ธิติมา งอนสวรรค์
เยาวชน Active Citizen โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน
เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ศิลป์-ภาษา) โรงเรียนกันทรอมวิทยา

­

โครงการกระบวนการขับเคลื่อนอนุรักษ์และการฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านตาตา ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

       ในวัยเด็กของนัท นัทผูกพันกับป่าชุมชนโดยไม่รู้ตัว เธอเดินผ่านป่าชุมชนเพื่อไปนากับแม่ พอถึงฤดูทำนานัทสงสัยว่าที่ตรงนี้ทำไมไม่ปลูกข้าว แม่บอกว่า ที่ตรงนี้ไม่ใช่ของใคร ที่ตรงนี้เป็นป่าชุมชนและเป็นของชาวบ้านทุกคน แต่เคยมีคนมาบุกรุกจึงเสื่อมโทรม แม่ของนัทเล่าให้นัทฟังว่า “ชาวบ้านทุกคนประสานงานกับหัวหน้าชุมชน หัวหน้าชุมชนพาไปร้องเรียนที่อำเภอจึงได้พื้นที่ป่าชุมชนคืนมา” จากนั้นในปี 2558 มีกิจกรรมปลูกป่าชุมชน แม่ให้นัทออกไปช่วยปลูกต้นไม้ นัทรู้สึกสนุกและชอบที่ได้ลงมือทำ เธอสังเกตว่าครั้งนั้นมีจิตอาสามาจากหลายที่ พระ ผู้นำ ชาวบ้าน รวมทั้งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เธอเกิดไม่ทันในช่วงที่ป่าชุมชนอุดมสมบูรณ์ แต่ นัทอยากจะเห็นป่าชุมชนที่สมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารของทุกคนเหมือนเดิม

       นัทชอบไปวิ่งเล่นในป่าชุมชน ไปเฝ้าดูการเติบโตของต้นไม้ ไม้พะยูง มะม่วงและต้นไม้ต่างๆ ที่เคยปลูก นัทชอบไปเล่นที่บ้านพี่พล (หัวหน้ากลุ่มเยาวชนของชุมชนและพี่เลี้ยงโครงการ) พี่พลเสนอให้เธอทำโครงการวิจัยเพื่อฟื้นฟูและดูแลป่าชุมชน เธอปฏิเสธในทีแรกเพราะไม่รู้ว่าต้องทำอะไร แต่ความกล้าก็ชนะความกลัว เธอลองผิดลองถูกเริ่มต้นจากการไปแจ้งกำนันว่ากลุ่มเยาวชนกำลังจะทำอะไรกับป่าชุมชน ขอให้กำนันประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้านให้ชาวบ้านรับรู้ว่าพวกเขากำลังจะทำกิจกรรม

        ปัญหาที่นัทพบเจอประจำคือตัวเอง “หนูเป็นคนชอบเถียง ชอบเอาชนะคนอื่นมักจะเถียงโต้แย้งคนอื่น ทั้งครูพ่อแม่และเพื่อน ความอยากเอาชนะคนอื่นเป็นนิสัยที่ติดมาตั้งแต่เด็ก อยากจะเปลี่ยนแปลงแต่ยังทำไม่ได้ ในโครงการเวลาเสนอความคิดเห็นหนูมักจะคัดค้านคนอื่นและเสนอความคิดเห็นของตัวเอง จะเอาเหตุผลของตัวเองอย่างเดียวไม่ฟังใครเลย ทั้งที่เหตุผลของทั้งสองฝ่ายก็เหมือนกัน” นัทสะท้อนตัวเองด้วยแววตาหม่นคล้ายรู้สึกผิด และกำลังเห็นเส้นทางในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เธอบอกว่าในฐานะหัวหน้าโครงการบางครั้งเธอโมโหน้องๆ ที่เอาแต่เล่นโทรศัพท์มือถือไม่ร่วมกิจกรรมเวลามาทำกิจกรรมกลุ่ม เธออดทนและขอให้ทุกคนนำโทรศัพท์มาเก็บไว้ที่ส่วนกลางก่อน เปิดโอกาสในน้องๆ นำเสนองาน ให้กำลังใจให้ทุกคนลองผิดลองถูกไปด้วยกัน ความสุขของนัทคือการได้มาร่วมกิจกรรมกับส่วนกลางและโครงการอื่นๆ เพราะเธอได้รู้จักเพื่อนใหม่ เรียนรู้และชื่นชมการทำงานของเพื่อน นัทดีใจทุกครั้งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม

        โครงการฯ ทำให้นัทเรียนรู้และรู้จักกระบวนการนำเสนอข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชนตัวเอง รู้วิธีการศึกษาว่าปราชญ์ผู้รู้เป็นใคร อยู่ที่ไหน ชื่ออะไร ได้เดินทางไปตามบ้านเพื่อสอบถาม ได้พัฒนากระบวนการคิดและการสื่อสารของตัวเอง “จากหนูเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง ตอนนี้ดีขึ้นบ้าง” ได้เรียนรู้วางแผน แบ่งบทบาทในทีม แนะนำการเขียนบันทึกให้แก่น้องๆ ในทีม จากคนที่ทำงานคนเดียวตอนนี้นัททำงานกลุ่มได้ดีขึ้น

       นัทเล่าถึงความยั่งยืนในการดูแลและฟื้นฟูป่าชุมชนว่า กลุ่มเยาวชนและเธอได้ไปคุยกับกำนัน โดยกำนันจะดำเนินกิจกรรมต่อไปและให้กลุ่มเยาวชนทำหน้าที่เก็บข้อมูล สำรวจพื้นที่ ถ่ายภาพ สอบถามข้อมูลจากชาวบ้านเพื่อบันทึกต่อไป

­

­

ความโดดเด่น

  • เปิดใจ กล้าลองผิดลองถูกแม้จะกลัวและยังไม่มีประสบการณ์
  • เท่าทันอารมณ์ สามารถอธิบายพื้นฐานอารมณ์ของตัวเองที่เป็นคนปากร้าย ชอบเถียง อยากเอาชนะและกำลังปรับปรุง เปลี่ยนแปลง
  • นักประสานงานชุมชน นัทใช้กลยุทธ์เข้าทางผู้นำชุมชน ให้ชุมชนเป็นที่ปรึกษาและมีส่วนร่วม ใช้สื่อในชุมชนอย่างฉลาด โดยกระจายข่าวกิจกรรมของโครงการฯ ผ่านเสียงตามสายอย่างสม่ำเสมอ