักของคนในหมู่บ้าน ซิลบอกว่าหากนับเป็นคะแนนความกล้าเต็มสิบ ก่อนหน้านี้เขาให้ตัวเองแค่สองคะแนนเท่านั้น เพราะเป็นคนที่ขี้อายมาก ไม่เข้าหาผู้อื่นเลย แต่ถ้าเทียบกับตอนนี้เต็มสิบให้ตัวเองเพิ่มขึ้นเป็นหกคะแนน เพราะมีความกล้าแสดงออกและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

ปัจจุบันซันและซิลสองพี่น้องฝาแฝดยังคงช่วยงานที่บ้านเหมือนที่เคยทำมาจนกลาย เพราะเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องรับผิดชอบ และยังคงหมั่นเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งเพราะสนุกที่ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ อยากมีเพื่อนมากขึ้น แม้ยังเล่นเกมฟีฟายอยู่เหมือนเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือการจัดสรรเวลาไปทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมมากขึ้น

จากจุดเริ่มต้นที่ถูกชักชวนจากพี่เลี้ยง ด้วยแรงจูงใจว่าจะได้ไปเที่ยวที่ พวกเขาได้เที่ยวสมใจ แต่เป็นการท่องเที่ยวในโลกแห่งความรู้ สิ่งที่ได้มากกว่าการเที่ยวคือการได้รับความรู้ และความกล้าแสดงออกที่จะติดตัวเขาไปตลอดนับจากนี้…

///////////