กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา (๒)
นงนาท สนธิสุวรรณ

­

ข้าพเจ้าขอเล่าต่อจากบันทึก กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา (๑)

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ ได้พูดถึงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาด้วย " ๖ โครงการพัฒนาการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูง" ประกอบด้วยกระบวนการดังนี้

(๑) พัฒนากรอบความคิด (Growth Mindset) มีงานวิจัยกว่า ๔๐ ปี ของศาสตรจารย์ Carol S.Dweck พบว่า กรอบความคิดและศักยภาพของคนเราสามารถพัฒนาได้ และคนที่มี Growth Mindset มีความคิดที่อยากจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค นี่คือหัวใจของความสำเร็จ

(๒) ครูสอนคิด (Socratic Teaching) มีที่มาจากนักปราชญ์ชาวกรีก โสเครติส ที่สอนผ่านการสนทนา (dialogue) ร่วมกันอภิปราย การสอนวิธีนี้ ครูมีหน้าที่หลักคือการตั้งคำถาม ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้เปิดกว้างทางความคิด รู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักถาม และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง มากกว่าการเชื่อในสิ่งที่คนบอก

(๓) พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก (Student -Teacher Relationship) เพียงเอา "ใจแลกกับใจ" เด็กจะเกิดความไว้วางใจและความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดตามอย่างต่อเนื่อง

(๔) พี่ช่วยน้อง ผองเพื่อนช่วยกัน (Peer Tutoring) การส่งเสริมให้เพื่อนที่เรียนเก่ง ช่วยเพื่อนที่เรียนช้ากว่า พบว่าทั้งเด็กที่เป็นผู้สอนเก่งขึ้น ส่วนเด็กที่เป็นผู้เรียนเก่งขี้นด้วยเช่นกัน ทำให้ครูเบาแรง และยังช่วยสร้างความรักสามัคคี ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน

(๕) การพัฒนาครูเพื่อการดูแลเด็กพิเศษในเบื้องต้น (Inclusion) ครูผู้สอนต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กพิเศษสามารถเรียนรู้ในชั้นเรียนปกติได้ และสามารถพัฒนาไปได้ตามศักยภาพของตน เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียมกันในสังคม

(๖) การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง (Parental Involvement) ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนของเด็กให้มากขึ้น เช่นกิจกรรมวันพบผู้ปกครอง ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองพบครูพร้อมเด็กทุกรายวิชา

เพียงช่วงเพียง ๖ เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ ได้ดำเนินการโครงการนำร่อง กับ ๔ โรงเรียน ประกอบด้วย ๒ รร.ในกทม. คือ รร.จิตรลดา และ รร.วัดรางบัว ๑ รร.ในจังหวัดพิจิตร คือ รร.บางมูลนากภูมิวิทยาคม และ ๑ รร.ในจังหวัดลพบุรี คือ รร.สัตยาไส ได้ผลตอบรับดีเกินคาด สะท้อนวิถีปฏิบัติที่พัฒนาขึ้น ดังนี้

(๑) การคืนครูสู่ห้องเรียน ลดงานกระดาษของครู สอนหนังสือด้วยความรัก และส่งเสริมผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนและกิจกรรมของโรงเรียนมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี คือ ครูและเด็กได้ใช้เวลาที่ดีร่วมกัน ครูแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอันดีที่มีต่อเด็ก และมีการตอบสนองต่อเด็กที่เหมาะสม เน้นการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความสัมพันธ์ที่มีอยู่นั้น เป็นความสัมพันธ์เชิงบวกหรือไม่ ?...คำตอบคือ มีบรรยากาศการเรียนที่เป็นมิตร ครูผู้สอนมีความไวต่อปฏิกิริยาของเด็ก และครูใส่ใจต่อความคิดเห็นของเด็กแต่ละคน

(๒) ครูได้เป็นตัวอย่างของการมีกรอบความคิดแบบเติบโต โดยเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพพัฒนาได้ และส่งเสริมให้เด็กมีใจรักในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองให้พัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไม่ท้อถอย เด็กจึงมีความกระตือรือร้นในการเรียน ใส่ใจ สนุกกับการแก้ปัญหา และการพัฒนสิ่งใหม่ๆที่ท้าทาย ทำให้มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในการศึกษามากยิ่งขึ้น

(๓) ครูได้ตั้งคำถามที่ดี เป็นคำถามที่กระตุ้นให้คิดในเรื่องที่สนใจได้ชัดเจน คิดได้ลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นคำถามที่ช่วยให้เด็กเชื่อมโยงเรื่องที่สนใจกับตัวเอง หลักสำคัญจึงไม่ใช่การสอน แต่เป็นการสร้างความร่วมมือในการคิด วิเคราะห์ ค้นหาความรู้ร่วมกัน และเครื่องมือสำคัญคือการใช้คำถามที่มีคุณภาพ ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสนใจใฝ่รู้จากภายในตัวผู้เรียน สนุกที่จะคิด คิดเก่ง คิดดี คิดมีประโยชน์ นอกจากนี้การเปิดให้มีการอภิปราย เกิดบรรยากาศของความเกื้อกูลเป็นมิตร ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้การร่วมมือกันอย่างเสรีและมีเหตุผล

(๔) เป็นการฝึกทักษะการสื่อสาร ฝึกความรับผิดชอบ และได้รับคุณค่าในการช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีครูช่วยดูแลเนื้อหาให้ถูกต้อง ครูมีบทบาทด้านการจัดการ การกำหนดเป้าหมาย และให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กๆในการจัดกิจกรรม เป็นการแสดงออกถึงความยอมรับและเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก


(๕) การเปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนของเด็กให้มากขึ้นในกิจกรรมวันครูพบผู้ปกครองเป็นรายวิชา โดยเน้นใส่ใจรายละเอียดของเด็กแต่ละคน ได้เกิดพัฒนาด้านการศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างครู ผู้ปกครอง และเด็กอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยผู้ปกครองเข้าใจในตัวเด็กมากขึ้น ทั้งในด้านหลักสูตรที่ครูสอนในวิชาต่างๆ และการดูแลเอาใจใส่เด็กในวิชาต่างๆมากขึ้นเป็นพิเศษ และที่สำคัญ เด็กและผู้ปกครองให้ความเคารพเชื่อถือครู มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากยิ่งขึ้น

สรุปได้ว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยจึงเป็นเรื่อง "ใจกับใจ" เมื่อครูมีความใส่ใจที่จะสอน เด็กย่อมมีความสนใจอยากจะเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาย่อมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน...