จิณณภัต สุขหู : เมื่อแรงบันดาลใจอยู่ไม่ไกล เริ่มจากคนในครอบครัวและสังคมรอบข้าง จากประสบการณ์ที่เห็นตั้งแต่เด็กจนโต
พรรณมาลี พานทวีป

...เมื่อแรงบันดาลใจอยู่ไม่ไกล เริ่มจากคนในครอบครัวและสังคมรอบข้างจากประสบการณ์ที่เห็นตั้งแต่เด็กจนโต…

“น้องลี้” หรือนางสาวจิณณพัต สุขหู แกนนำเยาวชนจากบ้านไม้สลี ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ผู้ที่มีแรงบันดาลใจมาจากความ “ผูกพัน” กับผ้าทอของ“ชาวปกาเกอะญอ” ซึ่งอยู่คู่กับชุมชนของตัวเองมาอย่างยาวนาน แต่ขาดคนรุ่นใหม่สืบสาน มีเพียงรุ่นพ่อแม่กับผู้รู้ภูมิปัญญาที่นับวันก็อายุมากขึ้นทุกที ทำให้ “น้องลี้ และเพื่อนๆ” อยาก“สืบสาน” เรื่องราวและวิธีการทอผ้าที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนให้กับรุ่นน้องในหมู่บ้านผ่านการทำโครงการการผลิตฝ้าย(เส้นด้าย) และการย้อมสีธรรมชาติ

ทำให้ “เด็กสาวชาวปกาเกอะญอ” ผู้ที่คลุกคลีกับการทอผ้ามาตั้งแต่เด็กจนโต ได้ลุกขึ้นมาสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนที่มีมาตั้งแต่อดีต ด้วยเหตุที่ว่า “เพราะเด็กรุ่นหนูไม่มีใครสนใจ” เธอจึงอยากจะส่งต่อความรู้และเรื่องราวการทอผ้านี้ “จากรุ่นสู่รุ่น”

ด้วยความที่ “น้องลี้”เห็นกระบวนการผลิตผ้าทอมาตั้งแต่ ป.3 เธอจึงอยากเห็นน้องๆ ในชุมชนมีความรู้เรื่องการผลิตฝ้าย การย้อมสีธรรมชาติ รวมไปถึงการทอผ้า เพื่อจะสืบทอดภูมิปัญญาผ้าทอกะเหรี่ยงให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป หากมีคนมาถามก็สามารถตอบได้ ถึงที่มาของการทอผ้าด้วยความเข้าใจ เพราะถ้าเยาวชนคนรุ่นหลังไม่ให้ความสำคัญและร่วมมือกันสานต่อ มันก็อาจจะสูญหายไปพร้อมกับผู้รู้ คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนก็ได้

#เมื่อความรู้เริ่มจากคนที่อยู่ใกล้ตัว

“หนูเริ่มจากการสืบค้นข้อมูลก่อนว่าต้นฝ้ายลักษณะเป็นอย่างไร ที่บ้านเขาจะเรียกเป็นภาษาถิ่น ก็เลยยากต่อการค้นหา แต่ว่าเราก็ช่วยกันค้นหา ไปถามผู้รู้ในชุมชนบ้าง”

#ผู้รู้อยู่ตรงไหน?

“หนูถามคนในครอบครัวก่อน หนูถามแม่ว่ามีใครรู้บ้าง มีใครชำนาญเรื่องของการทอผ้าบ้าง หลังจากนั้นก็จัดการข้อมูล ว่าใครถนัดเรื่องอะไร และสำรวจตัวเองว่าอยากรู้เรื่องอะไร เพื่อให้ผู้รู้มาเติมเต็มในเรื่องที่เรายังไม่รู้”

การลงมือทำเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่เกิดความไว้ใจ “ถ้าเด็กทำได้ ผู้ใหญ่ก็จะเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก” และเด็กก็จะมีกำลังใจที่อยากจะ“สืบสานเรื่องราวเหล่านี้ต่อไป

เราลองมาให้กำลังใจกันว่า “น้องลี้” เด็กสาวชาวปกาเกอะญอ และเพื่อนๆ ในทีมจะไปต่อได้หรือไม่ ?