อ.ภัทรวรรณ ทองด้วง
อาจารย์
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

 อ.โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย

 

ประกายความคิดในวันเริ่มต้น


             เมื่อ ผอ.กัญพิมา มีนโยบายให้ครูสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงในแผนการสอน ครูภัทรวรรณยอมรับว่าทำไปด้วยความไม่เข้าใจ แต่ ผอ.กัญพิมา ใช้วิธีคอยๆ สอนครูในโรงเรียนให้เกิดความเข้าใจ หลังจากนั้นความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครูภัทรวรรณจึงค่อยๆ กระจ่างขึ้น ยิ่งเมื่อได้ออกไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนครูจากโรงเรียนอื่นๆ ก็ยิ่งเกิดความเข้าใจมากขึ้น จึงพยายามพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองในฐานะหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ต้องรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กระจ่างที่สุด ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถตรวจงานของเพื่อนครูได้อย่างถูกต้อง

แนวทางการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ มาจากพื้นฐานวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย หวือหวา และมองโลกในเชิงบวก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันตนเองจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในยุคกระแสโลกาภิวัตน์

การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


  • กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความกล้าคิด กล้าทำและกล้าแสดงออก
  • สร้างกิจกรรมจำลองบรรยากาศจากโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ให้นักเรียนได้นำไปวิเคราะห์ร่วมกับเพื่อนๆ
  • ได้ลงมือปฏิบัติจริง


หลัก 3 ห่วง



• หลักความพอประมาณ

พอประมาณกับทรัพยากรที่มีอยู่โดยพิจารณาจากความรู้ความสามารถของนักเรียนแต่ละคนการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอนการรู้จักนำสิ่งที่มีอยู่มาจัดให้เป็นระเบียบ มีระบบ เหมาะสมกับเวลา สถานที่ เหตุการณ์ ตามความพอประมาณไม่มากและไม่น้อยไป


• หลักความมีเหตุผล

รู้ว่าทรัพยากรแต่ละชนิดมีอยู่อย่างจำกัด มีจิตสำนึกและความตระหนักร่วมกันในการใช้ทรัพยากร มี
เหตุผลในการสร้างผลงานจากทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดคุณภาพ เกิดความสุข เกิดประสิทธิภาพ และ
ประสิทธิผล


• หลักการมีภูมิคุ้มกัน

เกิดภาวะของการระมัดระวัง ไม่พลาดพลั้ง รู้ว่าทำไมต้องทำ คาดคะเนได้ว่าทำไปแล้วจะเกิดผลอย่างไร มีการวางแผนการจัดกิจกรรมอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้




2 เงื่อนไข



• เงื่อนไขความรู้

มีความรู้ในการจัดกิจกรรมคณิตศาสตร์ให้เหมาะสมกับเวลา จัดกิจกรรมเสริมให้เหมาะสมกับวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งของที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับวัยของนักเรียน

• เงื่อนไขคุณธรรม

มีความเสียสละ ให้อภัย เอื้ออาทรแก่ทุกคน เกิดความเมตตาแก่นักเรียน อดทนในการถ่ายทอดความรู้ ถ่ายทอดวิทยาการอย่างรอบคอบ ยอมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

4 มิติ



• มิติด้านวัตถุ

มีการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างประหยัด คุ้มค่า รู้ประโยชน์

• มิติด้านสังคม

ตระหนักในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อความสุขของสังคมช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดสุข เป็นสังคมแห่งการช่วยเหลือ เอื้ออาทร

• มิติด้านสิ่งแวดล้อม

สามารถช่วยลดปริมาณสิ่งของที่ไม่ดี รักษาสภาพแวดล้อม

• มิติด้านวัฒนธรรม

เป็นการสืบสานวัฒนธรรมของความเอื้ออาทร

 

 ในการจับหลักคณิตศาสตร์ ถ้าแสดงออกมาให้เห็นเป็นตัวเลข เด็กทุกคนทำได้ แต่ถ้าเห็นโจทย์ที่เป็นตัวหนังสือที่เป็นโจทย์ลวง มักจะวิเคราะห์โจทย์ไม่แตก ทำให้ทำข้อสอบไม่ได้ ถ้าครูสังเกตก็จะเห็นว่าเด็กที่รู้จักหลักปรัชญากับเด็กที่ไม่มีพื้นฐานของหลักปรัชญาฯ แต่เรียนพิเศษมาจะแตกต่างกันตรงวิธีคิด ถ้าเป็นโจทย์ใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เด็กกลุ่มหลังจะทำไม่ได้เพราะแปลความหมายหรือตีโจทย์ไม่แตก

