ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ ของเด็กและเยาวชน
Supakiat Yombun

ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ (Executive Function)

         


          ทักษะที่จำเป็นของคนยุคปัจจุบัน คือต้องคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น วิเคราะห์แก้ปัญหาเป็น สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข ทักษะเหล่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จ แต่คำถามก็คือแล้วทักษะมากมายที่ว่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครบ้างที่จำเป็นจะต้องมี แล้วจะสามารถฝึกฝนทักษะนี้ได้อย่างไร

          เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 59 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม “ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” หรือ “Executive Functions” ทักษะนี้ คือ ชุดกระบวนการทางความคิด ที่ช่วยให้เราวางแผน มุ่งใจจดจ่อ จำคำสั่ง จัดการกับงานหลายๆอย่าง อย่างลุล่วงเรียบร้อยได้ สามารถจัดลำดับความสำคัญของงาน วางเป้าหมายและทำไปเป็นขั้นเป็นตอน จนสำเร็จ รวมถึงควบคุมแรงอยาก แรงกระตุ้นทั้งหลาย ไม่ให้สนใจไปนอกลู่นอกทางโดยองค์ประกอบหลักของทักษะนี้ประกอบด้วย

Credit : http://www.preschool.or.th/doc/Executive_Functions


1. กลุ่มทักษะพื้นฐาน :

ความจำที่นำไปใช้งาน(Working memory) / การยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรอง(Inhibitory control) / การยืดหยุ่นความคิด(Shifting flexibility)

2. กลุ่มทักษะกำกับตนเอง

การจดจ่อใส่ใจ(Focus attention) / การควบคุมอารมณ์(Emotional control) / การตรวจสอบตัวเอง รู้จักจุดแข็งขุดอ่อน(Self-monitoring)

3. กลุ่มทักษะปฏิบัติ

การริเริ่มลงมือทำ(Initiating) / การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ(Planning and Organizing) / ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย(Goal-directed persistence)

­

­            สิ่งที่ได้ค้นพบคือ ทักษะ EF เป็นทักษะของพื้นที่และโอกาส ที่ทุกคนจำเป็นจะต้องได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบันที่เราจะเห็นการทะเลาะวิวาทอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ หากเด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้มีพื้นที่และโอกาสในการพัฒนาทักษะ EF เขาจะมีความสามารถในการคิดที่ดี มีพฤติกรรมเชิงบวก มีความสามารถในการตัดสินใจในทางที่สร้างสรรค์ต่อตัวเอง และต่อคนอื่นๆ นำมาซึ่งความสำเร็จทั้งในการเรียน การงานอาชีพ การดูแลตัวเองและการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น แล้วใครกันที่จะเป็นคนเปิดพื้นที่และหยิบยื่นโอกาสนี้ให้พวกเขา ? ในความคิดเห็นของตัวผมเอง ผมเห็นว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่รอบตัวเด็ก ก็คือบุคคลสำคัญที่จะช่วยกันเปิดพื้นที่หยิบยื่นโอกาสให้เด็กทั้งสิ้น เพราะทักษะ EF ไม่ได้เกินขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนต่อเนื่อง เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กที่มีประสบการณ์ที่มากกว่า ก็ย่อมจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้โลกได้มากขึ้นกว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพียงแต่ผู้ใหญ่ไม่ยัดเยียดหรือมอบประสบการณ์ด้วยวิธีการบังคับให้เด็กเรียนรู้ เพราะเด็กจะไม่เต็มใจที่จะเรียนรู้และจดจำ พื้นฐานแรกที่สำคัญที่สุด คือการ สร้างความผูกพันและไว้วางใจให้เกิดขึ้นในใจเด็ก ให้เด็กรู้สึกมีความสุขที่จะเรียนรู้ พื้นฐานต่อไปคือ การดูแลสุขภาพทางกายภาพของสมองให้แข็งแรง โดยมีเวลาให้พวกเขาได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ พื้นฐานต่อไป คือสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเต็มที่ และพื้นที่ฐานที่สำคัญอีกอย่างคือ การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ให้พวกเขาได้มีโอกาสคิด สงสัย ตั้งคำถาม และหาคำตอบด้วยตนเอง พื้นฐานทั้งสี่ข้อที่กล่าวมาเป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้นในการพัฒนาทักษะ EF ให้กับเด็ก จริงๆแล้วทักษะ EF เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนกระบวนการของการเรียนรู้ที่เด็กได้สัมผัสและลงมือทำด้วยตนเองอยู่แล้ว

­


           การให้โอกาส เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาทักษะและสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กควรจะมีและหยิบยื่นให้เด็กตลอดเวลา เมื่อพวกเขาเห็นคุณค่าและได้เรียนรู้จากโอกาสที่ได้รับ พวกเขาก็พร้อมที่จะหยิบยื่นโอกาสเหล่านี้ให้กับคนอื่นๆในสังคมต่อไป

­

ขอขอบคุณ เอกสารการเรียนรู้เรื่อง ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ (Executive Functions = EF) เรียบเรียงโดย สุภาวดีหาญเมธี สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)

­