Reflection BBL Workshop
ญาณิน พรหมมลมาศ

(1)

Reflection สะท้อนความคิดจากการเข้าร่วม Workshop Brain Based Learning โดยอ.พรพิไล เลิศวิชา และอ.ฉัตรียา เลิศวิชา

*หมายเหตุ: เนื้อหาและกิจกรรมใน Workshop สามารถติดตามได้ในหน้าเว็บไซต์กิจกรรมขับเคลื่อน

การเข้าร่วม Brain based learning ของอ.พรพิไล และพี่เอื้อง ทั้ง 2 วันที่ผ่านมานี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มาก เคยได้ยินเรื่อง BBL มาเยอะ ตั้งแต่ทำค่ายในสมัยมหาวิทยาลัย แต่ก็รู้เพียงแต่ว่า มันคือการทาสีสนามให้สวยงาม และมีตัวอักษรและตัวเลขให้เด็กได้กระโดดโลดเต้นไป แต่ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาเรียนรู้กับวิทยากรตัวจริง อ.พรพิไล เลิศวิชาและ อ.ฉัตรียา เลิศวิชา (พี่เอื้อง) อาจารย์และพี่เอื้องเป็นคู่แม่ลูก BBL ที่น่ารักและนิสัยดีมาก ไม่ถือตัวเลย ทำให้บรรยากาศของ Workshop เป็นไปอย่างสบายๆ

ทั้งสองวัน การ Workshop เป็นการนำเสนอวิธีการสอนโดยใช้การเรียนรู้ของสมองเป็นฐาน ผ่านการใช้สื่อ ในวันแรก อ.พรพิไล และพี่เอื้องเล่าการทำงานโดยคร่าวของสมองว่า สมองสามารถรับข้อมูลได้หลายแบบ ทั้งผ่านสัมผัส ภาพ และเสียง ดังนั้น การออกแบบการเรียนการสอนจึงควรมีการนำเสนอครบทั้ง 3 ส่วนนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกระบวนการ 5 ขั้นตอนของ BBL (อุ่นเครื่อง -> นำเสนอ -> ฝึกทำ -> สรุป -> นำไปใช้) และวิทยากรได้แสดง roadmap ของการอ่านและเขียน ว่ามี 3 ขั้นตอน (การอ่าน : อ่านออก สะกดได้ -> อ่านเพื่อเข้าใจ -> อ่านเพื่อเรียนรู้, การเขียน : เขียนได้ สะกดได้ -> เขียนอย่างมีโครงสร้าง -> เขียนเพื่อสื่อสาร) เราจะเห็นว่า ทั้ง 2 หมุดหมายนั้นเป็นทักษะที่ศตวรรษที่ 21 ต้องการอย่างยิ่ง ทักษะที่ เด็กจะสามารถอ่านและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างให้ตัวเองเป็นนักเรียนรู้ และทักษะที่เด็กจะเขียนเพื่อสื่อสาร ได้อย่างมีโครงสร้าง มีเหตุผล

ในวันแรก อ.พรพิไลและพี่เอื้องได้นำเสนอ วิธีการสอนเพื่อให้นักเรียนสามารถ “อ่านเพื่อเข้าใจเรื่อง” โดยใช้กิจกรรม หนังสือเล่มน้อย เรื่อง ชาลีปวดขา, หมาป่ากับลูกแกะและ เพื่อให้นักเรียนสามารถ “เขียนอย่างมีโครงสร้าง” โดยใช้กิจกรรม มะลิกับบู้บี้ วิทยากรได้ให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมทำกิจกรรมราวกับเป็นนักเรียนในห้อง และตัววิทยากรก็อธิบายขั้นตอน และความหมายของการสอนไปทีละขั้นตอน ตรงนี้จะสังเกตได้ว่า ทุกขั้นตอนของการสอนแบบ BBL จะต้องสอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ของสมองอยู่เสมอ

ในวันที่สอง พี่เอื้องนำเสนอวิธีการสอน “การเขียนเรียงความ” ผ่านกิจกรรม แพนด้า โดยให้เริ่มฝึกตั้งแต่ การค้นคว้าหาข้อมูล การจัดการข้อมูล การเรียบเรียง และการนำมาเขียน ซึ่งตรงนี้แอบสังเกตได้นิดหน่อยว่า พี่เอื้องจะใช้ประบวนการสอนแบบไม่ได้อธิบายไปพร้อมขั้นตอนเหมือนอ. พรพิไล แต่พี่เอื้องจะใช้วิธีปล่อยให้ผู้เข้าร่วมทำไปก่อน และมาเฉลยเหตุผลว่าทำไมถึงให้ทำในตอนสุดท้าย ซึงพี่เอื้องก็ได้มาอธิบายเหมือนกันว่า การปล่อยให้ลองทำไปก่อน เป็นการ “ท้าทาย” สมอง ที่จะทำให้สมองเกิดการตื่นตัวและอยากเรียนรู้มากที่สุด (แต่การท้าทายนี้จะต้องไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป เพื่อจะให้เกิด “productive struggle” ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้สูงที่สุด) อันนี้ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าชอบและจริงมาก ก็คงเหมือนกับการที่สมองจะไม่ค่อยแล่นถ้า deadline ไม่ใกล้เข้ามา แต่พอรู้ว่าจะต้องส่งแล้ว ก็จะคิดออกๆ ปิ๊งๆๆ อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อจบกระบวนการทั้งสองวัน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ เราก็ประทับใจที่รู้สึกว่า หลายๆ ทฤษฎีก็เป็นคำตอบให้กับคำถามที่เรามีมาหลายปีตั้งแต่เป็นครู เช่น ทำไมการสอนแบบบอกสอนมันถึงทำให้เด็กจำไม่ได้ ทำไมเด็กไทยอ่านจับใจความไม่เก่ง ทำไมเด็กไทยถึงเขียนไม่เก่ง เขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง ทั้งหมดนี้ก็มาพอได้คำตอบในสองวันนี้ว่า เพรากระบวนการการเรียนการสอนของเราไม่มีโครงสร้างมากพอ ที่จะช่วยให้สมองเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การสอนแบบที่เราเคยเจอมา ก็จะสามารถตอบโจทย์ได้แค่กับนักเรียนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ถึงแม้จะตอบโจทย์ คือนักเรียนทำได้ ความรู้นั้นก็ไม่ได้ยั่งยืน เพราะเราไม่ได้เข้าใจความรู้เหล่านั้นอย่างแท้จริง

การเรียนการสอนแบบการใช้สมองเป็นฐานนี้ ทำให้เราเห็นว่า การจัดการเรียนการสอนควรจะมีความละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอน รวมถึงรู้และเข้าใจ “คุณค่า” ของการสอนอย่างแท้จริง วิทยากรกล่าวว่า สมองปกติของมนุษย์ทุกคนเกิดมาเพื่อเรียนรู้และทำงานเหมือนกันหมด แต่การใช้กระบวนการการเรียนการสอนที่กระตุ้นและท้าทายสมองเท่านั้นที่จะทำให้สมองสามารถพัฒนาได้ (ในตอนนี้คิดแล้วก็เหมือนการออกกำลังกาย เราออกกำลังตรงส่วนไหน กล้ามเนื้อตรงนั้นก็จะแข็งแรง ถ้าเราไม่ทำอะไร ร่างกายก็จะอยู่นิ่งๆ (ตามทฤษฎีแล้วก็เพราะว่าร่างกายจะพยายามเก็บพลังงานไว้ตลอดเวลา)) ดังนั้นการฝึกฝนจึงเป็นเรื่องสำคัญ การฝึกคิด ก็เป็นการออกกำลังสมองให้แข็งแรงอยู่เสมอ

สำหรับมิติด้านการมองและวิเคราะห์กระบวนการของ Workshop นี้ เรามีความเห็นว่า แม้วิทยากรทั้ง 2 ท่านจะใช้วิธีการสอน การอธิบายนั้นแตกต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วก็คือไปตอบโจทย์การเรียนการสอนแบบ BBL อย่างชัดเจน ตรงนี้ เราเองก็ไม่ทันได้สังเกต แต่ได้มาฉุกคิดตอนที่มีโอกาสมา reflection กับ อ.ประภาภัทร และคุณปิยาภรณ์ (พี่เปา) ซึ่งทำให้เห็นประเด็นเรื่อง Knowledge Management หลังการ Workshop ว่าเป็นอะไรที่สำคัญมาก การที่เราเข้าใจความรู้ใน Workshop นั้นๆ หากเราเข้าใจคนเดียวเราก็จะมองเห็นได้เพียงมิติเดียว แต่หากเราได้แลกเปลี่ยนกันจะทำให้เราเห็นมุมมองด้านอื่นที่ทำให้ความรู้ของเรามีความละเอียดมากขึ้น

การแลกเปลี่ยน KM กันในวงสนทนา ผ่านการตั้งคำถามที่ดี ทำให้เราได้ฝึกคิดวิเคราะห์ ทั้งการ input โจทย์เข้าไป และการคิด output การตอบออกมา (ซึ่งรู้สึกว่าอยากจะฝึกอีกมาก เพราะรู้สึกว่า การตีโจทย์ของเรายังไม่ลึก และโครงสร้างของเรามันไม่ชัดนัก) จากตรงนี้ อ.ประภาภัทรและพี่เปาได้ช่วยถามคำถามวิเคราะห์ให้เห็นคุณค่าของการจัดกระบวนการสอนของอ.พรพิไลและพี่เอื้อง และที่สำคัญคือให้เราคิดถึงสิ่งที่เราจะทำต่อไปในการทำงาน ว่า เราจะช่วยให้ครูนำองค์ความรู้ชุดนี้ไป implement ในโรงเรียนได้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะสุดท้ายแล้วเป้าหมายสูงสุดของงานเราคือการพัฒนาครู ให้เกิดผลที่เด็ก (มาถึงตรงนี้ก็ขอให้กำลังใจตัวเอง สู้ๆ นะ พื้นที่นวัตกรรม!)

เพิ่มเติม :

  • 1. วิธีที่เราจะหา Why หรือ หาความหมายของสิ่งต่างๆ นอกจากว่าเราจะตั้งคำถามว่า “ทำไมเราถึงทำสิ่งนี้” แล้ว เรายังควรมองว่า “audience ของกิจกรรมนี้คือใคร”“audience ชอบอะไร” (หากเขาไม่รู้ว่าชอบอะไรก็ต้องลองดูว่า “audience มี user experience ยังไง” สำคัญมากคือเราต้อง วิเคราะห์ gap ให้ได้ และเราจะเห็นเป้าหมายของการทำกิจกรรมนี้
  • 2.ชอบความรู้สึกที่เรา Wow กับอะไรใหม่ การเรียนรู้ใหม่ๆ (ถ้าตามทฤษฎีก็คงจะเดาว่ามันเป็นสาร Dopamine ในสมองหลังออกมาเมื่อเราตื่นเต้น และรู้สึกท้าทายกับอะไรใหม่ๆ ที่อยากจะทำ) ถ้าเราเก็บพลังงานบวกอันนี้ไว้เติมพลังให้ตัวเองไว้ได้ ก็คงจะทำงานได้อย่าง enjoy ทีเดียวเชียว
  • นางสาวญาณิน พรหมมลมาศ (หมอน) 
    บันทึกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562