มนตรี แม่นหมาย
พี่เลี้ยงเยาวชน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยงแกนนำเยาวชน ใน อบต.หนองอียอ
ประวัติและผลงาน

 “มนตรี แม่นหมาย”

เส้นทางการพัฒนาตนเองจากเด็กขี้อายสู่การเป็นจิตอาสาชุมชน

…………………………………………………………………

มนตรี แม่นหมาย จากเยาวชนที่พัฒนาตนเอง จากการเข้าร่วมอบรมในค่ายขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองอียอ อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่เรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหนองอียอวิทยา ปัจจุบันศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้ใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียน มาเป็น “จิตอาสา” ดูแลน้องๆ มาทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ในค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจัดขึ้นสองครั้ง(รุ่นที่ 1 วันที่ 19-30 เมษายน 2561รุ่นที่ 2 วันที่ 30 เมษายน-11 พฤษภาคม 2561) วันนี้มาพูดคุยเส้นทางการพัฒนาตนเองสู่การเป็นจิตอาสาชุมชนกัน

เริ่มทำกิจกรรมจิตอาสาตั้งแต่มัธยม

“ตอนที่เข้าร่วมกิจกรรมชุมชนครั้งแรก ผมตอนเรียนอยู่ ม.4 เพิ่งเริ่มเข้า เมื่อก่อนเป็นคนที่อยู่แต่ในบ้านตัวเองเป็นหลัก ไม่ค่อยเข้าสังคม เป็นคนขี้อาย ถ้าไม่ที่ที่เราคุ้นเคย ไปอบรมก็ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น เวลาจับไมค์ก็ไม่คุ้นเคย เพราะอยู่แต่ไร่นา ไม่คุ้นเคยกับไมโครโฟน พอพูดแล้วก็ตื่นเต้น”

ที่มาของเป็นเยาวชนจิตอาสา

“ช่วง ม.4 เทอม 2 พี่สมเกียรติ (สมเกียรติ สาระ อดีตหัวหน้าสำนักงานปลัดอบต.หนองอียอ ปัจจุบัน หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองสนิท) และพี่เขียว (สุริยา ดวงศรี พี่เลี้ยงเยาวชน อบต.หนองอียอ) มาชวนไปค่าย โดยหาตัวแทนแต่ละหมู่บ้านไป ไปที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ไปถึงวันแรกก็อยากกลับบ้านแล้ว ตอนแรกที่รถไปจอดที่วัด นึกว่าจะมาพักรถเฉยๆ แต่ปรากฎว่าจัดค่ายในวัด ไปเจอคนสุพรรณบุรีเสียงเหน่อก็ไม่ค่อยคุ้น ไปทำกิจกรรมก็เกร็ง เช่น ให้เล่นเกมบอกชื่อ ก็เขิน ต้องเต้นด้วยก็ไม่ค่อยกล้า พออยู่ได้ 2-3 วันก็เริ่มสนิทเพราะเล่นเกมด้วยกัน ทำให้มีความสุข ลืมเรื่องอยากกลับบ้านไปเลย และได้ฝึกคิด ฝึกทักษะจากการดูหนัง ได้จับประเด็น เพราะตอนเรียนส่วนมากได้เรียนตามครูสอน แต่มาอยู่ที่นี่ได้ฝึกคิด พอ ม.5 ได้ไปค่ายบ้านดิน 21 วัน มีกิจกรรมต่างๆ มีการหาอาหารพื้นบ้าน เช่น หาไข่มดแดง หาปู หาปลา และทำโครงการ ซึ่งทำโครงการดูแลผู้สูงอายุ และได้ทำในช่วงเสาร์-อาทิตย์”

