นายประดิษฐ์ จันทร์มาก
นักเรียน โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

นายประดิษฐ์  จันทร์มาก “ฟิวส์”



มุมหนึ่งของชีวิต
ฟิวส์ แนะนำตัวเองและครอบครัวสั้นๆ ว่า ฟิวส์ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ในห้องพักแถวๆ หลักสี่ พ่อและแม่แยกทางกัน โดยที่แม่อยู่ต่างประเทศ พ่อมีครอบครัวใหม่ แต่ก็ยังคอยดูแลฟิวส์อยู่ บ้านพ่ออยู่สะพานใหม่ไม่ไกลจากพระราม 4 ไปมาหากันได้


ฟิวส์ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เป็นดีเจสำรองอยู่ที่คลื่น virgin hits เวลาจึงมีไม่มากนัก บางงานต้องปฏิเสธไป ความใฝ่ฝันของฟิวส์อยู่ที่การเป็น ครู ดีเจ นักข่าวบันเทิง บวกจิตอาสาเข้าไปด้วย จิตอาสาเข้าได้กับทุกอาชีพ เป็นทนายก็มีจิตอาสาได้ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาชีพ เป็นหมอก็ทำจิตอาสาได้ อย่างหมอไอรินที่ตรวจตาให้ฟิวส์ ตอนนี้เขาเกษียณไปแล้วก็ยังทำงานจิตอาสา ซื้อข้าวซื้อของมาแจกทุกวันศุกร์ ถ้าฟิวส์ว่างก็จะเข้าไปช่วยแล้วก็มาเรียน ฟิวส์ได้เห็นแบบอย่างดีๆ เยอะ


แรงบันดาลใจที่มาทำงานจิตอาสาเพราะเคย ทำมาก่อน และอยากทำต่อไปเรื่อยๆ ในชมรมก็มาเรื่อยๆ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่ามันเป็นจิตอาสา ยังไม่เข้าใจคำว่าจิตอาสาดี พอได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิกระจกเงาก็ทำให้เข้าใจเรื่องจิตอาสา อ๋อที่เราทำมานี่คือจิตอาสาหมดเลย โยงได้หมดเลย


ประสบการณ์และความประทับใจ

หมอน้อยในโรงเรียน
ฟิวส์ เล่าให้ฟังว่า การเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ได้จากเพื่อนกับที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน อยู่บ้านก็ทำงาน การบ้านเป็นปกติ แต่ตรงนี้จะได้จากโรงเรียนคือ ตั้งแต่เข้า ม.1 ที่นี่ก็มีแต่คนชวนให้ไปทำงาน ก็เลยรู้สึกทำงานแล้วสบายใจมากกว่า ก็เข้าชมรมหมอน้อย แต่ก่อนไม่ใช่ชมรมพยาบาล ก็มีรุ่นพี่มีงานรับพิเศษ บริจาคโลหิต ก็ไปช่วยงาน ปลูกฝังมาเรื่อยๆ


กิจกรรม ของชมรมหมอน้อยจะมีการสอนน้องให้ใช้ยาให้เป็น การทำแผล กิจกรรมตรวจสุขภาพ “ตรงนี้ก็จะได้ช่วยงานจิตอาสา คือ ขึ้นไปช่วยงานตรวจสุขภาพในหอประชุม งานบริจาคโลหิต กิจกรรมตรวจสุขภาพครู แต่ก่อนไม่เคยได้วางแผนเอง เดี๋ยวนี้ต้องมานั่งวางแผนจัดกิจกรรมจัดงานแต่ละงานว่าต้องจัดยังไง มาแนวไหน เป็นการสอนแบบสืบรุ่นพี่รุ่นน้อง ก็จะมีรุ่นพี่สามสี่รุ่นที่จบจากนี่ไปแล้ว ตอนนี้มีรุ่นหนึ่งที่กำลังจะจบจากนี่ไป ตอนนี้อยู่ ม.5 ขึ้น ม.6 ปีนี้ ก็จะมีรุ่นน้องต่อๆ ไปอีก” ฟิวส์ในปัจจุบันทำหน้าที่เป็นฝ่ายวิชาการของชมรม ซึ่งจะทำเกี่ยวกับเอกสาร ดูกิจกรรมดูงานเสนอที่จะนำเสนอให้อาจารย์ “ตอนนี้มีโครงการอยู่หนึ่งโครงการที่จะทำ ออกแนวค่าย ค่ายชมรมอาจจะมีจิตอาสาพ่วงเข้าไป กำลังผ่านกระบวนการพิจารณาอยู่”


