กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ตรวจเยี่ยมภายใน โรงเรียนบ้านไร่พวยมิตรภาพที่ 18
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

              การตรวจเยี่ยมโรงเรียนก่อนรับการประเมินจริง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายได้ประเมินตนเอง และได้รับฟังข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการตรวจเยี่ยมภายใน ถึงความพร้อมในการรับการประเมินจริง โดยยึดเกณฑ์ก้าวหน้าเป็นเกณฑ์การประเมิน

­

วัตถุประสงค์ 

  1. เพื่อให้โรงเรียนที่จะยื่นขอรับการประเมินเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ประเมินตนเอง
  2. เพื่อตรวจเยี่ยมประเมินความพร้อมของโรงเรียนฯ โดยคณะกรรมการตรวจเยี่ยมฯ 
  3. ร่วมกันกำหนดแผนกำหนดเวลาในการพัฒนา และกำหนดช่วงเวลาในการขอรับการประเมินจริง

­

หมายเหตุ

  1. ใช้เกณฑ์ก้าวหน้าในการประเมินตนเองและตรวจเยี่ยมประเมินความพร้อม
  2. ใช้แบบประเมินตนเองที่กำหนดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล

­

17/11/55

วันที่ 16 พฤศจิกยน 2555 คณะกรรมการตรวจเยี่ยมประเมินความพร้อมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอ เพียงสู่สถานศึกษา อีสานตอนบน เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านไร่พวยมิตรภาพที่ 18 หลังจากที่ทีมขับเคลื่อนได้ไปเดินทางไปเยี่ยมครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนก่อน อ่านที่นี่


เราเดินทางไปถึงแต่เช้า เพื่อให้ทันการเข้าแถวหน้าเสาธงของนักเรียน ผมเห็นนักเรียนหลายกลุ่มขมักเขม้นทำงานที่เด็กเรียกว่า "ทำเวร" บางกลุ่มทำความสะอาดห้องน้ำ บางกลุ่มทำความสะอาดบริเวณอยู่ ส่วนครูที่ทะยอยกันมา ก็ได้ทักทายกันตามสมควร ก่อนที่เสียง "ออด....ออด...." จะดัง แทน "ระฆัง" เป็นสัญญาให้ทุกคนมารวมกันทำกิจกรรมหน้าเสาธง

­

กิจกรรมทั้งหมดใช้เวลากว่า 40 นาที มีตามลำดับขั้นตอนมีดังนี้ครับ 

 

  1. ร้องเพลงเคารพธงชาติ
  2. สวดมนตร์ไหว้พระ
  3. แผ่เมตตา
  4. สวดรับศีล 5
  5. สงบนิ่งประกอบเพลงดอกไม้บาน
  6. รายงานการทำเวรประจำวัน
  7. ร้องเพลงมาร์ชโรงเรียน
  8. ร้องเพลงพอเพียงร่วมกัน
  9. ครูเวรหน้าเสาธง
  10. ผู้อำนวยการพบปะนักเรียน คำคม ข้อคิด

­

จากนั้นเรามารวมกันที่ห้องประชุม พร้อมกับนักเรียนแกนนำประมาณ 10 คน กิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดไว้ ตามลำดับขั้นคือ

­

  1. เล่านิทานเรื่อง ยอดโคกตัญญู
  2. ลำอวยพร 
  3. กล่าวคำต้อนรับเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทยเลย และภาษาไทย
  4. อาจารย์กล่าวต้อนรับ
  5. ผู้อำนวยการกล่าวต้อนรับ และเล่าบรรยายถึงการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนฯ 
  6. อาจารย์เกิยรติศักดิ์ และอาจารย์วิไลรัตน์ รายงานความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนต่างๆ

ก่อนจะออกตรวจเยี่ยมตามฐานการเรียนรู้เลีี้ยงจิ๊งหรีด

­

  1. เลี้ยงจิ๊งหรีด
  2. เลี้ยงปลาดุก
  3. ฐานธนาคารขยะ
  4. ผักสวนครัว
  5. เห็ดฟาง
  6. นาข้าว
  7. เรือนเพาะชำ
  8. สวนสมุนไพร
  9. แก้วมังกร

­

หลังรับประทานอาหารเที่ยง ได้เดินดูผลงานโครงงาน และสิ่งประดิษฐ์ของเด็กนักเรียน ก่อนจะนั่งประชุมสรุปให้ข้อเสนอแนะ และวางแผนร่วมกันคร่าวๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป 

 

 

 

ดูรูปทั้งหมดได้ที่ https://plus.google.com/u/0/photos/103715553340136754104/albums/5811696335621333601

 

 

­

­

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

หลังจากการตรวจเยี่ยมในภาคเช้า ภาคบ่ายเรานั่งอภิปรายสะท้อนผลการตรวจเยี่ยมให้ ผอ.ทรงยศ และคุณครูทุกคน (ขอขอบคุณ ท่านอาจารย์ละออ ผาน้อย จากโรงเรียนสนามบิน ที่ท่านได้เขียนสรุปสิ่งที่เราได้สลับกันให้ข้อคิดเห็นที่จำเป็นในการปรับเพิ่ม พัฒนาเติมให้เต็มต่อไป.... ผมขออนุญาตคัดลอกมาไว้ให้อ่านกันตรงนี้ เผื่อว่าจะมีประโยชน์ครับ) ซึ่งได้บันทึกไว้ในสมุดเยี่ยมแล้ว ดังนี้ครับ

