โครงการ อนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านสันคะยอมจากรุ่นสู่รุ่น เยาวชนบ้านสันคะยอม ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน
พรรณมาลี พานทวีป

การที่ได้เห็นสถานการณ์ปัญหาป่าชุมชนในชุมชนของตัวเอง ทำให้ เยาวชนบ้านสันคะยอม อ.เมือง จ.ลำพูน ตื่นตัว ชวนกันอนุรักษ์ป่าชุมชนสันคะยอม ค้นหากิจกรรมปลุกจิตสำนึกแก่เยาวชนในพื้นที่ ร่วมคืนความสมบูรณ์ให้ป่าชุมชนจากปัญหาไฟป่า และการขาดแคลนทรัพยากร ผ่านโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านสันคะยอมจากรุ่นสู่รุ่

สิ่งสำคัญในการออกแบบกิจกรรมของเยาวชนบ้านสันคะยอม คือการได้มีโอกาสสำรวจป่า และเรียนรู้ในการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงของป่าตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้พวกเขาเห็นต้นทุนด้านทรัพยากรและผลผลิตจากป่าในชุมชนของตัวเอง รวมถึงข้อมูลจากการทำกิจกรรเหล่านี้ทำให้เยาวชนรู้จักชุมชนของตัวเองได้มากที่สุด

นอกความรู้ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ลองมาดูประสบการณ์ในฐานะคนทำโครงการมีบทเรียนระหว่างทางที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขาปรับเปลี่ยนทำเองไม่ใช่น้อย

­

“ก่อนนี้จะเล่นเกมตลอด ใจร้อน อยู่ไม่นิ่ง แต่พอทำงานในโครงการทำให้ทุกวันนี้สามารถจับประเด็น และสรุปข้อมูลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเล่นเกมน้อยลงด้วย”

ภูมิ เป็นอีกคนที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน จากเมื่อก่อนเป็นเด็กพูดมากอยู่ไม่นิ่งต้องมีอะไรมาทำตลอดเวลา เช่น เล่นเกม เป็นคนใจร้อน แต่ถ้าถามถึงความเปลี่ยนแปลงในวันนี้ ภูมิยกให้เป็นเรื่องการฝึกจับประเด็น การพูด และการฟังจากการทำสรุปข้อมูลต่าง ๆ รวบรวมมาทำเป็น mind map สำหรับใช้ในโครงการ อีกทั้งยังรู้จักการแบ่งเวลา 

เพระเมื่อก่อนจะเล่นเกมเป็นเรื่องใหญ่แต่โครงการนี้เป็นงานส่วนรวม ภูมิจึงต้องยอมวางเกมเพื่อมาช่วยเพื่อนทำงานให้เสร็จ

ภูมิ-ภูมิพิพัฒน์ สัตย์จริง

­

“เรื่องภูมิปัญญา ถ้าเราไม่สืบทอดต่อมันจะหยุดที่รุ่นของผู้ใหญ่ ถ้าเด็กอย่างเราไม่เรียนรู้ไว้มันก็จะหายไป”

พี่โตสุดอย่างแยม รู้สึกว่าตนเองได้รู้เรื่องป่ามาก และเรื่องหมู่บ้านมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนไปเรียนแล้วต้องอยู่หอ จึงไม่ค่อยได้สนใจเรื่องในชุมชน แต่การทำโครงการนี้ทำให้เธอได้กลับบ้านบ่อยขึ้น และด้วยบทบาทที่ทำอยู่มันหล่อหลอมให้แยมมีความรับผิดชอบและรักชุมชนมากขึ้นด้วย

แยม - ทินภัทร ศรีผดุง 

­

“ในการทำงานมีสถานการณ์ที่บังคับให้ต้องมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นอยู่เสมอ ทำให้ความกล้าแสดงออกและความมั่นใจกลายเป็นทักษะใหม่ที่ได้รับ”

จอร์แดน เรียนรู้การวางแผนมากขึ้น และสามารถแบ่งเวลาได้ชัดเจน เพราะงานที่รับผิดชอบเยอะขึ้น และเวลามีน้อยลงทำให้ต้องมีการวางแผน ส่วนในเรื่องของความกล้าจอร์แดนบอกว่าโครงการนี้ทำให้ตัวเองกล้าแสดงออกมากขึ้นเพราะต้องมีส่วนร่วมในการพูดเสนอความคิดเห็นอยู่เสมอ

จอร์แดน-สิรวิชญ์ อรุณศรี

­

“กลายเป็นคนกล้าแสดงออกเพราะต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ความมั่นใจในตัวเองทำให้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น”

พีท หรือ พีท-ซ่า จากอดีตเด็กแว้น เล่นเกม โลกส่วนตัวสูง แต่เปลี่ยนไปตั้งแต่ร่วมโครงการ กลายเป็นคนที่มีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งพีทมองว่าการกล้าแสดงออกนี้ช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้นเพราะสามารถเข้าหาผู้คนได้ง่ายขึ้น เวลาเรามีปัญหาก็สามารถยื่นมือขอความช่วยเหลือจากคนที่อื่นได้

พีท-ปฎิภาณ ณ บางช้าง

หลังเสร็จสิ้นโครงการ รากแก้วของกลุ่มเยาวชนค่อยๆ ฝังรากลึกเข้าไปอยู่ในใจของคนในชุมชน กระบอกเสียงเล็กๆ ของกลุ่มเยาวชนที่ต้องการพื้นที่ในการลุกขึ้นมาลองปฏิบัติ เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าภายใต้ศักยภาพของคำว่า “เยาวชน”จะสามารถช่วยเหลือชุมชนที่ตัวเองอยู่ได้อย่างไรบ้าง และนี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า“เยาวชน” คือกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนไม่ต่างกับผู้ใหญ่