สิ่งที่ได้จากชมรมหมอน้อย ฟิวส์บอกเราว่า มันไม่ได้แค่ความสุข มันได้เป็นการฝึกงาน เอาสมองของตัวเองที่มีอยู่ เอาพรสวรรค์ของตัวเองที่มีอยู่ออกมาใช้มากกว่า แต่ก่อนไม่รู้ว่าตัวเองเก่งทางด้านบริหารจัดการ เพิ่งมารู้ตัวตอนประมาณ ม.3 ขึ้น ม.4 อาจารย์เขาบอกว่า เราทำเป็น แต่ใจมันไม่อยากเรียนบริหาร อยากจะเข้าครุศาสตร์ พอขึ้น ม.3 ก็มีมูลนิธิข้างนอกเข้ามา ก็ลองทำดู พอกระจกเงาก็มีมูลนิธิอื่นเข้ามาเยอะ ช้างเพื่อนแก้ว สยามกัมมาจล แต่บางทีก็ปฏิเสธบ้าง เพราะว่าเข้ามาพร้อมกัน ก็ต้องเลือก เราอยากทำอย่างไหนเราก็เลือกทำ อย่างช่อแก้ว เลี้ยงเด็ก เลี้ยงบ่อยแล้ว ไม่เอา ไปสร้างฝายดีกว่า เลี้ยงเด็กไปเจอบ่อยแล้วเดี๋ยวจะหงุดหงิดเอา ปกติเป็นคนอารมณ์ร้อนอยู่แล้ว พอมาทำจิตอาสาอาจจะช่วยทางด้านอารมณ์ได้นิดหนึ่ง”



คนเข็ญข้าวในโรงพยาบาล
ฟิวส์เล่าต่อไปว่า “การ ทำงานจิตอาสาในโรงบาล ก็รู้สึกมัน เรามาอยู่กับเด็ก อย่างเราโตแล้ว บางทีพูดภาษาเขาไม่รู้เรื่อง เขาก็คุยแบบเราไม่รู้เรื่อง ทำให้ต้องลดอารมณ์ลงไปบ้าง มันช่วยได้เยอะ บางทีมากๆ ก็หลุดเหมือนกัน พอหลุดแล้วแก้กลับมาได้ น้องเขาก็ตกใจเล็กน้อย แก้กลับมา น้องก็มาตามต่อ”


ฟิวส์เป็นคนหนึ่งที่ไปโรงพยาบาลบ่อยมาก เขาให้เหตุผลว่า มันก็ไม่ใช่เด็กอย่างเดียว บางทีได้ทำอย่างอื่นด้วย มันมีพวกทำกับข้าว เข็นกับข้าว ช่วงหลังๆ ก็ไม่ได้ขึ้นหวอด ก็ไปหมกอยู่ในโรงครัวบ้างเล็กน้อย ตอนนี้ถูกแซวว่าไปกินข้าวฟรี บางทีก็ตักให้คนไข้ แล้วมันเหลือ พี่ที่คุมอยู่บอกว่าตักมากินสิ มันก็ข้าวฟรีหนึ่งมือ บางทีกินได้ 2 มื้อ เย็นกับกลางวัน ถ้าไปเร็วหน่อย ถึงโน่น 11 โมง ได้แล้วมื้อนึง แล้ว 4 โมงอีกมื้อหนึ่ง กลับบ้านไม่ต้องกินข้าว ประทับใจส่วนตัว การเข็นรถเข็นเห็นเขาเข็นกันง่ายๆ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ มันหนักและเหนื่อย ที่โรงพยาบาลรถเข็นมันแบบ ขลึก ขลึก (เสียงประกอบ) ขึ้นสะพานลงสะพาน มันไม่เหมือนโรงพยาบาลเอกชนที่มันปื๊ดเดียวกดตู้ให้มันขึ้นไป แต่นี่มันต้องเข็นข้ามสะพาน มันต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา เผลอแป๊บรถไหลไปเลย ข้าวกระจุยกระจาย


