ลดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่สไตล์เมืองแก
นาถชิดา อินทร์สอาด

การเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชมของเทศบาลตำบลเมืองแก จังหวัดสุรินทร์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีคิด วิธีทำงานของเจ้าหน้าที่ไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่คิดและทำโดย ทต.ทั้งหมดถูกเปลี่ยนมาเป็น “สร้างความร่วมมือ” กับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ปราญช์ ผู้รู้ แต่ที่ดีไปกว่านั้นคือ กระบวนการของนักถักทอชุมชนที่ทำให้ เทศบาล “เห็นคน เห็นงาน” ที่จะไปขับเคลื่อนต่อ 

บ้านเมืองแก คือพื้นที่ปฏิบัติการของนักถักทอชุมชน ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ เกิดเป็นโมเดลประเทศเมืองแก โดยการจำลองการบริหารแบบประเทศ มีรัฐมนตรีเข้ามาดูแลรับผิดชอบกระทรวงต่างๆ ท้ายสุดคือชุมชนเกิดกลไกการพึ่งตนเองในการพัฒนาหมู่บ้าน มีการจัดหาทีมงานที่เหมาะสมทำให้ปัญหาของชุมชนได้รับการแก้ไข ไม่ใช่เพียงแต่ชุมชนเท่านั้นที่ได้รับการพัฒนา ตัวคนทำงานเองก็ได้รับการพัฒนาเช่นกัน

­

“งานวิจัยช่วยเรื่องการเก็บข้อมูลชุมชนทำให้เรารู้ทุกข์ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของข้าราชการท้องถิ่นในการปฏิบัติหน้าที่ ”

นายสุรศักดิ์ หรือ ป.เช่ บอกถึงประโยชน์จากการมีโอกาสได้เข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอว่า “ถ้าประโยชน์ในส่วนตัว คือการฝึกตัวเองในแง่ทักษะการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าคนที่จะไปแปลงนโยบายเป็นวิธีปฏิบัติ ก็คือข้าราชการท้องถิ่นนี่แหละ แล้วก็งานวิจัยจะฝึกเราในเรื่องของการลงไปทำงานเรื่องข้อมูลกับชุมชน ฝึกเรื่องการไปสัมผัส อย่างน้อยให้รู้ทุกข์ของชาวบ้าน ซึ่งผมว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญของข้าราชการท้องถิ่น ต้องรู้ทุกข์รู้ทุนของชาวบ้าน แล้วก็เข้าไปออกแบบยังไงในส่วนของกิจกรรม”

นายสุรศักดิ์ สิงหาร
ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก


­

“งานวิจัย คือการเก็บข้อมูลและถอดบทเรียน ช่วยให้เรามองเห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน ”

ถึงแม้จะมีประสบการณ์การทำงานในชุมชนเพราะดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านมาหลายสมัย แต่ผู้ใหญ่เบิ้มก็ยอมรับว่า ที่ผ่านมาทำมาหมดแล้วทุกอย่างแต่ไม่เคยมีการเก็บข้อมูลเลย ได้แค่ทำแต่ไม่เคยมาคิดต่อ ไม่เคยเอามาถอดบทเรียน แต่หลังจากเข้าร่วมงานนี้ทำให้เขาพบว่า งานวิจัยคือการเก็บข้อมูล และถอดบทเรียน ที่ทำให้เรามองเห็นสภาพปัญหาที่มันเกิดขึ้นจริงในชุมชน

---------------

นายเบิ้ม สงนวน
ผู้ใหญ่บ้านเมืองแก


­

“งานวิจัย ทำให้เรารู้จักชุมชน รู้จักตัวเอง ”

สมหมาย ถือเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งของชุมชนบ้านเมืองแก สมหมายบอกถึงความต่างของงานวิจัยที่ตนได้มีโอกาสเข้าร่วมว่า งานวิจัยทำให้ได้รู้จักชุมชน รู้จักตัวเอง เธอบอกว่าสิ่งหนึ่งที่เธอนำไปใช้คือ เวลาเก็บข้อมูลกับครอบครัวเป้าหมายทำให้เรารู้จักจดข้อมูล ถ้าเราไม่เข้าใจสามารถถามทีมวิจัย หรือเพื่อนๆของเราว่าเราจะไปตรงนี้เราจะทำยังไง ทำให้เรารู้จักคิด รู้จักคุย กล้าที่จะตั้งคำถามมากขึ้น”

--------------

กรรมการสภาผู้นำชุมชน และประธานคุ้มหรดี


ตอนแรกหนักใจกับคำว่า “วิจัย” โดยเฉพาะเรื่องการเก็บข้อมูล แต่พอเริ่มเรียนรู้กระบวนการ รู้สึกท้าทาย อยากรู้ว่าการที่จะดึงชุมชนให้มีส่วนร่วมทำได้ยังไง
“3 ปีที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เราไม่เคยรู้เลยว่าชุมชนเราอยู่ยังไง กินอะไรแบบไหน อยู่กันยังไง แต่พอเราได้สัมผัสได้ลงพื้นที่จริง ได้เก็บบริบทจริงของครัวเรือนที่เราลง ก็ทำให้เรารู้ว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่รู้ ทำให้เรามาปรับใช้ในการวางแผนการทำงานแก้ไขปัญหาของชุมชน”
งานวิจัยทำให้รู้จักคิดรู้จักมองโลกให้กว้างไม่แคบเหมือนแต่ก่อน ทำให้เธอรู้จักบริบทชุมชน รู้จักวิเคราะห์ ใจเย็น เห็นใจคนอื่นมากขึ้น

----------------

สายใจ คงทรัพย์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3

­