การเปลี่ยนแปลงตัวเองหลังเข้าค่าย 10 วัน

ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการจับไมค์ พอได้ไปพูดที่ตลาด ตอนแรกก็ตื่นเต้น พอกลับไปที่โรงเรียนมีการ นำเสนอหน้าชั้น ครูก็แปลกใจอยู่เหมือนกันที่กล้านำเสนอมากขึ้น ที่จริงก่อนเข้าค่ายเป็นคนเข้ากับคนง่าย แต่ค่อนข้างขี้อาย แต่พอมาค่ายทำให้ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นเพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมองตัวเอง มองแต่คนอื่น ซึ่งพอได้เรียนเกี่ยวกับผู้นำแล้ว มีการสื่อว่าเราเป็นผู้นำแบบไหน ทำให้ได้กลับมามองตัวเองมากขึ้น เวลามีปัญหาจะรู้ตัวเองว่าเริ่มโกรธแล้ว และจะหาวิธีการจัดการ เช่น จะเดินออกไปที่อื่น ไม่พูด ทำให้มีสติ มีสมาธิมากขึ้น ได้รู้จุดอ่อนของตัวเอง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นคนใจร้อน แสดงสีหน้าท่าทาง แต่เดี๋ยวนี้เพื่อนถามว่าโกรธเป็นไหม ซึ่งที่จริงโกรธเป็น แต่ต้องสุดจริงๆ ตอนนี้ถึงเพื่อนล้อก็ไม่ถือ”

ครอบครัวมองเห็นการเปลี่ยนแปลง

“เขาบอกว่าเหมือนเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เวลาสั่งอะไรก็ทำ ซึ่งแต่ก่อนแม่ให้ล้างจานจะบอกว่าเดี๋ยวก่อน แต่เมื่อเราไปค่ายเราฝึกล้างจาน ได้ฝึกทำหน้าที่ เหมือนเราได้มาสำนึกตัวเองว่าเมื่อมีเวลาควรจะช่วยพ่อแม่ เวลาไปนาก็ช่วยพ่อ เวลาอยู่บ้านก็ช่วยแม่ล้างจาน ช่วยแม่เลี้ยงหลาน”

ค่าย 21 วัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านใดบ้าง

ค่าย 21 วัน ที่ค่ายบ้านดินได้ฝึกหลายอย่าง คือที่พักไม่มีร้านค้า อยู่ห่างจากชุมชน เห็นอะไรก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ เพราะเคยไปแล้ว ตอนไปค่าย 10 วัน ที่สุพรรณฯ ทั้งที่เคยไปแค่ 10 วัน นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเองคือ เรื่องความกลัว เพราะต้องเจอเพื่อนจากต่างที่ก็รู้สึกกลัว บางทีมีรุ่นพี่หรือคนที่หน้าตาเป็นนักเลง ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่เพราะคิดไปเอง ทำให้รู้ว่าหน้าตาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวกับนิสัย ทำให้ฝึกว่าอย่ามองคนแค่ภายนอก ต้องดูหลายๆ อย่างว่าเขาเป็นอย่างไร มีภูมิหลังครอบครัวอย่างไร ดูภายนอกบางทีก็ดูไม่ออก ทำให้ได้ฝึกตรงนี้ค่ายที่ 2 เปลี่ยนน้อยกว่าค่ายแรก แต่สิ่งที่เพิ่มมาคือมีความกล้าเพิ่มมากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็นยกมือตอบ กล้าพูดกล้านำเสนอ อย่างเวลาไปพูดที่ตลาดก็มีประสบการณ์มาแล้ว ทำให้มีการลำดับการเตรียมตัวมากขึ้น โดยมีพื้นฐานมาจากค่ายที่แล้ว ทำให้ปรับตัวได้มากขึ้น มีความกล้า พอมีไมค์มาก็จับพูดได้ปกติ ไม่สั่น ไม่กลัว ความเขินอายลดน้อยลง