ฟิวส์ เล่าประสบการณ์หลุดๆ เกี่ยวกับการเข็นรถแจกข้าวของตนเองว่า เคยอยู่ครั้งหนึ่ง แต่มันก็ไม่กระจุยหกอะไรเละเทะ น้ำแกงจืดมันก็กระเด็น ฝึกความอดทน ฝึกสมาธิควบคุมว่าต้องไปตรงนี้นะ ต้องตื่นตัวตลอดเวลาบาง ทีเผลอหลงหวอดบ้าง เข็นข้าวส่งผิดหวอด บางทีแบบไป ม.6 ก. ขึ้น 7 ก.บ้าง ขึ้นลิฟต์แล้วกดเกิน รถเข็นข้าวไปได้ทีละคัน ตอนนั้นมันมีญาติอยู่ 7 ก. เราก็อยากส่ง 7 ก. แต่รถมัน 6 ก. ก็ไม่ได้อ่านรถ ก็ขึ้นไป 7 ก.ไปเดินแจกแต่ว่าชื่อห้องไม่ตรงก็ต้องไปไล่เก็บแล้วลงมาแจกข้างล่างใหม่ เป็นเรื่องที่สนุก มัน



ครู..ผู้หนุนเสริม
เพื่อนๆ ในชมรมมี 8-9 คน ตอนนี้ก็เริ่มห่าง พอขึ้น ม.ปลายงานมันเยอะ เมื่อก่อนไปครบบ้างไม่ครบบ้างแล้วแต่จะว่าง ฟิวส์ไปบ่อยที่สุด อีกอย่างหนึ่งก็คือได้เป็น portfolio เกียรติบัตรจากกระจกเงาหลายใบแล้ว มูลนิธิเดียว 4-5 ใบถือว่าเก่ง ไม่ใช่แรงจูงใจที่จะทำ เพิ่งมารู้ทีหลังว่า portfolio ต้องใช้เข้ามหาลัย แต่ก่อนไม่รู้ ทำตามความชอบของเรา ไม่รู้ว่าจะได้เกียรติบัตร ไปๆ มาๆ เกียรติบัตรมาเยอะมาก ตั้งแต่ ม.1 ยัน ม.4 ผมมีเกียรติบัตร 24 ใบ มันช่วยอยู่เหมือนกัน ตอน ม.4 ผมเกือบเข้าที่นี่ไม่ได้ ต้องเอางานนี้มาสู้กับรองวิชาการ ทำงานอย่างนี้มันเป็นประโยชน์ต่อเรา แต่บางทีถ้ามองในมุมผู้ใหญ่ที่ไม่มีวิสัยทัศน์ทางด้านนี้ เขาคงไม่เข้าใจตรงนี้ แต่ว่าเขาคงต้องช่วยเรา เพราะว่ามันเป็นงานส่วนหนึ่งของโรงเรียนเหมือนกัน มีอาจารย์หลายคนที่ช่วย อ.อาจารย์สุวรัตน์ เชาวนปรีชา คนนี้เปรียบเสมือนแม่คนที่สอง อ.ประดิษฐ์ ....................เปรียบเสมือนพ่อคนที่สอง สองคนนี้จะดูแลควบคู่กัน อ.ประดิษฐ์จะกวดขันทางด้านวิชาการ คนนี้อาจจะด้านวิชาการบ้าง ด้านกิจกรรมบ้าง ถ้าหากสองคนนี้ถ้าเปรียบกับพ่อแม่ผมว่าเขาน่าจะดูแลดีกว่าพ่อแม่ผมนะ คือเขาคอยให้กำลังใจเสมอ มีอะไรก็คุยกับเขาได้ทุกเรื่อง เรื่องเงินก็คุยกับเขาได้ เขาเป็นกันเองมาก