การสอดแทรก หลักปรัชญาฯ ครูจะสอดแทรกในทุกบทที่เรียน แต่ไม่สามารถสอดแทรกได้ในทุกคาบเรียน การใช้หลักปรัชญาฯ กับการเรียนคณิตศาสตร์จะทำได้ดีเมื่อเรื่องที่เรียนเป็นเนื้อหาในลักษณะของโจทย์ปัญหา


แนวทางในการปฏิบัติ


คุณธรรมนำวิชา


วิธีการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับ
นักเรียนชั้น ม.1 จะไม่เริ่มต้นด้วยการสอนว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และ 4 มิติอย่างไรเนื่องจากนักเรียนใหม่ที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียนจุฬาภรณฯ ทุกคนล้วนผ่านค่ายเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงมาแล้ว ดังนั้นจึงใช้ การค่อยๆ บ่มนิสัยเรื่องการปฏิบัติตนให้ตรงต่อเวลา แบ่งเวลาให้พอเหมาะและถูกต้องตามกาลเทศะ ด้วยการชวนพูด ชวนคุย เพื่อให้ผู้เรียนซึมซับเงื่อนไขของคุณธรรมก่อน เพื่อให้คุณธรรมนั้นนำสู่หลักของการปฏิบัติต่อไป


ในขณะที่ดำเนินการเรียนการสอนครูจึงต้องใช้ความอดทน และความพยายามในการนำกระบวนการเรียนรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ที่ผ่านการสังเคราะห์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ มาเน้นย้ำบ่อยๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจไปขณะที่กำลังเรียนรู้ยกตัวอย่างการสอนในเรื่อง“อนุพันธ์”เมื่อสอนทฤษฏีเสร็จแล้ว ผู้สอนจึงมาตั้งโจทย์โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานคิด เช่น หากนักเรียนมีที่ดินจำนวน 1 ไร่ ต้องการล้อมรั้วบ้าน และมีเงินอยู่จำนวน 100 บาท จึงให้นักเรียนวิเคราะห์และคำนวณออกมาว่ามีวิธีในการล้อมรั้วอย่างไรให้ได้พื้นที่มากที่สุด และประหยัดเงินมากที่สุด ซึ่งจะพบว่า “โจทย์” ของครูภัทรวรรณจะสอดแทรกการสอนเรื่องความพอประมาณ ภูมิคุ้มกัน ความมีเหตุมีผล เงื่อนไขความรู้และคุณธรรมแฝงอยู่ที่สำคัญคือครูภัทรวรรณ เน้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์เป็น โดยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานคิดคู่ขนานไปกับการเรียนสาระวิชา

อย่างไรก็ตามครูภัทรวรรณระบุว่า การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสอดแทรกในวิชาคณิตศาสตร์นั้น สำหรับตนแล้วสามารถนำมาสอดแทรกได้ทุกบทเรียน แต่ไม่ใช่ในทุกคาบเรียน เนื่องจากต้องคำนึงถึงความพอประมาณผู้เรียนเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากครูทุกคนในทุกวิชาต่างน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสอดแทรกในการสอนทั้งสิ้น หากครูแต่ละคนไม่มีความพอประมาณ ผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้นักเรียนรู้สึกเบื่อหน่ายและเกิดการต่อต้านวิธีการสอนเช่นนี้ได้ อีกทั้งการเรียนการสอนโดยสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มนักเรียน ม.1 และ ม.6 ก็มีความต่างกันอยู่มาก กล่าวคือ นักเรียน ม.1 ครูผู้สอนมีเวลาสอดแทรกเนื้อหาและโจทย์ได้มากกว่าการสอนนักเรียนชั้น ม.6 ที่เป็นเด็กโตกว่า การสอนจึงต้องเน้นเนื้อหาวิชาการเพื่อใช้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่สำคัญคือนักเรียนชั้น ม.6 สามารถวิเคราะห์ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขได้ดีอยู่แล้ว ครูผู้สอนจึงไม่จำเป็นต้องพูดเน้นย้ำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบ่อยครั้ง



