สุรจิต ชิรเวทย์
อดีต สว.สมุทรสงคราม
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

หลายคนชื่นชอบความอร่อยของปลาทู แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า กว่าจะมาเป็นปลาทูบนโต๊ะอาหารนั้น ยากลำบากกว่าสมัยก่อนเป็นไหนๆ ปัญหามลภาวะ ขยะ น้ำเสีย ล้วนทำให้เกิดปัญหากับระบบนิเวศทางน้ำ จำนวนปลาลดลง จำนวนการทำประมงมากขึ้น ตัวเลขที่สวนทางกันมาตลอดตั้งแต่ความเจริญบุกเข้ามา สุรจิต ชิรเวทย์ คนธรรมดาที่มีใจอนุรักษ์ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ และค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจนสามารถผลักดันแนวคิด ในการรักษาสภาพแวดล้อมด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น

สุรจิต ชิรเวทย์ เป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ นักคิด นักเขียน ศิลปิน นักบริหาร นักบริการ นักสื่อสาร นักจัดการความรู้ นักพัฒนาสังคมและอีกหลายๆ นัก ขึ้นอยู่กับว่า ณ เวลานั้น สุรจิต ชิรเวทย์ สวมบทบาทอะไรอยู่ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน ตำแหน่งอะไร สิ่งที่สุรจิต ชิรเวทย์ ยึดถือเป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิตนั้น คือ “ธรรมะ” หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งสะท้อนอยู่ในการพูดคุย บรรยาย หรือแม้แต่บทความต่างๆ ของเขาที่ปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ อย่างชัดเจน สม่ำเสมอ โดยเฉพาะพระธรรมเทศนาของ “พระอาจารย์ชา สุภัทโท” (พระโพธิญาณเถระ) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งพระอาจาย์ชา สุภัทโทเป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชน

นอกจากการยึดถือหลัก “ธรรมะ” ในพุทธศาสนาแล้ว สุรจิต ชิรเวทย์ ยังสั่งสมความรู้ คำสอน บทกวี ของนักปราชญ์ทั้งหลายของจีน โดยเฉพาะการสอนแบบเล่านิทาน บรรยายอุดมคติของท่าน “จวงจื้อ” ซึ่งเป็นปราชญ์ในลัทธิเต๋า ซึ่งคำสอนทั้งหมดเน้นไปที่ความรักสันโดษ และความเคารพนบนอบต่อธรรมชาติ
สุรจิต ชิรเวทย์ เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนศรัทธาสมุทร เมื่ออายุย่าง 14 ปี (พ.ศ.2507) หลังจากนั้นก็ได้ไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2512–2515) เวลามีอภิปรายหรือเดินขบวนที่ไหนเขาก็จะไปร่วมด้วย เนื่องจากเป็นยุคที่นักศึกษาตื่นตัวสนใจการบ้านการเมือง หลังจากที่ตกอยู่ในยุคเผด็จการทหารต่อเนื่องนานนับสิบปี บทกวีที่ทรงพลังของนักศึกษารุ่นพี่ “ระวี โดมพระจันทร์” ได้ปลุกเร้าเนื้อตัวและจิตวิญญาณนักศึกษายุคสมัยนั้นอย่างถ้วนทั่ว...