ถามว่า อาจารย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เข้ามาทำงานจิตอาสาแบบนี้หรือไม่ ฟิวส์บอกตรงไปตรงมาว่า เป็น เพราะตัวเราด้วย ไม่ใช่ที่อาจารย์อย่างเดียว ต้องคิดดูว่าตัวเราพร้อมที่จะไปทำสิ่งตรงนี้หรือไม่ ความหมายของจิตอาสา คือ จิต ใจบวกสิ่งที่เราอยากทำ ใจที่อยากทำ (แต่ถ้าโรงเรียนไม่เปิดโอกาสให้ มันก็ไปข้างนอกได้ยาก หรือไม่) มันก็คือส่วนหนึ่งนะครับ คนเราถ้าอยากทำจริงๆ มันก็ร้อยทั้งร้อยต้องดั้นด้นหาให้ได้ มันอยู่ที่ตัวเราด้วย แต่ถ้าโรงเรียนสนับสนุนมันก็เป็น backup ยิ่งขึ้นไปอีก สองคนนี้จะช่วยเป็น backup ให้ เวลาไปทำงานมาเขาก็จะถามว่าเป็นยังไงบ้าง เขาจะให้เขียนให้เขาดูว่าได้อะไรจากวันนี้ เหมือนกับเราถอดบทเรียนทุกวันอยู่แล้ว แต่ก่อนจะทำเป็นกระดาษให้เพื่อนเขียนวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ฟิวส์ก็จะไปเขียนของเพื่อน เพื่อนก็จะเขียนของฟิวส์ ต่างคนต่างเขียนเดี๋ยวเอาไปเปิดที่บ้าน



การเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง

จิตอาสา...ให้ความรู้ใหม่
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฟิวส์ มี ทางด้านอารมณ์ แต่ว่าทางด้านความรู้ก็อาจจะได้จากโรงพยาบาลบ้างเป็นบางโรค โรคนี้ต้องทำยังไง การทำแผลผ่าตัดใหม่ๆ สดๆ มันจะต้องทำยังไง บาง ทีไปทำงานแบบนี้พยาบาลเขาทำแผล เราเป็นคนชอบ อยากรู้อยากเห็นอยู่แล้วก็เดินเข้าไปดู พยาบาลบางคนเขาก็มีมนุษยสัมพันธ์เขาก็บอกอันนี้ทำแบบนี้นะ ถ้าแผลมันไม่ใหญ่มากเขาก็ให้เราช่วยทำบ้าง ช่วยหยิบโน่นหยิบนี่ แต่ไม่ได้ทำแผล แต่เรารู้ว่าแผลเย็บมาสดๆ มันเป็นแบบนี้


ความ แตกต่างของการทำงานที่โรงพยาบาลกับห้องพยาบาลโรงเรียน ในโรงเรียนจำกัดความรู้ว่าตัวนี้ใช้ยาอะไรบ้าง แต่ในโรงพยาบาลจะไปเจอตัวยาหลากหลาย บางทีในห้องพยาบาลมันไม่มียาปฏิชีวนะ ถ้าไปโรงพยาบาลเห็นเด็กกินยาแปลกๆ เราถามเขาได้ เขาก็บอกว่าตัวนี้ชื่อนี้ ชื่อสามัญเป็นแบบนี้ มันมีของมูลนิธิช่อแก้วเข้ามา ผมก็ไปทำในโรงพยาบาลเอกชนบ้าง ก็ไปศึกษาว่าแพทย์เป็นยังไง ได้ดูวิธีเจาะน้ำเกลือ เจาะตรวจเลือด เจาะตรวจ DNA ทำยังไง ได้ความรู้เยอะแต่ไม่ได้เอามาใช้ ถามว่าไม่ได้จบหมอเจาะเลือดได้ไหม เจาะได้ เจาะเป็น


ความเจริญเติบโตทางอารมณ์
ตอนที่พี่เขามาเสนอโครงการก็ดูรูปแล้วรู้สึกแบบว่า เฮ้อ มันจะสนุกไหมเนี่ย ไปทำอะไรกับเด็กพวกนี้แต่ที่จริงมันพอไปถึงแล้วมันก็ไม่ใช่ว่าจะป่วยนอนนิ่งๆ บางคนก็เล่นกับเราได้ ยิ้มแย้มได้ เด็ก สมัยนี้พัฒนาการมันเร็ว กวนๆ ก็มีเล็กน้อย อย่างบางคนเขาถามว่าอันนี้ใช้สีอะไร พอเราเสนอไป ไม่เอา หนูชอบสีนี้ บางทีก็คิดในใจมันจะมาถามทำไม ก็ไม่ได้ว่าอะไรน้องเขา ตามใจแล้วกันเดี๋ยวพี่ทำสีให้ อยากได้สีอะไรว่ามา เด็กบอกไม่รู้ก็ต้องทำ ต้องเอาใจ ตอน นี้มีน้อง ๒ คน ลูกคนละแม่ ก็อาจจะโหดกับมันบ้างเล็กน้อย การดูแลน้องที่โรงพยาบาลกับการดูแลน้องที่บ้านไม่เหมือนกัน คนละภาพพจน์กันเลย ความอดทนใช้ได้บ้างแต่ บางทีมันเกิน น้องผมมันเกินความอดทนของผม ผมก็เหวี่ยงบ้าง วีนแตกบ้างเล็กน้อย เอาเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ใช้ไป 80 แต่อีก 20 นี่ก็ไม่ใช่ ๒๐ เบาๆ แต่เป็น 20 แรงๆ บางทีเขาเข้าโรงพยาบาลแบบนี้ ก็เข้าใจว่าไม่สบาย เราก็เหนื่อย เราเรียนเสร็จแล้วต้องไปเฝ้า


