กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา (๑)
นงนาท สนธิสุวรรณ

­

         ข้าพเจ้าได้รับเชิญจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้เข้าร่วมงาน "กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา" The Key of Education Reform (Evidence-Based) เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับ ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาของประเทศไทย โดยลดความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาในด้านวัตถุ ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัว และมีประสิทธิภาพต่อการศึกษาน้อย หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องใกล้ตัว คือการสร้างสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างครูและเด็ก ที่เป็นหัวใจของการศึกษา ตามกระแสพระราชดำริในเรื่องแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน อันสอดคล้องกับงานวิจัยการศึกษาระดับโลก

ฯพณฯ องคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ได้กล่าวเปิดงาน โดยยกแนวพระราชดำริในการจัดตั้ง "กองทุนการศึกษา" เริ่มเมื่อต้นปี ๒๕๕๕ (ต่อมาในปี ๒๕๕๗ จดทะเบียนจัดตั้งเป็น "มูลนิธิยุวสถิรคุณ") ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ที่มีพระราชประสงค์ว่า "ให้สร้างโรงเรียนสร้างคนดีแก่บ้านเมือง" ที่ได้พระราชทานหลัก ๓ ประการในเรื่องครูและนักเรียน ดังนี้

          (๑) ให้ครูรักเด็ก และ เด็กรักครู

          (๒) ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจกับเพื่อน เช่น ไม่ควรให้เด็กแข่งกันเอาที่ ๑-๒ ของชั้น แต่ให้เด็กที่เรียนเก่ง ช่วยติวเพื่อนๆที่เรียนช้า เพราะทุกคนต้องแข่งกับตัวเอง

          (๓) ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำเป็นหมู่คณะ เพื่อพวกเขาจะได้เห็นคุณค่าของความสามัคคี

ในการขับเคลื่อนโครงการกองทุนการศึกษา คณะดำเนินการได้ยึดหลักในการทำงานกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยกำหนดเป้าหมาย ๒ ประการคือ

           (๑) ช่วยส่งเสริมให้สถานศึกษาเกิดความพร้อม คือ ผู้บริหารพร้อมที่จะบริหารโรงเรียน ครูพร้อมที่จะสอนและอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ นักเรียนพร้อมที่จะเรียนรู้ ทั้งความรู้ ความดี และหัดทำงาน

           (๒) ถ่ายทอดบทเรียน "โรงเรียนคุณธรรม" จากโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม ไปสู่โรงเรียนในโครงการ ดังนี้

                รุ่น ๑ ปี ๒๕๕๕

                      โรงเรียนประถม - มัธยม ๑๙ แห่ง และวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม

                รุ่น ๒ ปี ๒๕๕๖

                       โรงเรียนประถม - มัธยม ๓๕ แห่ง

                รุ่นที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๗

                       โรงเรียนประถม - มัธยม ๔๖ แห่ง

ผลการประเมินสำหรับ รร. ๑๙ แห่ง และวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม เมื่อได้ปฏิบัติจนครบวงรอบ ๑ ปีแล้ว ผลปรากฏว่า

                (๑) พฤติกรรมไม่พีงประสงค์ลดลง

                (๒) พฤติกรรมพึงประสงค์เพิ่มขึ้น

                (๓) ผลการสอบไอเนตทั้งโรงเรียนดีขึ้นทั้งโรงเรียน

อนึ่งที่เรียกว่า "โรงเรียนคุณธรรม" เป็นการเรียกขานอย่างไม่เป็นทางการ หากเป็นทางการควรเรียกว่า "โรงเรียนคุณธรรมจริยธรรม" ด้วยเหตุผลว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงทั้งคุณธรรม (=นามธรรม) และจริยธรรม (+รูปธรรม,ความประพฤติ)ด้วย

สำหรับระยะสิบปีที่ผ่านมาของประเทศไทย โดยการวิเคราะห์เปรียบเทียบพบว่า ประเทศไทยก้าวถอยหลัง มีการคอรัปชั่นทุกวงการ มีการละเลยกระบวนการยุติธรรม เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และส่งผลกระทบทั่วไป บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจักต้องทบทวนตัวเอง ตั้งเป้าหมายใหม่ เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ ระบบการเรียนรู้ต้องเป็นสิ่งเดียวกันกับระบบคุณธรรมในเนื้อเดียวกัน

      ทวงคืนความดีแบบไทยๆกลับคืนมา

      ทวงศักดิ์ศรีของชาติกลับคืนมา

      และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนทั้งชาติว่า

     "เราต้องทำได้"