ในชีวิตการเรียนของสุรจิต ชิรเวทย์ นั้น เขาเล่าให้ฟังว่า “วิชาที่ชอบเรียนมากที่สุด คือ วิชาภูมิศาสตร์ –ประวัติศาสตร์ แต่วิชาที่เอามาใช้ในชีวิตและการทำงานมากที่สุดคือ พระพุทธศาสนา และวิชาที่เคยคิดว่ายากที่สุด คือ คณิตศาสตร์กับฟิสิกส์ แต่เดี๋ยวนี้คิดว่าพระพุทธศาสนานี่แหละเป็นยอดวิชา ยากที่สุดแต่ก็มีประโยชน์มากที่สุดด้วย คำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าถึงสัจจะ เข้าถึงแก่นแท้ของสรรพสิ่ง ซึ่งธรรมะหรือสัจธรรมของพระพุทธเจ้านั้นก็คือ ธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ การเข้าถึงความเป็นจริงว่ามันมีลักษณะเป็นอย่างไร แก่นหรือสาระของมันคืออะไร โดยแยกแยะลงไปว่าระบบการรับรู้มันทำหน้าที่อย่างไร ความนึกคิดหรือกิเลสตัณหา ได้เข้าไปปรุงแต่งหรือทำให้ความเป็นจริงบิดเบือนไปได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะรู้ เห็น และคิดตามที่สิ่งนั้นๆ เป็นอยู่จริง โดยเมื่อพิจารณาดูต่อไปก็จะเห็นว่า โลกทั้งหมดนั้นมันมีธรรมะ หรือธรรมดา หรือธรรมชาติ เหมือนกันหมดโดยสาระ คือ ไม่เที่ยง เรียกว่า อนิจจัง มันเป็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้มีความหมายครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ทั้งรูปธรรม นามธรรม คือทั้งวัตถุและความรู้สึกนึกคิด มันจะไม่สามารถตั้งอยู่อย่างคงที่ในสภาวะนั้นๆ ตลอดไป มันจะต้องเปลี่ยนแปรไปเสมอ ไม่ว่า ภูเขา ต้นไม้ ผู้คน สัตว์ สิ่งของ และความรู้สึกนึกคิดนี้รวมเรียกว่า ทุกข์ หรือ ทุกขัง เพราะอย่างนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงเลย มันเป็นอนัตตา ปรากฏให้เห็นให้สัมผัสได้เพียงในรูปของกระแส กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงอันต่อเนื่อง นี่คือโลกมีธรรมชาติเป็นเช่นนี้ สัจจะมันเป็นอย่างนี้ นี่คือความจริง ซึ่งมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีกำเนิดใด ก็สามารถพากเพียร ศึกษา ปฏิบัติ และเข้าถึงได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องสวดอ้อนวอน ไม่ต้องฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ พระพุทธเจ้าท่านเป็น “ครูใหญ่ของเรา” ท่านสอนให้ปฏิบัติที่กาย ที่จิต ไม่ต้องไปแสวงหาหรือปฏิบัติที่อื่น เมื่อได้ฝึกกายนี้ จิตนี้ ให้มีธรรมะแล้ว กาย จิต ก็จะเป็นกายเป็นจิตที่เหมาะแก่การงานทุกชนิดและเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง เหนือกว่าที่พึ่งใด ท่านสอนให้พึ่งตนเอง สอนตนเองก่อนแล้วจึงไปสอนผู้อื่น”

และด้วยความคิดที่ว่า “วัน เวลา เป็นของมีค่า ให้ทำวันแต่ละวันในปัจจุบันให้ดี อนาคตก็จะดีเอง...” วันเวลาที่ผ่านมาแต่ละวันของสุรจิต ชิรเวทย์ จึงถูกใช้อย่างคุ้มค่า มุ่งมั่น ทุ่มเทต่อการทำงานแต่ละชิ้น แต่ละอัน แต่ละอย่าง ในช่วงชีวิตของตนอย่างต่อเนื่อง สุรจิต ชิรเวทย์ ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ ค้นหา รวบรวมความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษทั้งที่เป็นชาวบ้านธรรมดา และจัดทำแผนที่ระบบน้ำ คูคลอง แม่น้ำ ลุ่มน้ำของเมืองแม่กลองที่ทำด้วยมือ ซึ่งเก่าแก่คร่ำคราและยังใช้งานมาโดยตลอด จนทำให้ได้พบหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ทั้งรู้สึก ทั้งซาบซึ้ง และเคารพนับถือในบรรพบุรุษของชาติไทย โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนบรรพบุรุษและปัจจุบันบุรุษของเมืองแม่กลอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง และนี่เองที่ทำให้สุรจิต ชิรเวทย์ สื่อสารความคิดความรู้สึกของตนเองที่มีต่อเมืองแม่กลอง ผ่านบทความในหนังสือต่างๆ ทั้งหนังสือ สโมสรไลออนส์ สมุทรสงคราม หนังสือ เจ.ซี. หนังสือของวัด หนังสือของโรงเรียน หนังสือของชมรมแซ่ตระกูลต่างๆ หนังสือสมาคมประมง หนังสือ สหกรณ์ประมงแม่กลอง ฯลฯ ปีแล้วเล่านับแต่ปี พ.ศ.2519 จนถึงปัจจุบัน