สิ่ง ดีๆ ที่ได้ ทั้งเพื่อนทั้งตัวเอง มันก็ทำนองเดียวกับฟิวส์ อย่างตุ๋ม เป็นเพื่อนสนิทเหมือนกัน แต่ก่อนตุ๋มเป็นคนที่ไม่ชอบคนจู้จี้จุกจิก แต่พอไปอยู่กับเด็ก เด็กจู้จี้เขาก็ไม่ว่า เขาก็ดีขึ้น เขาเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมเป็นแบบนี้



ทดแทนบางอย่างที่ขาดหาย
ถาม ว่ามีความภาคภูมิใจไหม มันก็ไม่ใช่ว่าจะได้รับคำชมจากอาจารย์เยอะ ก็มีความภูมิใจเล็กน้อย แต่มันสนุก ใจมันอยากทำ เราได้ทำตามอย่างที่ใจอยากทำแค่นี้มากกว่า ที่อยากทำเพราะความสุข เป็นคนชอบทางด้านนี้อยู่แล้ว และยิ่งเป็นคนที่อยากเรียนหมอแต่ตอนนี้ไม่มีโอกาส เรียนศิลป์ภาษาเข้าหมอไม่ได้ แต่ได้ไปศึกษาตรงนี้แทนก็คือได้ไปศึกษาตามโรงพยาบาลแทน เหมือนกับเปิดโอกาสให้เราศึกษาแพทย์ไปด้วย โดยที่เราไม่ต้องไปเรียนแพทย์แต่เราได้วิชาแพทย์มา เรายังดูแลคนอื่นได้ข้างนอก เราก็สามารถเอาไปดูแลคนที่บ้านได้ น้องเพิ่งออกจากโรงพยาบาลมา เป็นไข้หวัด 2009 ให้พ่อซื้อยาเอง ไม่ให้พาไปหาหมอ แต่ว่ายาที่กินฟิวส์ไม่รู้ว่ามียาน้ำด้วย ก็เลยให้ซื้อแบบแคปซูลแล้วมาละลายน้ำ ก็จะให้กินแล้วก็ชัก เลยบอกให้ส่งโรงพยาบาลเถอะ แต่พอไปถึงโรงพยาบาลนอนแค่คืนเดียวออก เพราะไข้หาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะให้กินยาดักไว้แล้ว ตรงนี้ก็ได้จากที่โรงพยาบาลมาเหมือนกัน



คิดจะทำอะไรในอนาคต
เชื่อหรือไม่ว่า ในหัวของหนุ่มน้อยคนนี้มีแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้น เขามีโครงการต่างๆ ตุนไว้ในสมองถึง 12 โครงการ ยกตัวอย่างเช่นโครงการค่ายชมรมหมอน้อยซึ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วโครงการธรรมเยาวชนเริ่ม ไปได้แป๊บเดียวก็หยุดเพราะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ มันต้องสร้างโน่นสร้างนี่สารพัด แล้วอีกอย่างหนึ่งโรงเรียนเราไม่พร้อมที่จะรับตอนนี้ หอประชุมปรับปรุงอยู่ อันที่สามจะเป็นโครงการจิตอาสาเพื่อน้องร่วม กับมูลนิธิกระจกเงา กะว่าเขียนโครงการเสร็จดึงมูลนิธิกระจกเงาเข้ามา เหมือนกับให้เครดิตมูลนิธิ ให้มูลนิธิเป็นส่วนควบคุมผู้ที่จะเข้าไปทำจิตอาสา อาจจะได้โรงพยาบาลเด็ก โครงการช่อแก้ว เป็นโครงการค่ายของฟิวส์เอง ค่ายช่อแก้วเป็นค่ายหาทุนพาเด็กกำพร้าไปเที่ยวที่เขาอยากจะไป แล้วก็มีค่ายที่ตอนนี้กำลังเร่งทำ คือ ค่ายจิตอาสาที่ จะออกไปสร้างฝายที่แพร่ ยังหาสถานที่ลงไม่ได้ หลักการและเหตุผลเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่หาสถานที่ ที่พัก งบประมาณตอนนี้ยังหาไม่ได้ งบประมาณของชมรมก็มีอยู่บ้างเล็กน้อยแต่ว่าเดี๋ยวจะทำเสนอเข้า สสส. ก็อาจจะรอ ผอ.อนุมัติ ดูงบโรงเรียน


