องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอียอ ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชน ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีตัวตนให้เด็กและเยาวชนนอกระบบ ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะอาชีพจากการเข้าฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง สร้างรายได้ให้ตัวเองแทนการเดินเข้าหาปัจจัยเสี่ยง
การทำงานของอบต.หนองอียอจึงเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนนี้เป็นพิเศษ เพราะมองว่าเขาต้องการพื้นที่ในการให้โอกาส เหมือนกับเยาวชนคนอื่นทั่วไป หลังได้เข้าร่วมโครงการยิ่งทำให้อบต.บรรลุเป้าหมายเพราะเยาวชนส่วนใหญ่ที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมล้วนถูกปลูกฝังวิธีคิดให้ใหม่ โดยเน้นที่การดูแลตัวเองให้ได้เป็นหลักแล้วจึงมุ่งไปที่การทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่แค่เพียงเยาวชนเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ในฐษนะคนทำงานเองก็มีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไประหว่างการทำงานเช่นกัน
“อยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนโดยไม่จำกัดว่าเด็กคนนั้นเป็นเด็กในระบบ นอกระบบหรือเป็นอะไรก็ตาม”
จิณวัฒน์ บอกว่า ความต้องการที่อยากได้จากผู้ใหญ่ใจดี คือ อยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนโดยไม่จำกัดว่าเด็กคนนั้นจะเป็นเด็กในระบบ นอกระบบหรือเป็นอะไรก็ตาม
“ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมามีกรอบบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถทำสิ่งที่ชอบได้ ขี่เตอร์ไซค์เราก็ถูกเรียกว่าเด็กแว๊น ถ้ามีผู้ใหญ่ให้โอกาสวัยรุ่นได้มีพื้นที่แสดงความสามารถสถานการณ์น่าจะดีขึ้น อย่างเด็กในชุมชนถ้าอยากเรียนงานช่างไม่ต้องไปถึงในจังหวัดได้ไหม เรียนอยู่ในชุมชนได้ไหม สำหรับพวกเรามีช่วงเวลาหนึ่งระหว่างการทำโครงการวิจัยที่เราอยากให้ผู้ใหญ่เข้ามาไต่ถาม ผมเข้าใจว่าพี่ ๆ ทำงาน อบต.มีงานมีหน้าที่ แต่เมื่อพวกเราไปอยู่ต่างที่แล้วไม่มีผู้ใหญ่แวะเวียนมาหา บางครั้งเรารู้สึกเหมือนขาดที่พึ่งไม่มีที่ปรึกษา”
จิณวัฒน์ สืบเพ็ง
แกนนำเยาวชน : ช่างคอมพิวเตอร์
“งานวิจัย ช่วยให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาตัวเอง ทำให้เยาวชนที่เรียนไม่จบมีอาชีพติดตัว”
จิ๋วตัวแทนเยาวชนนอกระบบ จากชุมชนหนองอียอ บอกว่า ข้อดีของการทำงานวิจัย คือ ทำให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาตัวเอง เยาวชนที่เรียนไม่จบได้มีอาชีพติดตัว นอกจากนี้การสำรวจชุมชนยังทำให้พวกเขารู้จักชุมชนของตัวเองดีขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยสนใจไม่ให้ความสำคัญกับทุนด้านต่าง ๆ ที่มีในชุมชน ก็กลับมามองเห็นคุณค่าและประโยชน์ นอกจากกระบวนการส่งเสริมความรู้แล้วกระบวนการพัฒนาจะเกิดขึ้นและเห็นผลได้อย่างชัดเจน หากเด็กและเยาวชนได้รับการสนับสนุนในภาคปฏิบัติไม่เฉพาะแค่ให้ความรู้
“ต้องยอมรับว่าสำหรับเด็กนอกระบบ กระบวนการคิดในแต่ละขั้นตอนนอกจากการหนุนให้เด็กคิดเองทำเองแล้ว เด็กยังต้องการกำลังใจและคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ การเปิดพื้นที่ในลักษณะที่เป็นการชักชวนมากกว่าการชักจูง”
จิ๋ว - ชนาพัทธ์ ศรีพิมพ์สอ
แกนนำเยาวชน : ช่างตัดผม
“เหมือนได้ปฎิวัติการทำงานของตัวเองใหม่จริง ๆ โดยเฉพาะมุมมองเรื่องการใช้ข้อมูลองค์รวมเพื่อนำมาคิดวิเคราะห์แทนการตัดสินด้วยสายตารวมทั้งการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น”
นายปฏิวัติเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ว่า เหมือนได้ปฏิวัติการทำงานของตัวเองใหม่ โดยเฉพาะมุมมองเรื่องการใช้ข้อมูลองค์รวมเพื่อนำมาคิดวิเคราะห์ แทนการตัดสินด้วยสายตา รวมทั้งการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
กระบวนการคิดและการทำงานวิจัยชุมชน เข้ามาช่วยการทำงานของ อบต. ในภาพรวม ไม่เฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชน จากเดิม อบต. ไม่ได้ออกแบบวางแผนรวบรวมข้อมูลอย่างตรงจุด ทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างแท้จริง หรือ ‘แก้ไขปัญหาได้ไม่ตรงจุด’ นั่นเอง ทั้งนี้ บทเรียนที่ได้เรียนรู้ คือ ความต้องการของชาวบ้าน ต้องมาประกอบกับความจำเป็นที่แท้จริงของชุมชนด้วย
ปฏิวัติ สระแก้ว
รองนายกฯ อบต. หนองอียอ
“เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อนมาก ถ้ามีนัดเรารอได้แค่ 15 นาทีเท่านั้น ถ้ายังไม่มาเราสั่งให้รถออกเลย เดี๋ยวนี้ใจเย็นลง ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น”
สมใจ ยอมรับว่า กระบวนการทำวิจัยทำให้ตนเป็นคนยืดหยุ่น ไม่คาดหวัง เรียกว่า เป็นการฝึกความเข้มแข็งในจิตใจ จนกระทั่งสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น
“เมื่อก่อนเป็นคนโหดมากใจร้อนและไม่ยืดหยุ่น สมมุติมีนัดเรารอได้แค่ 15 นาทีเท่านั้น ถ้ายังไม่มาเราสั่งให้รถออกเลย แต่เดี๋ยวนี้รอได้เป็นชั่วโมง”
สมใจ ณ เชียงใหม่
เลขานุการนายก ฯ อบต.หนองอียอ