เป็นการฝึกการแบ่งเวลาเรียนและการทำกิจกรรม เพราะแต่ก่อนเอาเวลาไปทำอย่างอื่นก็ไม่มีประโยชน์ เอาเวลามาช่วยชุมชนดีกว่า ทำให้คนในชุมชนยอมรับในตัวเรามากขึ้นและเคยได้แสดงละครด้วย โดยแสดงเป็นผู้ใหญ่บ้าน เวลาไปเจอใครก็ถูกแซว ไปพูดในตลาดเรื่องป่าไม้ก็จะถูกแซว ตอนเรียนปี 1 ก็ห่างจากกิจกรรมเยาวชนไปเลย ส่วนกิจกรรมจิตอาสาก็ไม่ค่อยได้ไปร่วมกับน้องๆ เพราะเวลาเรียนจะมีงานที่ต้องส่งก็ไม่ค่อยได้กลับมาร่วมกิจกรรม มีบ้างที่ไปพบปะเล่าให้รุ่นน้องฟังว่ารุ่นของเราทำอะไรบ้าง แต่ยังไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ รุ่นใหม่ เพราะยุ่งกับการเรียน แต่จะมีกิจกรรมประเพณีบุญข้าวจี่ เข้าพรรษา ก็ช่วยงานชุมชนตามปกติ หรือเสาร์-อาทิตย์ ถ้าไม่มีงานที่มหาวิทยาลัยก็กลับมาช่วยชุมชน

การเข้าร่วมโครงการค่ายล่าสุดกับบทบาทที่ได้รับ “พี่เลี้ยงเยาวชน”

ค่ายนี้มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยง โดยตอนแรกมีเพื่อนบอกมาว่าจะมีค่าย 20 วัน อยากให้มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง มีโอกาสก็อยากมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ จึงได้มาค่าย 20 วัน มาค่ายนี้ ผมมาอยู่ในฐานะพี่เลี้ยง โดยมีบทบาทช่วยวิทยากร ตอนอยู่ในฐานย่อยก็จะคอยชวนน้องพูดคุยเรื่องประเด็นต่างๆ ถ้าน้องมีอะไรหรือไม่สบายก็เรียกได้ จะคอยช่วยประสาน เป็นพี่เลี้ยงดูแลหลายเรื่อง คือถ้าประจำฐานก็จะดูแลการเรียนรู้ ช่วยกระตุ้นน้องๆตัวอย่างกิจกรรมดูหนัง เช่น ชวนคุยว่ามีประเด็นอะไรบ้าง มองพฤติกรรมคนที่เป็นผู้นำอย่างไร และถ้ามีอะไรก็มาติดต่อพี่เลี้ยงได้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้”

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากค่ายนี้ในฐานะพี่เลี้ยงคืออะไร

“ภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นจากตอนเป็นเด็ก ที่ให้พี่เลี้ยงมาปลุกให้ตื่นมาทำกิจกรรม แต่พอมาเป็นพี่เลี้ยงต้องมีการเตรียมกิจกรรม มีการคุยกันในกลุ่มกับวิทยากร มีการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ และหลังจากเสร็จแล้วก็ไม่ได้ไปนอนเหมือนเด็กค่าย ต้องมาสรุปกันอีกว่ามองเห็นเด็กแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร เขามีความรู้สึกเศร้าไหม มีการเรียนรู้อย่างไร ถ้ามีใครซึมเศร้าก็เข้าไปถามว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ น้องคิดถึงบ้านก็ต้องถาม คือกว่าจะได้นอน 4-5 ทุ่มทุกวัน เพราะต้องดูภาพรวม ถือเป็นการฝึกหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งการฝึกแบบนี้ไม่ได้มีโอกาสบ่อยๆ”

การเปลี่ยนแปลงตนเองที่ได้จากค่ายครั้งนี้

“ได้ความคิด ได้มามองอีกมุมมองหนึ่งโดยเมื่อเรามาเป็นพี่เลี้ยงเราจะไม่แสดงความคิดเห็นเหมือนกับเด็ก แต่เป็นการตั้งคำถามให้น้องแทน เช่น การดูหนัง ประเด็นหลักของเขาคืออะไร จะพยายามพูดให้น้องคิด ถ้าน้องไม่เข้าใต้องยกตัวอย่างยกสถานการณ์ให้น้องเขาได้ตอบ ซึ่งถ้าเราไปตอบให้เขาเขาก็จะรู้สึกไม่อยากร่วมกิจกรรม เป็นการฝึกให้

มองภาพกว้างมากขึ้น....

ความคิดที่ได้หลักๆ คือได้เรียนเรื่องธุรกิจ ซึ่งเป็นการฝึกที่ดีมากเพราะอาจเกิดจากปัญหาที่เราอยากแก้หรือจากสิ่งที่เราสนใจ สามารถมองได้สองอย่าง ซึ่งถ้ามาจากเรื่องปัญหาก็ต้องคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เรื่องกลุ่มเป้าหมายก็ต้องคิดเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ ในรายละเอียด และดูต้นทุนการผลิต เช่น ถ้าจะทำเกี่ยวกับน้ำปั่น แล้วไม่มีร้าน ต้องสั่งร้าน ต้องซื้อเครื่องปั่น แล้วเราจะต้องจ้างลูกจ้างมาช่วยปั่น ทำให้ได้คิด เปรียบเทียบหลายเรื่อง ว่าต้นทุนทั้งหมดกับกำไร ที่คาดว่าจะได้รับกับธุรกิจมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า ซึ่งมองว่ากระบวนการคิดเหมือนระบบคอมพิวเตอร์ แต่พอทำจริงจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้เราฝึกเพราะอย่างน้อยถ้ามีการวางแผนก่อนก็จะเคลื่อนเป็นระบบ และสำหรับโครงงานสามารถนำไปปรับใช้ในการทำวิจัยได้ เพราะใช้หลักการคิดเช่นเดียวกัน คือถ้าเราจะสร้างโมเดล ต้องคิดว่าโมเดลที่เราสร้างต้องใช้ทุนเยอะไหม ซึ่งอาจจะไม่คุ้ม ทำให้เราต้องเลือกวัสดุอื่นมาทำโมเดล ต้องคิดให้ลึกขึ้น

อีกเรื่องที่ได้ คือ เรื่องภูเขาน้ำแข็งทำให้มองเห็นภาพว่าภูเขาชั้นบนสุดเปรียบเหมือนนิสัยของเราที่แสดงออกมา และอีกส่วนที่อยู่ใต้น้ำเหมือนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ เช่น เขาโกรธแต่เค้าไม่แสดงออกเราก็ไม่สามารถรู้ได้เลย ดังนั้นเวลามองคนอื่นทำให้มองในแง่ดีมากขึ้น ไม่ได้มองในแง่ลบ ต้องใช้เวลาไปคุยกับเขา ต้องดูถึงครอบครัวภูมิหลังเขาด้วย ไม่ได้ดูแค่พฤติกรรมภายนอกของเขา


นำการเรียนรู้จากทุกค่ายไปใช้ได้จริงในรั้วมหาวิทยาลัย

ในช่วง 4 ปีได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากทุกค่ายมาใช้ในชีวิตมหาวิทยาลัย ตัวอย่างมีเพื่อนที่เรียนตามเพื่อน แต่เราไปคนเดียวโดยไม่ต้องอยากเรียนตามเพื่อน เพราะเคยเข้าค่ายมาแล้ว ทำให้ได้เรื่องการปรับตัว จึงไม่มีความกังวลเวลาไปทำกิจกรรมกับคนอื่น เข้ากับคนอื่นได้ง่าย มีอคติน้อย และสามารถอยู่ด้วยตนเอง ซึ่งได้ฝึกมาจากค่าย รวมถึงเรื่องทางความคิด ความอดทน การอยู่ร่วมกับคนอื่น เวลาอยู่หอก็ไม่มีปัญหา ทำให้เราได้ในมาใช้ในช่วง 10 ปี เวลาท้อก็นึกถึงค่าย เช่น เวลาตีบอลที่ตีไม่เสร็จสักที นึกถึงเวลาได้เรียนเกี่ยวกับพุทธศาสนา เพราะอย่างน้อยไปนั่งสมาธิบ้างก็ช่วยได้ ดังนั้นสิ่งที่เรียนมาจากค่ายก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง อยู่ที่ว่าคนที่มาเข้าค่ายจะเก็บเกี่ยวไปได้มากขนาดไหน”