หนังสือที่ได้รับความนิยมและกล่าวขานถึง องค์ความรู้ด้านระบบนิเวศเมืองสามน้ำ วิถีชีวิตชาวสวน วิถีชีวิตคนประมง อันเป็นอาชีพหลักของเมืองแม่กลอง และนับเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่ง พิมพ์เผยแพร่ถึง 4 ครั้งในเวลา 2 ปี (พฤศจิกายน พ.ศ. 2547–พฤษภาคม 2549) คือ หนังสือ “ฅนแม่กลอง” ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้จัดทำขึ้นโดยความตั้งใจของหอการค้าสมุทรสงคราม ที่มีคุณสุรจิต ชิรเวทย์ ดำรงตำแหน่งประธานหอฯ (พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2549) เพื่อใช้เป็นเอกสารข้อมูลประกอบการจัดงานเทศกาลกินปลาทู และของดีเมืองแม่กลอง โดยที่หอการค้าจังหวัดสมุทรสงครามในยุคที่สุรจิต ชิรเวทย์ เป็นประธานต่อเนื่อง 2 สมัยนี้ ได้ปฏิรูปกระบวนการคิดและกระบวนการทำงานหลายประการ โดยการสนับสนุนและเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาคเครือข่ายในภาคประชาชน ในทุกปริมณฑลของปัญหาและอุปสรรคพื้นฐานการประกอบอาชีพ ทั้งในมิติของปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตและวัฒนธรรม เท่าที่หอการค้าจะมีขีดความสามารถที่จะทำได้ เพื่อให้สาธารณชนทั่วไปได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า “หอการค้า มิใช่เป็นหอของพ่อค้าเท่านั้น แต่เป็นหอของผู้ประกอบการในทุกอาชีพ แม้แต่ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง คนเล็กคนน้อย และเป็นของคนแม่กลอง”

หนังสือ “ฅนแม่กลอง” ได้รวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่เป็นทุนเดิม อาทิ บทความขนาดยาว เกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งน้ำเค็ม โดยวิธีธรรมชาติ ที่รวบรวมความรอบรู้ ความชาญฉลาด ความชำนาญ และประสบการณ์อันช่ำชองของเหล่าสามัญชนคนเลี้ยงกุ้งผู้ยิ่งใหญ่ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่สร้างสมสืบทอดกันมาด้วยความยากลำบาก ด้วยความมีน้ำอดน้ำทน ด้วยความผูกพันอันหนักแน่นมั่นคงของคนเลี้ยงกุ้ง กับผืนแผ่นดินของเขา ซึ่งสุรจิต ชิรเวทย์ เรียบเรียงมาจากความทรงจำที่ได้สนทนากับผู้รู้ตัวจริงอย่างน้าชง (ไพบูลย์ รัตนพงศ์ธระ) สุดยอดฝีมือผู้สามารถอ่านสัญญาณของธรรมชาติได้ ผู้ค้นพบรูปแบบของนากุ้งในอุดมคติที่ไม่ต้องมีการหยุดพักการผลิตตลอดชีพ ลุงหวล “โทมัส เอลวา เอดิสัน แห่งคลองโคน” ผู้มีศรัทธาไม่ท้อถอย และเป็นผู้ให้กำเนิดนากุ้งแห่งคลองโคน ลุงเพชร คนอมตะแห่งคลองโคน เป็นความทรงจำที่เรียบเรียงสนทนาเมื่อสุรจิต ชิรเวทย์ ยังเป็นพนักงานของธนาคารที่ได้ขยายสินเชื่อให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยถือว่า ถ้าเกษตรกรประสบความสำเร็จก็เท่ากับธนาคารได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริม และร่วมพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้ง โดยวิธีธรรมชาตินี้ด้วย แต่หากล้มเหลวก็จะได้มีการค้นคว้าพัฒนาข้อมูลกันให้ดียิ่งขึ้นต่อไป องค์ความรู้เรื่องน้ำและลม ผู้กำหนดเวลาและกิจกรรมในอาชีพ จันทรคติและสุริยคติ ซึ่งกำหนดวิธีคิด และเกี่ยวข้องกับระบบน้ำ ระบบนิเวศ 3 น้ำ ซึ่งการจัดตัวของระบบนิเวศและการประกอบอาชีพของประชาชนต้องสอดคล้องกัน เป็นการอธิบายระบบนิเวศสามน้ำ ที่แม้จะมีพูดกันทางวิชาการอยู่บ้าง แต่ก็เข้าใจได้ยากและสาธารณชนไม่ค่อยรับรู้ ซึ่งสุรจิต ชิรเวทย์ ใช้ความรู้ในระบบต่างๆ ทั้ง ลม น้ำ จันทรคติ และสุริยคติ ที่ได้เรียนรู้มาจากผู้รู้ต่างๆ อธิบายเชื่อมโยงให้รู้และเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น