­

วันนี้ข้าพเจ้าและคณะ ได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา พื้นที่อีสานตอนบน ตามกำหนดการตรวจเยี่ยม และโรงเรียนสนามบิน ได้ติดตามช่วยเหลือ เพื่อเตรียมรับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

­

หลังจากกิจกรรมหน้าเสาธง เราเริ่มกิจกรรมในห้องประชุมเอนกประสงค์ของโรงเรียน ผมแนะนำคณะกรรมการตรวจเยี่ยมประเมินความพร้อมฯ ได้แก่

­

ผอ.ธนิตา กุลสุวรรณ จากโรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร

รอง ผอ.ภิญโญ พงศ์พิมล จากโรงเรียนสนามบิน

อาจารย์ละออ ผาน้อย ครูจากโรงเรียนสนามบิน

อาจารย์อภัยวัลย์ กึกก้อง ครูจากโรงเรียนสนามบิน

­

นอกจากนี้ยังมีทีมขับเคลื่อนจากโรงเรียนสนามบิน และมี

อาจารย์รัตน์ภัณฑชา อ่างยาน จากโรงเรียนบ้านดอนช้าง เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

­

และผมเองเป็นตัวแทนของทีมขับเคลื่อนฯ หลังจากที่อาจารย์เกียรติศักดิ์ นำเสนอภาพรวมและกล่าวถึงความคาดหวังของทางโรงเรียนแล้ว ผมชี้ประเด็นสำคัญ หรือคำสังคัญ ของเกณฑ์ก้าวหน้าสั้น ดังนี้ครับ

­

เกณฑ์ก้าวหน้า มี 5 ระดับ คำสำคัญมีคือ

­

รู้และเข้าใจ

นำมาปฏิบัติกับตนเอง (หน้าที่ของตนเอง)

สามารถถ่ายทอดได้

ขยายผล

ระเบิดจากภายใน (เห็นคุณค่า)

โดยที่ 5 คำสำคัญนี้ จะเกิดขึ้นกับบุคคลหรือสิ่งต่อไปนี้

­

ผู้บริหาร

ครู (โดยเฉพาะครูแกนนำ ที่ต้องทำให้ได้ถึงระดับ 5)

นักเรียน (โดยเฉพาะนักเรียนแกนนำ ต้องทำให้ได้ถึงระดับ 5)

คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน

สิ่งแวดล้อม ฐานการเรียนรู้

­

จากนั้นเราได้ดำเนินการตรวจเยี่ยมซักถามนักเรียนในแต่ละฐานการเรียนรู้ และมาสรุปอภิปรายผลกันในตอนบ่าย

­

ต่อไปนี้เป็นผลการประเมินของผมเอง ผิดถูกประการใด ขอท่านจงเปิดใจรับอ่านดูก่อนนะครับ

ตัวอักษรสีม่วง หมายถึง ผ่านแล้วหรือมีแล้ว

ตัวอักษรสีน้ำเงิน หมายถึง มีแล้วแต่ยังไม่ชัดเจนหรือจำนวนไม่พอ

ตัวอักษรสีเขียว หมายถึง ยังไม่ชัดเจนว่ามีหรือไม่ และ คุณภาพหรือปริมาณยังไม่เพียงพอ

ตัวอักษรสีโทนแดง หมายถึง ยังไม่เพียงพอต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน

ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาที่สำคัญมีดังนี้ครับ

ผู้บริหารควรลงกำกับติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูทุกคนอย่างละเอียด ตั้งแต่ รู้เข้าใจ นำไปปฏิบัติ ถ่ายทอด และขยายผล และประเมินผลลัพธ์ด้วยตนเอง โดยเน้นความสามัคคีและความเสมอภาค จัดแบ่งภาระงานรับผิดชอบอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

­

ครูแกนนำรู้และเข้าใจ นำไปปฏิบัติได้กับตนเองอย่างน่านับถือครับ แต่ปัญหาคือ การขยายผลของความสำเร็จไปสู่เพื่อนครูท่านอื่นๆ ทุกคนในโรงเรียน ผมเสนอว่า ผู้อำนวยการควรส่งเสริมและลงมากำกับติดตาม ให้ครดูทุกคนใช้ฐานการเรียนรู้ที่มีอยู่ บูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนของตนเอง ทำดังนั้นแล้ว ครูทุกคนจะมีสื่อการเรียนการสอนในรายวิชาของตน อีกทั้งทำให้เกิดความร่วมมือสามัคคี และลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนทั้งของครูเอง และของนักเรียน

