การเปลี่ยนผ่านแนวคิดใหม่ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม สู่การบูรณาการในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (2)
นงนาท สนธิสุวรรณ

­

ข้าพเจ้าขอเล่าต่อจากบันทึกนี้ การเปลี่ยนผ่านแนวคิดใหม่ด้านการศึกษา วิทยาศาตร์ และวัฒนธรรม สู่การบูรณาการในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (1) การประชุมครั้งนี้ นับเป็นช่วงปี 3 ที่ได้เริ่มต้นเมื่อปี 2001ภายใต้หัวข้อเรื่อง Challenges in the New Millennium และในปี 2004 เรื่อง Adapting to Changing Times and Needs ซึ่งหลังจากการประชุมครั้งนี้ในปี 2014 ประเทศกลุ่มเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตั้งเป้าหมายในการบรรลุถึงความสำเร็จในการบูรณาการอย่างแข็งแกร่งทาง เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนภูมิภาค ภายในปี 2015

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และผู้ทรงคุณวฒิด้านการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์จาก บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดเนเซีย จีน เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ กัมพูชา พม่า เวียตนาม มาเลเซีย ไทย และกลุ่มชาติพัฒนาจาก สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมัน และออสเตรเลีย ได้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กันอย่างกว้างขวาง สรุปข้อเสนอแนะ ดังนี้

­



1. ความท้าทาย และโอกาส ที่ประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พึงตระหนักในการดำเนินนโยบายสู่การปฏิบัติ

- อาณาเขตทางการเมืองและเศรษฐกิจ

- ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม

- คุณภาพการศึกษา เช่นครู กระบวนการเรียนการสอน

- โอกาสความเท่าเทียมทางการศึกษา

- การสร้างมาตรฐาน และ การประสานความร่วมมือกันอย่างกลมกลืน

- ความอ่อนด้อยในทักษะความเชี่ยวชาญเมื่อเทียบกับสากล /การขาดความชัดเจนในกระบวนการสอนทักษะความเชี่ยวชาญแห่งทศวรรษที่ 21

- การขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม

- การใส่ใจเพิ่มขึ้นต่อสุขภาวะของประชาชน

2. ข้อเแนะนำที่พึงปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในภาพรวม มีดังนี้

- ปรับปรุงกฏระเบียบ และวิธีการภาครัฐเพื่อสนับสนุนสภาพแวดล้อม

- สนับสนุนและเสริมสร้างการประสานอย่างใกล้ชิดของระบบการศึกษาในและนอกระบบ เพื่อสนองตอบความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียน

- จัดบริบททางการศึกษาที่บ่มเพาะสังคมวัฒนธรรมดั้งเดิม ผสมกับการยอมรับความแตกต่างของแต่ละภูมิภาค

- พัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอน สู่ระบบการศึกษาที่ตอบสนองตลาดแรงงานธุรกิจ และอุตสาหกรรม ทั้งในระดับประเทศและสากล

- พัฒนาผู้นำทางการศึกษาทั้งในมิติของครู และผู้บริหารการศึกษา

- สร้างกลยุทธ์ในการเสริมหนุนและพัฒนาผู้มีส่วนร่วมทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม

- เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สื่อสารทางอิเล็คทรอนิคส์ (ICT)ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

- ส่งเสริมการศึกษาเชิงประยุกต์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี่ วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ ในทุกระดับการศึกษา เพื่อสนับสนุนการประกอบการของธุรกิจการผลิตในประเทศและสากลอย่างต่อเนื่อง

­

­

ในฐานะผู้แทนของมูลนิธิสยามกัมมาจล และธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ข้าพเจ้าและคุณศศินี ลิ้มพงษ์ ได้ร่วมกันนำเสนอแนวคิดและประสบการณ์ ในการพัฒนาเยาวชนด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงสู่สถานศึกษา ที่ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในช่วงเวลาประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา ประสบผลสำเร็จในเบื้องต้นเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 35 แห่งกระจายทั่วประเทศ เพื่อเป็นแกนนำขยายผล และเป็นกลไกของกระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่โรงเรียน 40,000 แห่งทุกภูมิภาค ทั้งนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ มีหลักการทำงานเรื่องนี้ ดังนี้

1.สนับสนุนให้ผู้บริหารและครู เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ถูกต้อง

2. สนับสนุนให้ครูมีทักษะในการออกแบบการเรียนรู้ และเป็นครูฝึกที่ดีมีเครื่องมือหลากหลาย

3. สนับสนุนการสร้างเครือข่ายครู เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถอดบทเรียนรู้ระหว่างกัน และนำมาพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น

4. สนับสนุนผู้บริหารในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในโรงเรียน เพื่อสนับสนุนให้ครูทั้งโรงเรียน สามารถจัดการเรียนรู้เพื่อฝึกผู้เรียน โดยทำให้ดู อยู่ให้เห็น และผู้เรียนนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปคิดวิเคราะห์ และใช้ให้เป็นตามหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ

- เหตุผล ทำไมจึงเลือกโจทย์นี้ เป้าหมายคืออะไร จะทำเรื่องนี้มีความสมเหตุสมผลไหม?

- พอประมาณ มีกำลังความสามารถจะทำเพียงไร เหมาะสมกับระยะเวลา งบประมาณ

- ภูมิคุ้มกัน ทำอย่างไรจึงจะทำงานประสบความสำเร็จ ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่? ถ้ามีความเสี่ยงเกิดขึ้น จะรับมืออย่างไร?

- ความรู้ จะทำเรื่องนี้ต้องมีความรู้อะไร? มีความรู้เพียงพอหรือไม่? จะหาความรู้เพิ่มเติมได้อย่างไร?

- คุณธรรม ต้องมีความเพียรตามหลักอิทธิบาทสี่ ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต และความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

เป้าหมายของเรา คือต้องการบ่มเพาะเด็กดี มีจิตอาสา เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองดีของประเทศไทยอย่างยั่งยืน







­