การเลือกโจทย์จากสถานการณ์ที่ชุมชนกำลังเผชิญ “ปัญหา” เป็น “สิ่งสำคัญ”
พรรณมาลี พานทวีป

เมื่อหนุ่มน้อยชื่อ “ฟ้าร้อง” หรือ ชัยวัฒน์ จันตา และเพื่อนๆ ใน “หมู่บ้านแม่ป้อกใน” อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ต้องร่วมด้วยช่วยกันกับคนในหมู่บ้านจัดการกับปัญหาขยะ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ผ่าน “โครงการลดขยะภายในหมู่บ้าน” ด้วยวิธีการนำ “ต้นทุน” ของชุมชนที่มีมาใช้ประโยชน์ นำไปสู่การปรับพฤติกรรมการ “ทิ้งขยะ” และ “จัดการขยะ” ในพื้นที่ส่วนรวมของบ้านตัวเองและชุมชน

เห็นความสำคัญของ “ต้นทุน” ที่มี นำไปสู่การดูแลด้วยการ “ปรับพฤติกรรม”

หมู่บ้านแม่ป้อกใน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอญอ เป็นหมู่บ้านที่มีนกยูงป่า มีป่าไม้ มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทรัพยากรค่อนข้างสมบูรณ์ มีประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อที่ยังคงรักษาไว้ มีอาชีพหลักส่วนใหญ่คือ “การทอผ้า” นอกจากนี้ บ้านแม่ป้อกใน ยังเป็นหมู่บ้าน OTOP ชีววิถี และเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีคนมาเยี่ยมเยือนอยู่ตลอดเวลา ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่มี“ต้นทุนดี” แต่ขณะเดียวกัน ก็มีขยะที่ถูกทิ้ง เรี่ยราดตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้าน จึงทำให้ “ฟ้าร้อง” หรือ นายชัยวัฒน์ จันตา และเพื่อน ๆ เห็นว่า ปัญหา “ขยะ” เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแลอันดับแรก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่มาจากพฤติกรรม รวมเป็นส่วนหนึ่งในการทำลาย “ต้นทุนด้านทรัพยากร และวัฒนธรรม” ในหมู่บ้านของเขาด้วย และควรเริ่มปรับ “พฤติกรรมการทิ้ง” ทำให้เกิด โครงการลดขยะภายในหมู่บ้าน

การเลือกโจทย์จากสถานการณ์ที่ชุมชนกำลังเผชิญ”ปัญหา” จึงเป็น “สิ่งสำคัญ”

การทิ้งขยะ มักง่าย “กินที่ไหน กินที่นั้น”

“หมู่บ้านผมไม่มีวิธีการจัดการขยะ ทุกวันพฤหัส จะมีรถของเทศบาลมารับ และรับไปทิ้งขยะให้ แต่ว่า ในที่สาธารณะก็ยังสกปรก ขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติก และขยะแห้งเยอะ แต่กว่าจะมาเป็นโครงการนี้ได้ เราก็ผ่านการคิดมาเยอะ ก่อนหน้านั้นก็มีการทำฝาย ทำอู่ซ่อม ไปวัดไหว้พระ จนมาคิดว่า เรื่อง “ขยะ” ก็เป็นปัญหาใหญ่ของชุมชน”

“ขยะส่วนใหญ่ถูกนำไปทิ้งบริเวณบ่อขยะ และจุดไฟเผา ทำให้กลิ่นเหม็น บ้านคนที่อยู่ใกล้ๆ เกิดการเจ็บป่วย ซึ่งไม่มีคนดูแลตรงนี้ บางครั้งทำให้ไฟลุกรามเข้าไปในเขตป่าชุมชน สร้างความเสียหายให้กับป่าชุมชนของหมู่บ้านนี่มันปัญหาใหญ่แล้ว”