เพราะค่ายเป็นส่วนหนึ่งทำให้เป็น “มนตรี” ในวันนี้

ได้เข้าใจตนเองมากขึ้น ซึ่งมีครูทักหลายคนบอกว่า ครูสอนมาหลายรุ่นไม่เจอคนแบบนี้ เหมือนเป็นคนใจดี ไม่ค่อยโกรธ ชอบช่วยเหลือ เพื่อนติดต่อมาก็ช่วยเหลือ แต่มีเงื่อนไขว่าไม่ได้ช่วยทุกอย่างช่วยได้เท่าช่วยได้ เช่น มีเพื่อนต่างจังหวัดจะกลับบ้านก็ไปส่งที่สถานีรถไฟ เวลาเขามาก็ไปรับ บางคนก็มองว่าคนแบบนี้ยังมีอยู่หรือ ใจดีเกินไปแล้ว ให้ปฏิเสธบ้าง ซึ่งเป็นคนปฏิเสธเป็น แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เขาให้มาช่วยแล้วเราช่วยได้ก็จะช่วย เหมือนถูกปลูกฝังเรื่องพระพุทธศาสนามาด้วย ได้เข้าวัดทำบุญ บวชเณรมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งบางคนมองว่าการชอบช่วยคนอื่นแล้วจะเป็นคนเก็บกดหรือเปล่า และมีคนถามว่าเคยโกรธไหม ตั้งแต่เข้าเรียนปี 1-3 ไม่เคยทะเลาะกับใคร ร่าเริงปกติ ทำให้เพื่อนสงสัยว่าเป็นเกย์หรือเปล่า มีโลกส่วนตัวสูงหรือเปล่า อยู่คนเดียวไปกินข้าวคนเดียวได้ ทำได้อย่างไรเพื่อนก็สงสัย แต่สำหรับเราเพราะเรารักตัวเองก็ดูแลตัวเอง ซึ่งแม่ก็ไม่ห่วงแล้วและแม่ก็ภูมิใจ เพราะเคยอยู่บ้านคนเดียว หุงข้าวกินเอง ทำกับข้าวเป็น อยู่ได้ด้วยตัวเอง"

­

ถ้าตอน ม.4 เราไม่ได้เข้าค่ายก็ไม่มีวันนี้

ถ้าไม่ได้เข้าค่ายอาจจะหนักกว่านี้ เพราะว่าถูกสอนโดยไม่ได้เข้าสังคมไปเช้าเรียนเย็นกลับบ้าน ไม่ได้เจอใครไปเรียนก็เรียนอย่างเดียว ไม่เคยจับไมค์ ไม่เคยฝึกพูด กับเพื่อนในห้องเรียนเหมือนต่างคนต่างเรียน พอมาค่ายต้องถูกบังคับเต้น ก็ค่อยๆ ปรับตัว ถ้ามองภาพรวมไม่รู้ว่าจะเป็นแบบไหน คิดว่าด้านนิสัยอาจจะปกติ แต่อาจจะไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งก่อนที่จะเข้าค่ายไม่คุยกับใคร ตัวใครตัวมัน เราอยู่ของเราคนเดียว พอมีกิจกรรมหน้าชั้นเรียนให้เพื่อนไปไม่กล้า รู้สึกกลัว แต่เมื่อได้มาฝึกแล้ว เวลามีการรนำเสนอหน้าชั้น เหมือนพร้อมที่จะอาสาไปนำเสนอ แต่ต้องดูเพื่อนก่อนว่าใครจะนำเสนอบ้าง ถ้าไม่มีก็เป็นตัวแทนไปให้”

งานชุมชนจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงหรือไม่

จำเป็นต้องมี โดยอาจมีเพียงคนดูแลภาพรวม ถามทุกข์สุข ทำให้เด็กสบายใจว่ามีคนคอยช่วยหนุนถ้าไม่มีพี่เลี้ยงเลยเหมือนเขาโดดเดี่ยว ถ้ามีพี่เลี้ยงจะมีความอบอุ่นมากกว่า หากมีปัญหาก็ปรึกษาพี่เลี้ยงได้ แต่พี่เลี้ยงไม่ต้องช่วยอะไรมาก แค่คอยประคับประคองและโอบอุ้มให้เขาได้เรียนรู้เอง

เป็นพี่เลี้ยงต้องมีทักษะอะไรบ้าง

ต้องมีทักษะการสื่อสารบางทีพูดยาวไป น้องอาจไม่เข้าใจ ต้องสื่อสารให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น น้องชอบตอบคำถามว่าการเล่นกิจกรรมแล้วได้ความสามัคคี ซึ่งเป็นคำที่ใหญ่มาก เราก็ต้องถามน้องว่าการที่จะทำให้ได้ความสามัคคีต้องทำอะไรบ้าง เช่น กิจกรรมแม่น้ำพิษ ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม คือการเสียสละให้เพื่อนขี่คอ เป็นต้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้เกิดความสามัคคี และทักษะการจับประเด็นซึ่งสำคัญ เช่น ถ้าเราดูหนังแล้วจับประเด็นไม่ได้เลย น้องอาจจะง่วงหรือดูอย่างเดียวไม่ได้จับประเด็น หรือจำฉากได้แค่นั้น แต่พอมานั่งกลุ่มฐานย่อยแล้ว ก็จะชวนคุยว่าหนังเรื่องนี้สื่อเกี่ยวกับผู้นำ ยกตัวอย่างผู้การเป็นผู้นำแบบไหน ผู้การเป็นผู้นำแบบเผด็จการ ซึ่งถ้าเราจับประเด็นไม่ได้เลยบางทีน้องก็งง พี่ก็งง เราก็จะเรียนรู้ได้ช้า และนอกจากนั้นการเป็นพี่เลี้ยงก็มีการวางตัวที่เหมาะสมไม่เล่นกับน้องเกินไป มีขอบเขต ต้องวางตัวให้เหมาะสมด้วย...

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การยอมรับปรับตัวซึ่งนอกจากจะเจอพี่เลี้ยงด้วยกันเองแล้ว ต้องเจอกับเด็กในตำบลหมู่บ้านอื่นด้วย ต้องมีการยอมรับปรับตัว สำหรับผมเป็นคนปรับตัวได้เร็วเข้าหาคนง่าย แต่ถ้าไม่มีเรื่องคุยก็จะไม่ค่อยคุยกับใคร บางคนจึงมองว่าเป็นคนเงียบๆ แต่ถ้าอยู่ด้วยกันนานๆ จะเข้าใจ อย่างบางคนมาพูดจาไม่สุภาพ แล้วเราจะไปตัดสินเขาว่าไม่ดีเลยก็ไม่ได้ ต้องดูกันไปเรื่อยๆ”

สุดท้ายวันนี้ “มนตรี” มุ่งมั่นทำตามฝันอยากเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ ควบคู่กับเป็นจิตอาสาให้แก่ชุมชนของตนเอง สุดท้ายสิ่งที่ได้คือความภาคภูมิใจในตนเอง และไม่เป็นภาระให้แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคม นี่เป็นตัวอย่างดีๆ ของเยาวชนท้องถิ่นสุรินทร์ที่น่านำมาเป็นแบบอย่าง.


