สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research Division)
จัดตั้ง: 8 ม.ค. 2535
บทบาทองค์กร: การสนับสนุนกระบวนการสร้างความรู้ สร้างนักวิจัย และสร้างระบบการวิจัยเพื่อตอบคำถามและเสนอทางเลือกให้สังคม ซึ่งครอบคลุมทั้งระบบเศรษฐกิจภาคดั้งเดิมและสมัยใหม่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้เป็นสังคมฐานความรู้ครอบคลุมทุกระดับและทุกภาคส่วนของสังคมไทย
ข้อมูลองค์กร

งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

สกว. เริ่มสนับสนุน “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เมื่อเดือนตุลาคม 2541 โดยจัดตั้งสำนักงานภาค (สกว.สำนักงานภาค ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยยุทธศาสตร์ที่สำคัญเน้นที่การมุ่งเข้าไปเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นให้ “คน” ในชุมชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้วยการเข้าร่วมกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ชุมชนเพื่อกำหนดโจทย์ / คำถามวิจัย การทบทวนทุนเดิมในพื้นที่ การออกแบบการวิจัยและการวางแผนปฏิบัติการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล การทดลองปฏิบัติจริงเพื่อสร้างรูปธรรมในการตอบโจทย์วิจัยหรือแก้ปัญหาในพื้นที่วิจัย การประเมินและสรุปบทเรียน เน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยชาวบ้าน คนในชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ ข้าราชการ นักพัฒนา และผู้ทรงคุณวุฒิที่จะได้เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้และกลไกการจัดการปัญหาและการพึ่งตนเองของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่การวิจัย

สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้เน้นการจัดการและประสานให้เกิดการบูรณาการความเชื่อมโยงระหว่าง “ปัญญา” (ผู้ร่วมวิจัย) และ “พัฒนา” (ผู้มีส่วนร่วมงานพัฒนา) ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับชาติ ที่ดำเนินงานแบบแยกส่วน ต่างคนต่างทำอยู่ในปัจจุบัน ดังคำขวัญ “สร้างสรรค์ปัญญา เพื่อพัฒนาท้องถิ่น” เพื่อให้สังคมไทยได้ใช้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ในการในการแก้ไขปัญหาและตัดสินใจแทนการใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ อันนำไปสู่ความสามารถในการแก้ปัญหา พัฒนาตนเอง และพึ่งตนเองได้ในชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนาประเทศชาติจากฐานล่างที่ยั่งยืนในที่สุด

ลักษณะสำคัญของโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น

1. เป็นข้อสงสัย เป็นคำถาม หรือเป็นประเด็นที่คนในชุมชนท้องถิ่นเห็นว่ามีความสำคัญ และต้องการจะค้นหาคำตอบร่วมกัน
2. มีคนในชุมชนท้องถิ่นร่วมเป็นนักวิจัยและร่วมในกระบวนการวิจัยเพื่อค้นคว้าหาคำตอบ
3. มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหา

รูปแบบการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
การวิจัยเพื่อท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ
1. การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น
เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นให้ชาวบ้านใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือตามแนวคิดและวิธีการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทั้งในเชิงเนื้อหาและกระบวนการ ภายใต้หลักการว่า “เป็นปัญหาของชาวบ้าน ชาวบ้านเป็นทีมวิจัย และมีปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหา” โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 ปี งานวิจัยแบบนี้มีลักษณะเป็นการวิจัยที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนท้องถิ่น เพื่อการทำความเข้าใจและหาทางเลือกในการแก้ปัญหาในทุกประเด็น โดยชุมชนท้องถิ่นจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการในทุกขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ชุมชนเพื่อกำหนดโจทย์ / คำถามวิจัย การทบทวนทุนเดินในพื้นที่ การออกแบบการวิจัยและการวางแผนปฏิบัติการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล การทดลองปฏิบัติจริงเพื่อหารูปธรรมการแก้ไขปัญหาระหว่างดำเนินการวิจัยในพื้นที่ มีการประเมินและสรุปบทเรียน โดยนำเอาข้อสรุป/ผลจากการวิจัยไปสู่ทางเลือกของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิจัย

2. การวิจัยเพื่อสร้างทางเลือกของท้องถิ่น
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เสนอทางเลือกให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการและศักยภาพของท้องถิ่น และกลุ่มคนเป้าหมายที่มีหลากหลายระดับ หรือเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเลือกความเหมาะสม งานวิจัยแบบนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 8-10 เดือน โดยมุ่งใช้งานวิจัยเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ของปัญหาหรือสภาวการณ์ดำรงอยู่ของประเด็นหรือข้อสงสัยในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเป็นกระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัยและการสกัดความรู้และโจทย์การวิจัยจากการทำงานพัฒนาของชุมชน ตลอดจนใช้กระบวนการวิจัยเพื่อการเตรียมชุมชน เตรียมทีมวิจัยชาวบ้าน และนำไปสู่การวางแผนปฏิบัติการ และการสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาในเบื้องต้นของชุมชนท้องถิ่น


ขั้นตอนการขอรับทุน
1. เมื่อคนในชุมชนท้องถิ่นหรือผู้สนใจ ควรเริ่มต้นจากการทำ “เอกสารเชิงหลักการ” (Concept Paper) ที่มีความยาวไม่เกิน 4-5 หน้า
2. นำเสนอเอกสารเชิงหลักการมายังศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่ (Node) หรือพี่เลี้ยงที่อยู่ใกล้กับท่านมากที่สุด หรือเสนอต่อสกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (ในพื้นที่ที่ไม่มีโหนด/พี่เลี้ยงดูแล)
3. เมื่อศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือสกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้รับเอกสารเชิงหลักการแล้วจะพิจารณาแจ้งผลให้ผู้เสนอโครงการทราบภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับเอกสารเชิงหลักการ


เอกสารเชิงหลักการ (Concept Paper)
1. ชื่อโครงการวิจัย
ตั้งตามประเด็นปัญหา / ข้อสงสัย / เรื่องราวที่ต้องการศึกษา / เรียนรู้ / ค้นหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยต้องเป็นไปตามความต้องการของชุมชน

2. ความเป็นมาของเรื่องที่ต้องการทำวิจัย
สภาพการณ์ปัญหา ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน / อย่างไร ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขปัญหาโดยใครหรือไม่ / อย่างไร จนถึงปัจจุบันสภาพปัญหาเป็นอย่างไร หากไม่หาแนวทางแก้ไขแล้วจะเกิดผลเสียอย่างไร

3. คำถามวิจัย / วัตถุประสงค์ ในการทำวิจัย
ต้องการศึกษาเพื่อค้นหาคำตอบ หรือต้องการแก้ปัญหาในเรื่องใด / เพื่ออะไร

4. แผนงานและวิธีการศึกษา เพื่อให้สามารถตอบข้อสงสัยหรือแก้ปัญหาได้
มีแนวทางทดลองทำเพื่อนำไปสู่การหาคำตอบ หรือแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างไร / มีใครมาร่วมทำงานบ้าง / มีการดำเนินกิจกรรมอะไร / เมื่อไร

5. งบประมาณและระยะเวลาดำเนินงาน
มีแนวทางและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามกิจกรรมของงานวิจัย โดยมีความสอดคล้องกับ ระยะเวลาที่ดำเนินงานวิจัยในท้องถิ่น

6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
หากดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอน จนสามารถตอบคำถาม / ข้อสงสัย หรือ แก้ปัญหาได้แล้วจะมีประโยชน์อย่างไร / ใครได้ใช้ประโยชน์

7. ข้อมูล / ประวัติย่อหัวหน้าโครงการและทีมวิจัย พร้อมที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ที่สามารถติดต่อได้

ติดต่อองค์กร
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research Division)
ที่อยู่: ชั้น 23 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ เลขที่ 979/17-21 ถ.พหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์: 0-2278-8200 ต่อ 8309-8314, 8332-8340
โทรสาร: 0-2298-0462