นันทินี พูลแก้ว
แกนนำเยาวชน active citizen จ.สงขลา
ประวัติและผลงาน

          โครงการศึกษาสถานการณ์ขยะและแนวทางลดปริมาณขยะในโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา เป็นโครงการที่หาแนวทางการลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืนในโรงเรียน เนื่องจากแกนนำเยาวชนในโครการซึ่งเป็นกรรมการนักเรียนได้พูดคุยกัน เจอว่าโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดกลางมีนักเรียนกว่า 1,400 คน ทำให้ปริมาณขยะมีจำนวนมาก สุนัขจะมาคุ้ยเขี่ยขยะจนเห็นเกลื่อนกลาดไปทั่วโรงเรียน นักเรียนทิ้งขยะไม่เป็นที่ ขณะเป็นกรรมการนักเรียนเวลาที่ตรวจพื้นที่บริเวณใกล้โรงอาหาร และบริเวณอื่นๆ ก็พบขยะ จึงเกิดคำถามว่า “ทำไมขยะเยอะ” แม้ไม่ใช่บริเวณโรงอาหารก็ตาม แสดงว่ามีนักเรียนกินอาหารแล้วทิ้งไว้บริเวณนั้น แกนนำเยาวชนในโครการจึงรวมกลุ่มกัน ทำโครงการหาแนวทางทำให้นักเรียนทิ้งขยะให้เป็นที่

          พวกเขาเริ่มต้นโดยรับสมัครแกนนำนักเรียนจำนวน 100 คน ให้กลุ่มแกนนำสำรวจการใช้ขยะของตัวเองโดยใช้แบบประเมินที่มีตารางให้บันทึกจำนวนการใช้ขยะในแต่ละวัน เป็นเวลา 15 วัน เพื่อสำรวจว่าแกนนำ100 คนใช้ขยะไปในปริมาณเท่าไร นอกจากนี้ช่วงปิดเทอมยังได้จัดกิจกรรมเป็นเวลา 45 วัน โดยใช้ตารางที่มีรูปแบบชัดเจนขึ้นว่า ขยะแต่ละชิ้นคือขยะอะไร ยี่ห้ออะไร ใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง จนได้แนวทางว่าจะลดขยะจากพฤติกรรมการบริโภคที่เกิดจากตัวเอง แกนนำโครงการสอบถามแม่ค้าภายในโรงเรียน เรื่องการใช้จานใส่ผลไม้แทนการใช้ถุงพลาสติก และการใช้ถ้วยที่สามารถเก็บกลับมาล้าง แทนถ้วยพลาสติก แต่แม่ค้าสะท้อนว่าไม่สะดวก เพิ่มภาระ และภาชนะมักหาย จึงทำให้แกนนำคิดว่า “แม่ค้าไม่เปลี่ยนแต่นักเรียนและคุณครูจะเป็นคนเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเพื่อการลดปริมาณขยะ”

         แกนนำทั้ง 100 คนจึงสำรวจการใช้ขยะของตัวเองโดยใช้แบบประเมินที่มีตารางให้บันทึกจำนวนการใช้ขยะในแต่ละวัน เป็นเวลา 15 วัน เพื่อสำรวจว่าแกนนำ 100 คนใช้ขยะไปในปริมาณเท่าไร ช่วงปิดเทอมจัดกิจกรรมเป็นเวลา 45 วัน โดยใช้ตารางที่มีรูปแบบชัดเจน บันทึกว่า ขยะแต่ละชิ้นคือขยะอะไร ยี่ห้ออะไร ใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง จากการบันทึกพบว่าส่วนใหญ่เป็นขยะที่มาจากถุงพาสติก ขวดน้ำ แก้วน้ำพาสติก ข้อมูลที่พบทำให้แกนนำตระหนักและเห็นว่าขยะมาจากไหน จึงเริ่มต้นที่ตัวเอง พกแก้วและกล่องข้าวมาโรงเรียน จากขยะ 60 ชิ้นต่อวัน ลดเหลือเพียง 15 ชิ้นต่อวัน ซึ่งกลุ่มแกนนำในโรงเรียนเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะเป็นต้นแบบ เป็นผู้นำแฟชั่นในโรงเรียนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

         นอกจากเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัวการบริโภคเพื่อลดการเกิดขยะของแกนนำให้เป็นแบบอย่างแล้ว ในทีมแกนนำและคุณครูที่ปรึกษาได้พยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดการเกิดขยะหลายอย่าง เช่น ขอความร่วมมือจากร้านค้าในโรงเรียนให้ใช้ภาชนะแทนการใช้ถุงพาสติก แม้ไม่ได้รับความร่วมมือแกนนำแก้ปัญหาโดยพกกล่องข้าว แก้วน้ำนำไปใส่ซื้ออาหารที่ซื้อเอง, เปลี่ยนรางวัลการประกวดภายในโรงเรียนจากขนมเป็นแก้วน้ำ กล่องข้าว ถุงผ้าพื่อให้นักเรียนสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ สะท้อนไปผู้บริหารและครูให้มาช่วยดูแลตู้กดน้ำดื่มให้สะอาดดื่มได้ เป็นการเรียกร้องสวัสดิการให้กับนักเรียนในโรงเรียน “หนูเห็นว่าในหนึ่งวันเด็กจะดื่มน้ำประมาณ 3 - 4 ขวด ใช้เงินมากในการซื้อ ทำมีการใช้พลาสติกจำนวนมาก หนูอยากเปลี่ยนให้มีตู้กดน้ำมากขึ้น เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดการใช้ขยะ ก่อนหน้านี้ตู้กดน้ำในโรงเรียนเสียไม่สะอาดดูไม่ปลอดภัย หนูนำเรื่องนี้ไปบอกคุณครูฝ่ายอาคาร เขาจัดการซ่อมแซมให้และเริ่มกลับมาใช้ได้ หลังจากซ่อมตู้กดน้ำได้แล้ว นักเรียนจะนำแก้วน้ำที่ตัวเองพกมาไปกดน้ำและเป็นการช่วยลดใช้ขวดพลาสติกด้วย” - โนราห์

        โครงการฯ ได้สร้างความตระหนักในการรักสิ่งแวดล้อม ใช้วิธีการตามกฎแรงกระเพื่อมของน้ำ เริ่มจากตัวเองค่อย ๆ ขยาย สร้างจิตสำนึกร่วมสู่คนใกล้ชิด การเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อคนใกล้ชิดของแกนนำ ผู้ปกครองที่บ้านของแกนนำ นำกล่องและถุงผ้าไปตลาดสด เพื่อใส่เนื้อสัตว์และผักเพื่อลดปริมาณถุงพลาสติกในครัวเรือน โดยทำเป็นกิจวัตรให้อยู่ในวิถีชีวิตไม่ใช่แค่ทำภายในโรงเรียน แต่สร้างวินัยเชิงบวก ส่งผลให้แกนนำภายในโครงการเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม มีความยับยั้งชั่งใจ มีสำนึกพลเมือง เพราะเรื่องขยะไม่ใช่เพียงแค่เก็บและแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลเท่านั้น แต่การลดปริมาณขยะจากตัวเราจะเป็นการลดที่ยั่งยืน


ความโดดเด่น

  • โครงการศึกษาสถานการณ์ขยะและแนวทางลดปริมาณขยะในโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา ใช้วิธีการบันทึกขยะประจำวันอย่างละเอียดเพื่อสร้างความตระหนักรู้ สำนึก นำไปสู่การไปหาแนวทางที่ยั่งยืน
  • โครงการฯ ปรับพฤติกรรมระดับบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำที่จะเป็นต้นแบบที่ดีในโรงเรียน ทำให้นักเรียนคนอื่น ๆ อยากเปลี่ยนแปลง
  • การเริ่มที่ตัวเอง โดยไม่ไปเรียกร้องกับคนที่ยังไม่พร้อม ทำให้ลดความขัดแย้ง แต่สร้างการมีส่วนร่วมแบบใหม่ สร้างพฤติกรรมใหม่ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นวิถีชีวิตประจำวัน