นางศิวาพร ศรีวราพงศ์
ครู
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

          ครูประจำชั้น  ม.1 ร่วมกันวางแผนออกแบบการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ให้กับนักเรียนทุกคน  โดยเลือกการเรียนรู้แบบโครงงาน ประเภทสำรวจ ซึ่งพิจารณาดูแล้วว่าเหมาะสมกับนักเรียนของเรามากที่สุด  ครู จัดทำแผนการสอนแบบบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งให้คำแนะนำกับนักเรียน  ส่วนนักเรียนจะเป็นพระเอก นางเอก  ของการเรียนรู้นี้ เราเริ่มต้นที่ให้นักเรียนสำรวจทรัพยากรในบ้าน แต่เป็นทรัพยากรที่เลี้ยงชีพได้ ไม่สูญเสียเงินทองซื้อมา ประหยัดเงินทอง และสามารถเผื่อแผ่ไปยังผู้อื่น   ลำดับแรก คือ รู้ตน

 

          นักเรียนนำเสนอคุณครูเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  นักเรียนคิดถึงพืชผัก ปลา เป็ด ไก่และอื่นๆ ที่มีอยู่ที่บ้านของนักเรียนเอง  นักเรียนคิดต่อไปว่าหากนำทรัพยากรเหล่านี้มาแปรรูปจะเป็นอย่างไรและก็เป็นที่มาของหัวข้อโครงงานที่หลากหลาย เช่น  พริกแกง  ปลาเกลือ  แกงขี้เหล็กปลาย่าง แกงส้มผักบุ้งปลาช่อน ไข่สมุนไพร น้ำใบย่านาง น้ำใบเตย 
น้ำมะกรูด น้ำพริกผักพื้นบ้าน เป็นต้น  ครูประจำชั้น นำนักเรียนเรียนรู้โครงงานตามกระบวนการขั้นตอน  ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์มาช่วยอีกแรงโดยพานักเรียน ทำสถิติจากการทำบัญชีครัวเรือน  นักเรียน(เป็นกลุ่ม) ได้มีเวทีการนำเสนอโครงงานสำรวจทรัพยากรภายในบ้านของตนเอง ในวันบูรณาการของโรงเรียน มีพี่ๆ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2-6  มาเป็นผู้ชมและให้ข้อเสนอแนะ จัดนำเสนอาหารแปรรูปที่ได้จากทรัพยากรในบ้านของตนเองและเพื่อนๆ ในกลุ่ม  มีการใช้ใบมะละกอ ใบตอง ใบมะพร้าวแทนผ้าปูโต๊ะ ใช้กะลามะพร้าว  ใช้ใบตองที่เย็บด้วยไม้กลัดที่ทำจากไม้ไผ่แทนภาชนะถ้วยชาม น้อง ม.1 เล่าให้ พี่ฟังว่า “ ที่บ้านมี ข่า ตะไคร้ กระชาย มะกรูด หอม กระเทียม ที่เป็นองค์ประกอบของพริกแกง ซึ่งไม่เคยได้นำมาใช้ประโยชน์ แต่จะใช้วิธีไปหาซื้อมาครั้งละ 5-10 บาท  เพื่อนำมาทำแกงในแต่ละครั้ง  แต่ขณะนี้ได้นำ ข่า ตะไคร้ กระชาย มะกรูด หอม กระเทียม ที่ปลูกไว้มาตำ กลายเป็นพริกแกงแทน นอกจากนี้ยังนำ ผัก และ ข่า ตะไคร้ กระชาย มะกรูด หอม กระเทียม มาปลูกที่โรงเรียน บริเวณหน้า อาคาร 1 ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ เรียกว่า เส้นทางพริกแกง
ทำให้รู้จักพริกแกง ไม่ต้องไปซื้อหา  และยังประหยัดเงิน ได้ 5-10 บาท อีกด้วย  ” ในลำดับสอง รู้บริโภค นักเรียนนำพืชผักสวนครัวที่มีอยู่ที่บ้านอยู่แล้วจากเดิมที่ไม่ค่อยนำมาใช้ประโยชน์ก็นำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น  ลำดับสาม รู้ผลิต  นักเรียนนำพืชผักสวนครัวที่มีอยู่ที่บ้านมาปลูกในโรงเรียน บริเวณหน้าอาคาร 1 ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ เรียกว่า  “เส้นทางพริกแกง”


          จากการเรียนรู้ครั้งนี้ทำให้ครูและนักเรียนค้นพบสิ่งต่างๆ เริ่มที่นักเรียนก่อน  พบว่าค่าใช้จ่ายลดลง(โดยการเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย)  จากการที่นักเรียนนำทรัพยากรในบ้าน ประเภทพืชผักสวนครัว พืชผักสมุนไพร  เช่น ข่า ตะไคร้  พริก  มะเขือ  ฯลฯ  นำมาประกอบอาหาร โดยไม่ต้องหาซื้อมา ทำให้ประหยัดเงิน  อาหารแต่ละมื้อสามารถตอบได้ว่า  ใช้จ่ายจริงเป็นเงินกี่บาท  โดยคิดมูลค่าจากที่ใช้ทรัพยากรภายในบ้าน  นักเรียนมีความภูมิใจ  เนื่องจากปลูกพืชเอง  เฝ้ามองการเจริญเติบโตของสิ่งที่ปลูก เวลาที่รดน้ำ  พรวนดิน  มองเห็นความงามของสิ่งที่ปลูก  ทำให้เกิดความสุข  นักเรียนค้นพบการพึ่งตนเอง  นักเรียนรู้ประมาณตน มองเห็นว่าสิ่งที่ทำ  ทำให้พึ่งตนเองได้  นักเรียนรู้เหตุผลที่ใช้ตัดสินใจ  นำเอาแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวัน 


          ครูได้เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงไปพร้อมกับนักเรียน  ครูหันกลับมามองตนเอง และเลือกใช้วิธีเดียวกับนักเรียน เช่น  ปลูกผักบุ้ง  ผักชี  กระเพราะ  พริก  โหระพา  แทนการซื้อ ครูได้เรียนรู้และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในชีวิต และนำมาออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนทุกคนด้วย