ใช้โจทย์ปัญหาพาสู่ความเข้าใจ


เมื่อออกแบบแผนการเรียนการสอนแล้ว ครูต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกันด้วย กล่าวคือ การแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มตามหลัก “มิติสังคม” ในการร่วมกันศึกษาเนื้อหาในเอกสารก่อนส่งตัวแทนออกมาอภิปรายหน้าชั้นเรียน พร้อมเขียนรายงานสรุปนำปิดไว้ที่บอร์ด จากนั้นจึงจะทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนนักเรียนกลุ่มอื่นๆ ก่อนที่ครูจะเข้าไปสรุปเนื้อหาเกี่ยวกับกำหนดการเชิงเส้น เพื่อแก้ไขผลงานให้สมบูรณ์ โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะ ตัวอย่างเช่น ในการสอนสาระเพิ่มเติม แคลคูลัส โจทย์ปัญหากำหนดการเชิงเส้น คือปัญหาเกี่ยวกับการใช้หรือการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

“ครูจะตั้งโจทย์ปัญหาของกำหนดการเชิงเส้นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์โจทย์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพโดยการให้เหตุผล ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีเพื่อนนักเรียนคนอื่นจะร่วมอภิปรายว่าถูกต้องหรือไม่ โดยครูทำหน้าที่เสนอแนะเพิ่มเติม”

เมื่อผู้เรียนวิเคราะห์เป็น ก็จะเกิดความละเอียด ช่างสังเกต คิดวางแผนต่อการเรียน การดำเนินชีวิตเพิ่มมากขึ้น เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าจะสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ครูภัทรวรรณระบุว่าหลังจากที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการสอนพบว่า นักเรียนรู้จักคิดมากขึ้น เมื่อพบโจทย์คณิตศาสตร์ที่ยากๆ หรือโจทย์ลวง นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์และไม่หลงทางกับโจทย์ลวงได้มากขึ้น การมีพื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์ควบคู่กับความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และผ่านการฝึกฝนให้รู้จักการคิดวิเคราะห์ จะผ่านโจทย์ยากๆ ไปได้ ต่างจากเด็กที่เก่งคณิตศาสตร์อย่างเดียวโดยไม่รู้จักหลักปรัชญาฯ ที่ไม่สามารถวิเคราะห์โจทย์ยากๆ ได้





             “เด็กที่เรียนคณิตศาสตร์เก่งๆ ทุกคนเมื่อเห็นตัวเลขเขาก็จะทำได้ แต่หากเห็นโจทย์ที่เป็นตัวหนังสือ เป็นโจทย์ลวงจะตีโจทย์ไม่แตก ซึ่งหมายถึงทำข้อสอบไม่ได้นั้นเอง ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของเด็กที่คิดวิเคราะห์ไม่เป็น แม้ว่าเด็กคนดังกล่าวจะผ่านการเรียนพิเศษมามากมาย ก็จะทำได้เฉพาะข้อที่เห็นและที่ฝึกทำบ่อย ซึ่งเป็นโจทย์ที่เคยผ่านตา เข้าหลักคนเราเมื่อเห็นอะไรบ่อยๆ ซ้ำๆ จะเกิดการจดจำขึ้นโดยอัตโนมัติ หากเป็นโจทย์ใหม่ที่ไม่เคยผ่านสายตามาก่อน เด็กกลุ่มนี้จะทำไม่ได้เพราะแปลความหมายไม่ออก”

การบูรณาการวิชาคณิตศาสตร์ของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี อาจแตกต่างจากโรงเรียนอื่นตรงที่ทางโรงเรียนไม่ได้ขาดแคลนครูดังนั้น การบูรณาการจึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้เรียน โดยที่ครูเจ้าของสาระวิชาที่นำมาบูรณาการไม่ได้ให้คะแนนในส่วนของการ การบูรณาการ แต่ใช้เป็นช่องทางการเพิ่มสีสันให้กับการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะอื่นๆ เพิ่มเติมเช่น มีการให้ผู้เรียนวาดภาพประกอบเนื้อหา หรือ เขียนรายงานวิเคราะห์ส่งครู เพื่อเป็นการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนไปอีกขั้น