ถอดบทเรียน จากค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3 การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเยาวชนด้วยการจัดการความรู้และกระบวนวิจัยเพื่อท้องถิ่น ครั้งที่ 2 วันที่ 30 เมษายน-11 พฤษภาคม 2561ณ ศูนย์ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี บ้านโนนเขา หมู่ 8 ตำบล หัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ สนับสนุนโดย มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มูลนิธิสยามกัมมาจล


­

อ่านถอดบทเรียนฉบับเต็มได้ที่นี่.pdf ­

­

­

­

­


  • ·สังกัดและบทบาทหน้าที่ในหมู่บ้าน/ตำบล
สังกัดกลุ่ม/ชมรมในหมู่บ้าน/ตำบล บทบาทหน้าที่
- กลุ่มเยาวชนคนอาสา - สมาชิกกลุ่ม
  • ·ประสบการณ์ทำงานด้านเด็กและเยาวชน
ประสบการณ์ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ความสำเร็จ/ความภาคภูมิใจ
- ได้ทำงานกับเด็กและเยาวชนตำบลหนองอียอ ระยะเวลา 3 ปี - ได้รับรางวัลจากสถาบันพระปกเกล้า ด้านเด็กและเยาวชน
  • ·แรงบันดาลใจ ศักยภาพและประสบการณ์ด้านเด็กและเยาวชน

(1) ความใฝ่ฝัน เป้าหมายและแรงบันดาลใจชีวิตของตนเอง ที่อยากจะเป็นในอนาคตคืออะไร เพราะอะไร

…ความใฝ่ฝันในอนาคต คืออยากทำงานรับราชการอยู่ในพื้นที่ที่บ้านเกิด จะได้ช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนของตนเองได้ด้วย

(2) อยากจะเห็นสิ่งดีๆ ของเด็กและเยาวชนของหมู่บ้าน/ตำบลเป็นอย่างไร ควรจะทำอะไรบ้าง

…อยากเห็นเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านและตำบลมีการกล้าแสดงออก มีการทำงานร่วมกัน ช่วยกันพัฒนาตำบลและบ้านเกิดของตนเอง

(3) ตารางระบุศักยภาพของตนเอง

คุณลักษณะ ศักยภาพที่มีอยู่
1)มีความรู้ ความสนใจพิเศษ - มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ โดยสามารถซ่อมคอมพิวเตอร์ได้ ลงโปรแกรมได้ และตัดต่อวิดีโอได้ด้วย
2)ทักษะที่ถนัด ความสามารถพิเศษ - มีทักษะการเล่นกีฬา โดยเล่นฟุตบอลและวิ่งได้ดี
3)ทัศนคติ มุมมองต่อกิจกรรมเด็กและเยาวชนในโรงเรียน, หมู่บ้าน/ตำบล - กิจกรรมเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อเด็ก โดนทำให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

(4) ตารางระบุประสบการณ์เรียนรู้และความต้องการพัฒนาศักยภาพ

ประสบการณ์ในการอบรม/ สัมมนา/ศึกษาดูงาน

(ระบุช่วงเวลาและปี พ.ศ.)

ความต้องการเรียนรู้หรือพัฒนาตนเองเพิ่มเติม
- ค่ายอบรมศักยภาพแกนนำเยาวชน จังหวัดสุพรรณบุรี 10 น ปี 56

- ค่ายบ่มเพาะวิถีชีวิตที่สมดุล จังหวัดขอนแก่น 20 วัน ปี57

- ต้องการเรียนรู้การคิดเป็นระบบ

- ต้องการพัฒนาเรื่องทักษะการพูด การนำเสนอ การจับประเด็น และทักษะการเป็นผู้นำ

(5) อยากให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้รับการพัฒนาหรือเสริมความรู้ความสามารถในเรื่องอะไรบ้าง

อยากให้พัฒนาในเรื่องการกล้าแสดงออก การพูดในที่ชุมชน การคิดวิเคราะห์ การรู้จักตนเอง และการทำงานร่วมกับผู้อื่น