ผมเลยบอกเพื่อนว่าเราจะทำโครงการลดขยะ แล้วบอกเพื่อนๆ เดี๋ยวเรียกผู้ใหญ่มาคุย เช่น อสม. ตัวแทนชุมชนมาคุยกัน และให้มี 50 ครัวเรือน ร่วมเป็นแกนนำ เพื่อทำเรื่อง “คัดแยกขยะ” ให้เป็นที่

เมื่อ “ลงมือทำ” การเป็น “ผู้นำ” ไม่ใช่เรื่องง่าย

ความยากในการเป็น “ผู้นำ” สำหรับผม บางครั้งเรารู้ท้อกับสิ่งที่เรา “ร้องขอ” และ “ไม่ให้ความร่วมมือ” พูดอะไรก็ “ไม่ฟัง” คนพูดก็รู้สึกน้อยใจที่ไม่มีคนฟัง

ยิ่งการทำงานเป็น “ทีม” ไม่ใช่เรื่องง่าย มันยากสำหรับตัวเอง การที่จะเอาพ่อแม่พี่น้อง มานั่งฟังเราพูด บางทีเรา “กลัว” สิ่งที่จะพูดออกมาว่าเค้าจะ “ฟัง” และ เข้าใจ” สิ่งที่เราพูดรึป่าว? เราอยากจะดึงเยาวชนบางส่วนในชุมชนที่ “มั่วสุม” มาช่วยด้วย

เราเริ่มต้นพวกเราเองต้องคัดแยกขยะให้เป็น มีจุดคัดแยกขยะ และอยากให้มีที่ทิ้งขยะสาธารณะเพิ่มขึ้นใน 7 วัน เราจะนัดสมาชิกทำงานกันในวันพระ เพราะคนในหมู่บ้านส่วนมากผู้หลักผู้ใหญ่จะมาไหว้พระ และเป็นวันนัดประชุมหมู่บ้าน เราก็จะชี้แจงโครงการและขอความร่วมมือในวันนั้น เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้สิ่งที่เราหวังไว้ว่ามันจะดีขึ้น ก็คือ ความร่วมมือของทุกคน

ตอนนี้เรามีสมาชิกในหมู่บ้านทั้งหมด 25 คน พวกเราเป็นแกนนำรุ่นที่ 3 การทำโครงการนี้ มันทำให้มีโอกาสได้คิด ได้ทำ มีพี่ๆ พูดชวนให้คิด และ ดึงความรู้ออกมาให้เราเห็นอะไรบางอย่างจากที่เราไม่เห็นทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ได้ประสบการณ์ในสิ่งที่ไม่เคยทำและได้ทำ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกัน เพราะเมื่อก่อนเยาวชนอย่างพวกเราก็ต่างคนต่างอยู่

“ต้นทุน” ที่มี เอามาใช้ประโยชน์

อาชีพส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเรา คือ “การทอผ้า” และคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ใช้ “ย่าม” ที่ทำได้เอง เรามีแกนนำครัวเรือนตัวอย่างทั้งหมด 50 ครัวเรือน ต่อไป “50 ครัวเรือนตัวอย่าง” ต้องใช้ “ถุงย่าม” ไม่ใช้ “ถุงพลาสติก” และต้องเอาขยะไปไว้ที่หน้าบ้าน คัดแยกขยะให้เรียบร้อย เพื่อนำไปขายและนำเงินส่วนหนึ่งมาพัฒนาโครงการต่อ

เราหวังว่า สิ่งที่พวกเราทำสิ่งที่มีคุณค่า จะทำให้ชุมชนสะอาด ไม่ทำให้ชุมชนได้รับมลพิษ ไม่ได้รับความเสียหาย และมีความรู้ในการคัดแยกขยะมากขึ้น มันต้องเริ่มจากที่ตัวเราเอง

...เป็นกำลังใจให้น้อง “ฟ้าร้อง” และเพื่อนๆ ต่อไปนะคะ...