โมเดลแก้ปัญหาเด็กนอกระบบตำบลหนองอียอส่งเสริมอาชีพ
นาถชิดา อินทร์สอาด

­

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอียอ ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชน ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีตัวตนให้เด็กและเยาวชนนอกระบบ ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะอาชีพจากการเข้าฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง สร้างรายได้ให้ตัวเองแทนการเดินเข้าหาปัจจัยเสี่ยง

การทำงานของอบต.หนองอียอจึงเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนนี้เป็นพิเศษ เพราะมองว่าเขาต้องการพื้นที่ในการให้โอกาส เหมือนกับเยาวชนคนอื่นทั่วไป หลังได้เข้าร่วมโครงการยิ่งทำให้อบต.บรรลุเป้าหมายเพราะเยาวชนส่วนใหญ่ที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมล้วนถูกปลูกฝังวิธีคิดให้ใหม่ โดยเน้นที่การดูแลตัวเองให้ได้เป็นหลักแล้วจึงมุ่งไปที่การทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่แค่เพียงเยาวชนเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ในฐษนะคนทำงานเองก็มีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไประหว่างการทำงานเช่นกัน

­

“อยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนโดยไม่จำกัดว่าเด็กคนนั้นเป็นเด็กในระบบ นอกระบบหรือเป็นอะไรก็ตาม”

จิณวัฒน์ บอกว่า ความต้องการที่อยากได้จากผู้ใหญ่ใจดี คือ อยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนโดยไม่จำกัดว่าเด็กคนนั้นจะเป็นเด็กในระบบ นอกระบบหรือเป็นอะไรก็ตาม

“ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมามีกรอบบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถทำสิ่งที่ชอบได้ ขี่เตอร์ไซค์เราก็ถูกเรียกว่าเด็กแว๊น ถ้ามีผู้ใหญ่ให้โอกาสวัยรุ่นได้มีพื้นที่แสดงความสามารถสถานการณ์น่าจะดีขึ้น อย่างเด็กในชุมชนถ้าอยากเรียนงานช่างไม่ต้องไปถึงในจังหวัดได้ไหม เรียนอยู่ในชุมชนได้ไหม สำหรับพวกเรามีช่วงเวลาหนึ่งระหว่างการทำโครงการวิจัยที่เราอยากให้ผู้ใหญ่เข้ามาไต่ถาม ผมเข้าใจว่าพี่ ๆ ทำงาน อบต.มีงานมีหน้าที่ แต่เมื่อพวกเราไปอยู่ต่างที่แล้วไม่มีผู้ใหญ่แวะเวียนมาหา บางครั้งเรารู้สึกเหมือนขาดที่พึ่งไม่มีที่ปรึกษา”

จิณวัฒน์ สืบเพ็ง

แกนนำเยาวชน : ช่างคอมพิวเตอร์

­

“งานวิจัย ช่วยให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาตัวเอง ทำให้เยาวชนที่เรียนไม่จบมีอาชีพติดตัว”

จิ๋วตัวแทนเยาวชนนอกระบบ จากชุมชนหนองอียอ บอกว่า ข้อดีของการทำงานวิจัย คือ ทำให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาตัวเอง เยาวชนที่เรียนไม่จบได้มีอาชีพติดตัว นอกจากนี้การสำรวจชุมชนยังทำให้พวกเขารู้จักชุมชนของตัวเองดีขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยสนใจไม่ให้ความสำคัญกับทุนด้านต่าง ๆ ที่มีในชุมชน ก็กลับมามองเห็นคุณค่าและประโยชน์ นอกจากกระบวนการส่งเสริมความรู้แล้วกระบวนการพัฒนาจะเกิดขึ้นและเห็นผลได้อย่างชัดเจน หากเด็กและเยาวชนได้รับการสนับสนุนในภาคปฏิบัติไม่เฉพาะแค่ให้ความรู้

“ต้องยอมรับว่าสำหรับเด็กนอกระบบ กระบวนการคิดในแต่ละขั้นตอนนอกจากการหนุนให้เด็กคิดเองทำเองแล้ว เด็กยังต้องการกำลังใจและคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ การเปิดพื้นที่ในลักษณะที่เป็นการชักชวนมากกว่าการชักจูง”

จิ๋ว - ชนาพัทธ์ ศรีพิมพ์สอ

แกนนำเยาวชน : ช่างตัดผม

“เหมือนได้ปฎิวัติการทำงานของตัวเองใหม่จริง ๆ โดยเฉพาะมุมมองเรื่องการใช้ข้อมูลองค์รวมเพื่อนำมาคิดวิเคราะห์แทนการตัดสินด้วยสายตารวมทั้งการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น”

นายปฏิวัติเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ว่า เหมือนได้ปฏิวัติการทำงานของตัวเองใหม่ โดยเฉพาะมุมมองเรื่องการใช้ข้อมูลองค์รวมเพื่อนำมาคิดวิเคราะห์ แทนการตัดสินด้วยสายตา รวมทั้งการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น

กระบวนการคิดและการทำงานวิจัยชุมชน เข้ามาช่วยการทำงานของ อบต. ในภาพรวม ไม่เฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชน จากเดิม อบต. ไม่ได้ออกแบบวางแผนรวบรวมข้อมูลอย่างตรงจุด ทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างแท้จริง หรือ ‘แก้ไขปัญหาได้ไม่ตรงจุด’ นั่นเอง ทั้งนี้ บทเรียนที่ได้เรียนรู้ คือ ความต้องการของชาวบ้าน ต้องมาประกอบกับความจำเป็นที่แท้จริงของชุมชนด้วย

ปฏิวัติ สระแก้ว

รองนายกฯ อบต. หนองอียอ

­

­

“เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อนมาก ถ้ามีนัดเรารอได้แค่ 15 นาทีเท่านั้น ถ้ายังไม่มาเราสั่งให้รถออกเลย เดี๋ยวนี้ใจเย็นลง ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น”

สมใจ ยอมรับว่า กระบวนการทำวิจัยทำให้ตนเป็นคนยืดหยุ่น ไม่คาดหวัง เรียกว่า เป็นการฝึกความเข้มแข็งในจิตใจ จนกระทั่งสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น

“เมื่อก่อนเป็นคนโหดมากใจร้อนและไม่ยืดหยุ่น สมมุติมีนัดเรารอได้แค่ 15 นาทีเท่านั้น ถ้ายังไม่มาเราสั่งให้รถออกเลย แต่เดี๋ยวนี้รอได้เป็นชั่วโมง”

สมใจ ณ เชียงใหม่

เลขานุการนายก ฯ อบต.หนองอียอ