ข้อคิดการเป็นพี่เลี้ยง และบทบาทการ coaching ผู้จัดการโครงการและทีมงาน
นงนาท สนธิสุวรรณ

ข้าพเจ้าได้รับการชักชวนจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้เข้าร่วมฟังและแสดงความเห็นใน " Morning Dialogue " ซึ่งเป็นการประชุมเชิงวิชาการสู่การปฏิบัติภายในมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างคนทำงานพัฒนาเยาวชน ที่จัดขึ้นช่วงเช้าเดือนละสองครั้ง โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ร่วมรับฟังและให้ความเห็นในช่วง AAR ด้วย

­

­

ในการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คุณศุทธิวัต นัสการ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ถอดบทเรียน เมื่อออกสนามไปเป็นพี่เลี้ยงโครงการเครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่ ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตจากเมืองสู่ท้องถิ่น และยึดการทำเกษตรแบบอินทรีย์เป็นอาชีพ โดยจัดตั้งบริษัทธัญญเจริญผลในรูปแบบของกิจการเพื่อสังคม ที่มุ่งหวังพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน และความมั่นคงทางด้านอาหาร

­

คุณศุทธิวัต ยอมรับว่า เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยงในโครงการนี้ ตนเองไม่มีความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์อย่างลึกซึ้งมากนัก แต่ได้ใช้ทักษะของการเป็นที่ปรึกษา ที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ทีมงานโครงการในการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการกระตุ้นให้คิดวิเคราะห์และแสวงหาคำตอบร่วมกัน ในขณะเดียวกันต้องใช้ศิลปะการโน้มน้าวใจ ให้ทุกฝ่ายลดอัตตาการถือตัวตน เพื่อสร้างความประนีประนอมระหว่างเครือข่าย เพื่อร่วมมือกันทำงานบรรลุสู่เป้าหมายตามที่ต้องการ และที่สำคัญอย่างมากคือ พี่เลี้ยงต้องมีทักษะในการตั้งคำถาม เพื่อจุดประกายให้ผู้ทำงานรู้จักคิดคำตอบที่เป็นไปได้ในการปฎิบัติและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกรณีอื่นต่อไปได้ด้วย นอกจากนี้ พี่เลี้ยงต้องมีความสามารถในการประเมินสถานการณ์และศักยภาพของทีมงานโครงการ เพื่อปรับลดความคาดหวังในการทำงาน แต่หาทางเพิ่มศักยภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนา โดยมุ่งเน้นให้เกิดการประเมินตนเองหรือถอดบทเรียนการทำงานเป็นระยะ เพื่อให้เกิดการยอมรับจุดอ่อน-จุดแข็ง เพื่อเติมเต็มช่องว่างสู่การปรับปรุงงานต่อไป

­

ในการประชุมเช้าวันครั้งที่สอง เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ คุณกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร และคุณอุบลวรรณ เสือเดช ในฐานะผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้เล่าถึงประสบการณ์ในบทบาทการ Coaching ให้ผู้จัดการโครงการและทีมของ ๓ องค์กร คือ โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โครงการกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน และโครงการต้นกล้าในป่าใหญ่ โดยในขั้นตอนของกระบวนการ EE (Empowerment Evaluation) ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ ๓ องค์กร ได้วิเคราะห์และประเมินกิจกรรมพัฒนาเยาวชนในระยะที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวิธีการพัฒนาเยาวชนระหว่างกัน นอกเหนือจากให้สงขลาฟอรั่ม และมูลนิธิกองทุนไทย ได้ปรับและนำเสนอแผนงานของโครงการปีที่ ๒

­

ตามแนวคิดของกระบวนการ EE ดำเนินการเป็น สามขั้นตอน คือ (๑) ทบทวนเป้าหมายและตัวชี้วัดผลลัพธ์ของโครงการ (๒) ประเมินผลลัพธ์ของโครงการตาม KRA (Key Result Area) + KPI (Key Performance Index) และขั้นตอนที่ ๓ ประเมินกิจกรรมโครงการและวางแผนกลยุทธ์ ทั้งนี้ ในส่วนของการประเมิน KRA นำเสนอโดยใช้เครื่องมือแผนผังใยแมงมุม ทำให้เห็นภาพรวมของผลงาน ของประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร

­

ด้วยท่าทีเชิงบวกของคุณกิตติรัตน์ และคุณอุบลวรรณ ที่โน้มน้าวให้ภาคีทั้ง ๓ องค์กร ดำเนินกิจกรรมประเมินตนเอง ด้วยความเข้าใจกระบวนการร่วมกันอย่างชัดเจน และการตั้งคำถาม เพื่อชวนคิดตลอดเส้นทางการทำงาน สามารถทำให้แต่ละองค์กรชี้จุดแข็ง-จุดอ่อน ด้วยตนเองอย่างเป็นที่ยอมรับได้ นำไปสู่การร่วมกันคิดแก้ปัญหา และแลกเปลี่ยนผลสำเร็จการทำงาน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ และพัฒนาต่อยอดต่อไป

­

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การทำงานลักษณะนี้ เป็นรูปแบบหนึ่งของ Interactive Learning ที่สร้างปัญญาและพลังขับเคลื่อน เพื่อดึง tacit knowledge หมุนออกมาเป็นเกลียวคลื่น หนุนเสริมการทำงานเป็นระลอก

­

ข้าพเจ้า ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การทำงานพี่เลี้ยง และการ Coaching โครงการ สมควรต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ทั้งที่เป็น Knowledge และ Knowhow ซึ่งสั่งสมมาจากความรู้ และประสบการณ์การทำงานที่นำสู่ผลสัมฤทธิ์ ทั้งเชิงศาสตร์และศิลป์ บนความมีส่วนร่วมของผู้ดำเนินโครงการและทีมงานผสมผสานกันไปอย่างราบรื่น

­

­

ในช่วง AAR ผู้ร่วมงานด้านต่างๆของมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ยอมรับการทำงานเชิงรุกของประสบการณ์ดังกล่าวทั้งสองกรณี ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในงานและชีวิตประจำวันต่อไป

­