โครงการ เยอะแยะขนาดนี้ เพื่อนที่ช่วยทำก็มี “แคท” คนนี้จะคะยั้นคะยอให้ทำโครงการ แคทเป็นจิตอาสาคนหนึ่ง เขาไปทำได้ไม่กี่ครั้ง เขาต้องให้เวลาเรียนเยอะ เรียนภาษาญี่ปุ่น ต้องใช้ตัวอักษรใหม่ เขาจะมีสมุดอยู่เล่มหนึ่งจะคอยเช็คกิจกรรมที่เขาทำ เขาจะคอยช่วยฟิวส์ผลักดันโครงการ เป็นคนที่คอยเสนอความคิด เขาจะเป็นคนที่เข้ากับเด็กได้ดี เป็นคนตามน้ำ พอเขาไปทำครั้งแรกก็มีน้องติดแล้ว


การ ที่มูลนิธิหลายมูลนิธิจะเข้ามาต้องทำอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเข้ามาทำครั้งเดียวแล้วก็หายไป ปีใหม่จึงจะเข้ามาอีก ฟิวส์แนะนำช่องที่เข้าไปหาหรือขอความร่วมมือได้ เช่น อ.รัชนี อ.วรพจน์ (สุขศึกษา) อ.ภานุพัฒน์ หมวดวิทย์ เขาจะรับผิดชอบเรื่องค่ายต่างๆ ที่จะพาเด็กออกไป โครงการที่มูลนิธิกระจกเงาเสนอเข้ามามักจะชนกับงานของโรงเรียน อย่างนี้เขาก็ต้องเอางานข้างในก่อน ไม่สามารถที่จะรับข้างนอกได้ เสียโอกาสในการทำงานอย่างต่อเนื่อง


สิ่ง ที่ต้องปรับปรุง อยากให้ดูคิวโรงเรียนด้วย และการที่จะดึงวัยรุ่นเข้ามาร่วมก็ต้องจัดค่าย ยิ่งค่ายฟรีเด็กยิ่งอยากไป ยิ่งถ้ามาสนับสนุนโครงการที่ฟิวส์จะทำก็ยิ่งดี กับ เพื่อนที่ยังไม่เคยเข้ามาทำงานจิตอาสา บังคับเขาไม่ได้อยู่แล้ว อาจจะต้องหาอะไรมาดึงดูด เช่น เกียรติบัตร อย่างเด็ก ม.4 ปีนี้ปรับการเข้ามหาวิทยาลัยคือใช้ portfolio ช่วย 30 ชม. อาจลดลงเหลือ 10 ชม.เขาก็อาจจะเข้าไปทำ แต่ว่าระยะเวลา 10 ชม.ต้องดึงพวกเขากับมาให้เร็วที่สุด พอเราป้อนให้เขาได้มาก เขาอาจจะอยากทำต่อก็ได้



