โครงการ ศึกษาข้อมูลการปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อส่งเสริมการปลูก การบริโภคให้กับคนในชุมชนบ้านหัวทาง ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล
พรรณมาลี พานทวีป

จุดเริ่มต้นของคนไม่กินผัก (บางอย่าง) ที่ต้องมาทำเรื่องของผัก ถือเป็นเรื่องท้าทายของกลุ่มเยาวชนจากบ้านหัวทาง ที่ตัดสินใจเลือกทำโครงการเพื่อส่งเสริมการปลูกการบริโภคให้กับคนในชุมชน โดยมุ่งหวังให้คนในชุมชนได้บริโภคผักปลอดภัย จากเป้าหมายแรกเริ่มของการเริ่มทำโครงการเพราะต้องการสร้างรายได้ให้กับน้องๆ ในชุมชน จึงเป็นที่มาของการเฟ้นหากิจกรรมที่เหมาะกับศักยภาพของตัวเองมากที่สุด จะทำเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาก็ดูน่าจะเกินกำลัง จึงมาจบที่เรื่องราวใกล้ตัวนั่นคือการปลูกผัก ถึงแม้แต่จะมีข้อจำกัดที่ว่าแต่ละคนต่างไม่กินผัก (บางชนิด) ก็ตาม แต่อย่างน้อยแต่ละคนก็พอมีประสบการณ์ในการปลูกผักมาบ้างจากโรงเรียนทำให้ทีมงานมุ่งมั่นและตัดสินใจเลือกที่จะชักชวนให้ชาวบ้านปลูกผัก ทีมงานติดต่อว่าปลูกผักอย่างเดียวคงไม่พอแต่ควรเป็นการปลูกผักปลอดสารพิษมากกว่าเพื่อให้คนในชุมชนที่บริโภคผักมีสุขภาพที่แข็งแรง
กว่าจะมาถึงวันนี้เยาวชนจากบ้านหัวทางก็เจอปัญหามาไม่น้อย ทั้งเพื่อนในทีมหาย ผักไม่โตอย่างที่หวัง ทำให้ทีมงานต่อจัดการต่อความรู้สึกผิดหวัง ท้อใจอยู่ไม่น้อย แต่นั่นล้วนเป็นประสบการณ์ที่สร้างการเรียนรู้ให้กับพวกเขาทั้งสิ้น 

­

“หนูนำความรู้เรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษไปเล่าให้ตายายฟัง ทำให้ผักที่บ้านปลอดสารพิษ”
เพราะที่บ้านปลูกผักอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เคยได้ลองหาข้อมูลวิธีการปลูกอย่างจริงจังสักที พอมาทำโครงการนี้ทำให้เราเห็นว่าผักในตลาดส่วนใหญ่ที่เราเคยซื้อทานมีสารพิษเจือปนอยู่ ทำให้อัยมี่นำความรู้ที่ได้จากการทำโครงการนี้ไปขยายผลสู่ตาและยาย ในการปลูกผักปลอดสารพิษ
“เรารู้แล้วว่าผักในตลาดมีสารพิษ ดังนั้นการที่เราได้เรียนรู้วิธีปลูกผักปลอดสารพิษ เราก็สามารถกลับไปปลูกกินที่บ้านได้เอง ผักที่บ้านจะไม่ใช้สารเคมีเลย จะใช้เป็นน้ำหมักแทน ความรู้ที่ได้เราก็เอาไปช่วยตากับยายปลูกได้”

­

“โครงการนี้ช่วยฝึกให้เรามีความอดทน โตไปเจอปัญหาอะไรก็คงไม่กลัวแล้วค่ะ”
การพบเจอปัญหาที่ต้องให้กัญญากลับมานั่งทบทวนและคอยแก้ไขอยู่บ่อยๆ ไม่ได้ทำให้กัญญารู้สึกอยากที่จะยกเลิกโครงการ แต่เขากลับพบว่ายิ่งเจอปัญหามากเท่าไหร่นั่นหมายถึงบททดสอบของความอดทนที่มีอยู่ในตัวเขาว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาตรงหน้าอย่างไรให้คลี่คลายมากที่สุด “การทำโครงการนี้ช่วยฝึกให้เรามีความอดทน เพราะโตไปคงต้องเจอปัญหาอะไรอีกเยอะ และที่สำคัญคือการมีโอกาสได้เรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งถ้าปลูกได้สำเร็จ ก็จะเป็นอาชีพเสริมให้เราในวันข้างหน้าได้”

“ผมเป็นคนขี้อายครับ แต่เพราะได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนบ่อยๆ ทำให้ผมกล้ามากขึ้นครับ มีความสุขที่ได้เห็นผักของตัวเองเติบโต”

ชายหนุ่มหนึ่งเดียวในทีมที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพราะต้องการให้หมู่บ้านของตัวเองเป็นที่โด่งดัง แต่ก็แอบหวังเล็ก ๆ ว่าหากเข้าร่วมโครงการนี้แล้วจะช่วยเสริมความรู้ในเรื่องการปลูกผักของตนเองเพื่อนำไปพัฒนาให้เป็นอาชีพเสริมของตนเองระหว่างเรียนได้
แต่ระหว่างทางของการทำกิจกรรมมากกว่าที่ทำให้เขาค้นพบว่าไม่ใช่แค่ผักที่เติบโต แต่ฟาอิ๊กก็เติบโตไปพร้อมๆ กับผักที่เขาปลูกด้วยเช่นกั

ต้นผักเล็กๆ ในโรงเรือนที่เด็กๆ ปลูกขึ้นเพื่อหวังเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชนแห่งนี้  แม้ผลผลิตจะยังไม่งอกงามให้เห็นผล แต่ตลอดเส้นทางของการปลูกผักสร้างโรงเรือน ก็เปรียบเสมือนสนามทดสอบที่บ่มเพาะ ขัดเกลา ให้เหล่า ‘ต้นกล้าบ้านหัวทาง’ ได้เห็น ‘คุณค่าและศักยภาพ’ ของตนเอง เพื่อรอวันเติบโตเป็น ‘ไม้ใหญ่’ แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นที่พึ่งให้ชุมชนและสังคมต่อไป