เกษณี ซื่อรัมย์
พี่เลี้ยง
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

เรียนจบทางด้านการบัญชี แต่อาชีพแรกของพี่เก๋นั้นกลับเป็นสาวโรงงานแถวสมุทรสาครซึ่งไม่ได้ตรงกับ สิ่งที่จบมานัก จึงเริ่มค้นพบว่าไม่ใช้วิถีทางของตนเอง จึงออกมาหางานใหม่และจากการที่เคยเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมูลนิธิอาสาสมัคร เพื่อสังคม (มอส.) จึงมีพี่ๆ แนะนำให้ไปเริ่มทำงานกับสมาคมป่าชุมชนอีสานเมื่อกว่า 7 ปีที่ผ่านมา จากการมาช่วยงานในสำนักงาน งานเอกสารต่างๆ และมีโอกาสได้ลงพื้นที่สัมผัสวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ผูกพันกับป่าชุมชนใน พื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัด จึงเริ่มพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนสนุกสนานอยู่ในตัว เข้าใจธรรมชาติของเด็ก พี่ๆ ในสมาคมป่าชุมชนอีสานจึงให้เริ่มทำงานกับคณะกรรมการป่าชุมชนโนนใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อพัฒนากระบวนการกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าโนนใหญ่ตั้งแต่เริ่มแรก กว่า 3 ปีที่คลุกคลีกับกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าโนนใหญ่ในการพัฒนากลุ่มเยาวชนด้วยกระบวน การละครจนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จึงเริ่มถอนตัวเพื่อมาช่วยพัฒนาพื้นที่อื่นต่อ “เรามองว่าชุมชนเขาช่วยตัวเองได้แล้ว ยืนด้วยตัวเองได้แล้ว กลุ่มเยาวชนก็โตขึ้นเป็นที่รู้จักและมีคนอื่นเข้ามาช่วยเพิ่มมากขึ้น เราจึงน่าจะถอนตัวเพื่อไปช่วยพื้นที่อื่นต่อได้แล้ว” 

 

ป่าชุมชนหนองเยาะ จังหวัดสุรินทร์จึงเป็นพื้นที่ต่อมาที่พี่เก๋ลงมาช่วยพัฒนากระบวนการกลุ่ม เยาวชนอย่างจริงจังร่วมกับพี่โชติ เจ้าหน้าที่สมาคมป่าชุมชนอีสานอีกคนที่ลงมาตั้งหลักปักฐานที่ชุมชนแห่งนี้ “ลงมาช่วยพี่โชติเพราะพี่โชติต้องทำงานหลายอย่างมีหลายโครงการในชุมชน และก็อยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ นอกจากการจัดค่ายเยาวชนกับสิ่งแวดล้อม จึงลงมาช่วยพัฒนากระบวนการกลุ่มเยาวชนผ่านกระบวนการละคร ที่นี่มีประวัติศาสตร์มานานและค่อนข้างจะเข้มข้นอยู่ในตัว จึงมีเรื่องราวให้ได้บอกเล่าได้อีกมาก” ด้วยพลังความเชื่อมั่นของประวัติศาสตร์ป่าชุมชนหนองเยาะที่ต้องได้รับการบอก เล่าถ่ายทอดไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา และความเชื่อส่วนตัวที่ว่าเราทุกคนต่างต้องมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มิตรภาพจึงจะก่อเกิด กว่า 3 ปีที่ผ่านมาจึงได้ลงมาทำกิจกรรมกับเยาวชน ซึ่งทำตามธรรมชาติของเด็กๆ ค่อยเป็นค่อยไป เน้นการพูดคุยกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะเป้าหมายหลักที่แท้จริงคือ เพื่อพัฒนากระบวนการคิดของเด็กๆ ให้เติบโต รู้จักชุมชนของตนเอง รักและภูมิใจในชุมชน เกิดภูมิคุ้มกันที่ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดต่อไปก็ไม่ลืมชุมชนความเป็นตัวตนของ ตัวเอง พี่เก๋เชื่อมั่นว่า ณ วันใดวันหนึ่งเยาวชนเหล่านี้จะหวนกลับมาบ้านเกิดของเขาเอง กระบวนการที่ทำกิจกรรมกับเด็กๆ จึงเน้นให้เขาได้เรียนรู้ ได้ซึมซับชุมชนของเขาด้วยตัวของเขาเองเป็นหลัก“เราเป็นคนนอก ลึกๆ สิ่งที่เราทำได้จริงๆ คือเป็นเบ้าหลอมหนึ่งที่เด็กๆ เขาจะได้เรียนรู้ กลุ่มเยาวชนจะเข้มแข็งได้ชุมชนต้องจัดการตนเองด้วย เราเพียงช่วยให้เครื่องมือในการเรียนรู้”