­

ปัญหาของนักเรียนแกนนำคือ จำนวนนักเรียนที่รู้ เข้าใจ นำไปปฏิบัติ และสามารถถ่ายทอดได้ ยังมีจำนวนไม่มาก และนักเรียนแกนนำเอง ยังไม่สามารถเล่าเรื่องหรือนำเสนอ ให้ผู้ฟังได้อย่างเป็นเรื่องราว.... ผมแนะนำให้ดำเนินการดังนี้ครับ

­

จัดให้นักเรียนแกนนำฝึกเขียนเรื่องเล่า และฝึกเล่าเรื่อง เกี่ยวกับการปฏิบัติและการเรียนรู้ของตนเองจากฐานการเรียนรู้ที่ตนเองรับผิดชอบ ครูอาจฝึกให้นักเรียนนำเสนอเป็นเรื่องราวโดยกำหนดแนวทางตัวอย่างให้ก่อนเบื้อต้น เช่น

­

ฐานการเรียนรู้นี้คือฐานการเรียนรู้อะไร

ทำไมถึงได้มีฐานการเรียนรู้นี้ ความเป็นมาอย่างไร

ได้ปฏิบัติและเรียนรู้อะไรบ้างจากฐานการเรียนรู้ เช่น ถ้าได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติ ก็อธิบายขั้นตอนการทำ ประกอบเหตุผลที่จำเป็นในแต่ละขั้นตอน

เมื่อทำแล้ว เรียนรู้แล้ว ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร เชื่อมโยงกับชีวิตอย่างไร เป็นต้น

จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกนำเสนอเล่าเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น ในแต่ละครั้งที่โรงเรียนอื่นมาศึกษาดูงาน หรืออาจเชิญคณะกรรมการสถานศึกษา หรือ ผู้ปกครอง มาเยี่ยมชม โดยให้นักเรียนที่ปฏิบัติประจำฐานนั้นๆ ได้ฝึกนำเสนอ เล่าเรื่อง และตอบคำถามเกี่ยวกับฐานการเรียนรู้นั้นๆ

­

จัดให้มีกิจกรรม "ถอดบทเรียน" ของนักเรียน โดยมีครูร่วมนั่งฟังและซักถามด้วย เพื่อยกระดับความเข้าใจ และฝึกตีความ เชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

­

ฐานการเรียนรู้ที่โรงเรียนบ้านไร่พวยฯ มีนั้น ขอชื่นชมว่าดีมากครับ ครอบคลุมเชื่อมโยงสู่ชุมชน ในหลายๆ มิติ ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เช่น การมีฐานผักสวนครัว เพาะเห็ด เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงจิ๊งหรีด แล้วนำมาทำอาหารกลางวัน ถือเป็นการพึ่งตนเอง นอกจากนี้ยังการค้าขายผลิตเหล่านี้ หากจัดการเรียนการสอนให้บูรณาการกับฐานเหล่านี้ จะสามารถเชื่อมโยงสู่มิติเศรษฐกิจได้ไม่ยาก การนำเศษอาหารที่เหลือจากอาหารกลางวันมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ แล้วนำไปรดผักและใส่แปลงนาข้าว (ชาวบ้านมานำไปใช้ด้วย) และนำมาล้างห้องน้ำ ถือว่าเชื่อมโยงชีวิตสังคมและปลูกฝังให้มีอุปนิสัยพึ่งตนเองอย่างเป็นระบบ.....อย่างไรก็ตาม ฐานการเรียนรู้ที่มีอยู่ยังไม่สมบูรณ์นัก ในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

­

ยังขาดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เช่น ยังไม่มีการจดบันทึกการเข้ามาเรียนรู้ของนักเรียน ควรมีสมุดคู่มือปฏิบัติงานในแต่ละฐาน เพื่อจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำมาข้อมูลปัญหาต่างๆ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ พัฒนา เติมเต็มยกระดับความรู้ด้านวิชาการของการเรียนรู้ต่อไป

­

แต่ละฐานยังขาดข้อมูลพื้นฐานสำคัญของฐานการเรียนรู้ และองค์ความรู้ที่สำคัญๆ ซึ่งอาจแสดงไว้ในลักษณะของแผนป้าย หรือคู่มือ เป็นต้น ส่วนนี้สามารถช่วยเพิ่มโอกาสและบรรยากาศของการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้ เราอาจเรียกเทคนิคนี้ว่า "ครูที่พูดไม่ได้"

­

ควรมีสถานที่ๆ นำเสนอผลงานการปฏิบัติ หรือผลการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะการคิด และทักษะการสะท้อนเพื่อยกระดับการเรียนรู้ต่อไป

­

รายละเอียดได้เขียนไว้ในสมุดเยี่ยมแล้วครับ หวังว่าการเสนอสะท้อนตรงไปตรงมาแบบนี้ จะมีประโยชน์ และไม่มีโทษใดๆ นะครับ

­

"เราอยู่ในเรือลำเดียวกันครับ" ขอเป็นกำลังใจให้ท่าน ผอ.ทรงยศ ครูเกียรติศักดิ์ ครูวิไลรัตน์ และคุณครูทุกท่าน และนักเรียนทุกคนครับ

­

ฤทธไกร 

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