การให้ = สร้างรอยยิ้ม
ปองหทัย สวาคฆพรรณ

“การมอบความรักและการศึกษาให้กับเด็ก ก็เปรียบเสมือนการติดตั้งชิป เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้เด็กห่างไกลจากปัญหาและวงจรของยาเสพติด …”

         เริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจประชากรในชุมชน“บ่อนวัวเก่า” จ.สงขลา เพื่อนำมาทำสถิติในวิชาเรียนการพัฒนาชุมชน ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎสงขลา ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่อย่างเยาวชนกลุ่ม C.D. Share (ซี.ดี.แชร์) กลับพบว่าชุมชนนี้มีปัญหาเรื่องยาเสพติด จึงทำให้น้องๆแกนนำทั้ง 4 คน มีแนวคิดอยาก “สร้างสรรค์กิจกรรม” เพื่อพัฒนา “ทักษะชีวิต” และ “ปลูกฝังจิตสำนึก” ที่ดีให้กับเด็กๆ ในชุมชน เพียงหวังว่าน้องๆในชุมชนจะได้ไม่ต้องไปพัวพันกับปัญหาดังกล่าว

          ชุมชนบ่อนวัวเก่าเป็นพื้นที่ที่ประกอบอาชีพประมง พ่อแม่ส่วนใหญ่มักหมกมุ่นอยู่กับการทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จนไม่เวลาดูแลลูกหลาน ทำให้เด็กบางคนสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าไปพัวพันกับปัญหายาเสพติด ยิ่งแกนนำของกลุ่ม C.D. Share ทั้ง 4 คน ได้เข้าไปคลุกคลีกับเด็กๆในชุมชน ทำให้รับรู้ว่าเด็กบางคนมีทัศนคติที่ไม่ดีกับพ่อ-แม่ และเด็กเหล่านี้ขาดความรัก ความอบอุ่น และไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ดังนั้นเยาวชนกลุ่ม C.D. Share จึงดำเนินกิจกรรมโครงการสร้างความสุขสู่ชุมชน Smile by cd ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ต่อยอดจากโครงการเดิม ด้วยการเสริมกิจกรรม 4 อย่าง คือปลูกผักสร้างรัก ระบายสีปูนปลาสเตอร์ การพาน้องบำเพ็ญประโยชน์ และทำบุญถวายสังฆทาน โดยเป้าหมายที่สำคัญ คือ อยากให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อ-แม่ และเด็ก เพราะมองว่าพ่อแม่สำคัญมากสำหรับการเติบโตของเด็ก หากเอาพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมจะทำให้การแก้ปัญหาในชุมชนยั่งยืนมากขึ้น

­

                                           

 

                                         สมาชิกเยาวชนกลุ่ม C.D. Share 

­

­

         ดังนั้นการที่เยาวชนกลุ่ม C.D. Share ได้เข้าไปสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆให้กับเด็กในชุมชน ก็เปรียบเสมือนเป็นการฝังชิปองค์ความรู้ทั้งทางด้านการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี และการพัฒนาทักษะชีวิตในด้านต่างๆ รวมถึงการมอบความรักความอบอุ่น ให้แก่เด็กๆในชุมชน เพราะเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กในชุมชน “บ่อนวัวเก่า”ห่างไกลจากวงจรปัญหายาเสพติด ที่สำคัญแกนนำทั้ง 4 มีความเห็นตรงกันว่า การเข้ามาทำโครงการนี้ฯ ทำให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น การเรียนเอกพัฒนาชุมชน ทำให้ได้รู้ว่าต้องเข้าไปเป็นนักพัฒนาไม่ใช่เป็นนักสงเคราะห์ ต้องทำอะไรให้สังคมบ้าง โดยทุกครั้งหลังจากการลงพื้นที่ สมาชิกในกลุ่มทั้ง 4 คน จะกลับมาพูดคุยและถอดบทเรียนเพื่อทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อรับทราบปัญหาระหว่างทำกิจกรรม และนำมาวางแผนร่วมกันในการคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งน้องมีน หนึ่งในสมาชิกยังได้กล่าวปิดท้ายอีกว่า “ถึงแม้ว่าพวกหนูจะไม่มีแบบประเมินวัดผลความสำเร็จหรอกว่าโครงการที่พวกเราทำจะสำเร็จแค่ไหน แค่ทุกคนในชุมชนจำพวกเราได้ว่าเข้าไปทำอะไรเพื่อชุมชนของเขา เพียงแค่นี้หนูก็คิดว่าโครงการของพวกเราสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว ยิ่งได้ลงพื้นที่ ยิ่งได้เห็น และร่วมแรงร่วมใจกันเข้าไปช่วยเหลือเด็กในชุมชนบ่อนวัวเก่ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่ทำให้เป้าหมายในอนาคตของเราที่อยากเป็นนักพัฒนาชุมชนชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

­

­

              

­

                 น.ส.แกมกาญจน์ ปานหมอน (แกม) และ น.ส.ศิริวรรณ มาแซ (มีน)

­

­

­

                         

­

                         น.ส.สาฟิหน๊ะ สีหมะ และ น.ส.อาริสา สุขสุภาพ(แนน)

­

­

“สิ่งที่เยาวชนกลุ่มนี้ทำ คือ สิ่งมหัศจรรย์ที่มาพร้อมกับความยากลำบาก ความเหนื่อย และรู้สึกท้อใจ ซึ่งจะมีสักกี่คนที่ได้ลงมือทำเพื่อเด็กๆในชุมชนได้มีรอยยิ้มกับเรื่องเล็กๆที่ไม่มีใครมองเห็น”