จิตอาสากับวัยรุ่น

จิตอาสา เยียวยาวัยรุ่น
จิตอาสากับวัยรุ่น มีความสำคัญกับวัยรุ่นมาก เพราะว่าอาจจะช่วยเยียวยาพวกบ้าๆ บอๆ ทำอะไรไม่ค่อยดี ถ้าดึงเขามาทำตรงนี้อาจจะทำให้เขาดีขึ้นยิ่ง คนที่สูบบุหรี่คืออยากให้มีโครงการ พาไปศึกษาโรคมะเร็งปอด ไปทำในหวอดที่เกี่ยวกับมะเร็งปอดของผู้ใหญ่ ให้เขาดูว่าสูบแล้วจะเป็นอย่างนี้ ใกล้จะตาย พะงาบ พะงาบอยู่อย่างนี้ ให้เห็นกันชัดๆ ตั้งแต่มีรูปในซองมาเขาก็เลือกซองที่มีรูปที่ไม่ใช่มะเร็งปอด เด็กโรงเรียนศรีอยุธยามันจะเลือกซองที่บอกว่าสูบแล้วปากเหม็น ถามเขาว่าทำไมถึงเลือกซองนี้เขาบอกว่ามันสูบแล้วแค่ปากเหม็นไม่เป็นอะไร แต่ถ้าซื้อซองที่มีรูปมะเร็งปอดมาสูบแล้วอาจเป็นมะเร็งปอดก็ได้ เชื่อกันแบบนี้ อยากให้เขาเจอ มันจะช่วยเขาได้ด้วย ฟิวส์กำลังเขียนโครงการอยู่ แต่ยังเขียนไม่เสร็จเพราะรายงานเยอะ


ส่วนมากทำงานจิตอาสาจะไม่เจอเพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่จะเจอคนอายุ 20 ปีขึ้นไป หรือไม่ก็แบบแก่ๆ ถาม ว่าวัยรุ่นควรทำไหม ควรทำครับ เพราะว่าจิตอาสาเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่เราซึมซับ เรียนรู้ได้เรื่อยๆ เป็นแบบเรียนนอกห้องเรียนที่มีค่า อยากให้วัยรุ่นที่ยังไม่รู้จักคำว่าจิตอาสาที่แท้จริงให้เข้ามาลองทำดู แล้วทุกคนจะรู้ว่าจิตอาสามาจากอะไร แล้วมันจะช่วยดึงทุกคนที่ไม่ค่อยมีสติ อาจจะมีสติเข้ามาอยู่กับตัวเหมือนเดิมก็ได้ คำ ว่า จิตอาสา ก็อย่างที่บอกไปแหละครับ จิต คือ ใจ กับ อาสา คือ อยากทำ จิตอาสาคือใจที่อยากทำ การทำจิตอาสาต้องอยากทำจริงๆ ถึงจะมีความสุขในการเข้ามาทำ แต่ถ้าอยากทำเพื่อสมุดเล่มสีฟ้าอย่างที่โรงเรียนฟิวส์ทำอยู่ เก็บชั่วโมงไปทำก็ไร้ประโยชน์คือ ไม่ได้อะไรเลย อันนี้คือผลพลอยได้ เราทำเพื่อหวังผลตอบแทน แต่ว่าบางคนที่ไปทำเขาไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรเลย เขาอยากทำด้วยใจ เขาอยากทำเพื่อน้องๆ เขาอยากทำเพื่อสิ่งที่ออกมาแล้วอาจจะได้ความสุขกับตัวเรามากกว่า ซึ่งไม่ได้หวังเกียรติบัตร portfolio สมุดเล่มฟ้า แต่อยากทำ ทำจริงๆ


ถาม ว่าดีอย่างไรคงตอบไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าช่วยได้หรือไม่ ตอบได้ คือช่วยดึงเขาออกจากสิ่งที่เขาไม่ควรอยู่ ไม่ควรหมกมุ่นกับมัน อาจจะช่วยดึงอย่างนี้ พอ ทำจิตอาสาสมองเขาจะเริ่มปลอดโปร่ง เขาจะเริ่มลืมสิ่งที่เขาทำชั่วทำไม่ดีมา แล้วเราก็ปลูกความดีใส่ไปให้เขา เขาอาจจะนึกถึงความดีขึ้นมาเขาอาจอยากลองทำความดีขึ้นมาก็ได้


ทำได้แน่ถ้ามีแรงหนุนดีๆ
ผู้ใหญ่ก็เข้ามาสนับสนุนในการทำงานของเด็กได้ เข้ามาสนับสนุนให้โรงเรียนส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรมของเด็ก แต่การเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวไม่สามารถปลูกฝังได้ต้องบวกด้วยเรื่องอื่นๆ เช่น ค่ายพุทธธรรม มีการปฏิบัติ ปีหนึ่งเข้าค่ายครั้งหนึ่งก็เห็นผลได้กับบางคน ห้าสิบห้าสิบ ออกจากค่ายใหม่ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงแต่พอนานเข้าก็ไปเหมือนกัน แต่ถ้ามีจิตอาสาเข้ามา ทำต่อเรื่อยๆ อันนี้ก็จะช่วยดึงเขากลับมา