​ความต้องการอาสาสมัครมืออาชีพขององค์กรพัฒนาภาคประชาสังคม
Suttiwat Naskan

ความต้องการอาสาสมัครมืออาชีพขององค์กรพัฒนาภาคประชาสังคม


ศุทธิวัต นัสการ

­

­

                           เมื่อพูดถึงงานภาคประชาสังคมนั้น หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานเหล่านี้ นั้นทำงานอะไร มีขอบเขตในเรื่องใด และมีองค์กรใดบ้างทำดำเนินงานด้านประชาสังคม นั่นคงเป็นเพราะว่าสังคมอาจสร้างการรับรู้เรื่องเหล่านี้ต่อประชาชนน้อยเกินไปหรือไม่ หรือ ประชาชนเลือกที่จะไม่รับรู้เรื่องดังกล่าวเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวเอง

­

­

                  แท้จริงแล้วงานภาคประชาสังคมนั้น มีความหลากหลายและเกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ทางสังคมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การพัฒนาชุมชน เด็กและเยาวชน ยาเสพติด ครอบครัว ผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการและด้อยโอกาส และอื่นๆ อีกมากมาย และงานภาคประชาสังคมก็ไม่ได้เป็นงานเฉพาะผู้ที่จบทางด้านสังคมศาสตร์หรือสังคมสงเคราะห์ ตามที่ใครหลายๆ คนส่วนเข้าใจ หากแต่งานภาคประชาสังคมนั้นเกี่ยวข้องกับคนในทุกวงการก็ว่าได้ เพราะการทำงานในภาคประชาสังคมนั้นเน้นที่การทำงานแบบบูรณาการ แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้คิดเช่นนั้น จึงทำให้งานภาคสังคมขับเคลื่อนไปได้อย่างช้าๆ และส่วนใหญ่คนที่ทำงานก็จะรู้จักกันเองเท่านั้น

­

            ถ้าหากย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจำได้ถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน ชีวิต และจิตใจของคนไทยเป็นจำนวนมาก และในครั้งนั้นเองที่งานภาคประชาสังคมได้ทำให้สังคมรู้จักมากขึ้น ในฐานะการสร้างความร่วมมือและการสร้างให้เกิดอาสาสมัครในการลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น หน่วยกู้ภัย แพทย์ ไปจนถึงอาสาสมัครที่มาทำอาหารแจกก็ตาม ถัดมาเมื่อปี 2554 ก็เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่เช่นเดียวกัน ในครั้งนั้นก็เกิดอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ช่วยกันบรรจุถุงยังชีพ ร่วมระดมทุนช่วยเหลือ และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากเหตุการณ์เหล่านั้นก็ได้เริ่มสร้างการรับรู้งานภาคประชาสังคมต่อประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี แต่ในความเป็นจริงแล้วองค์กรภาคประชาสังคมนั้นไม่ได้ต้องการอาสาสมัครเฉพาะเวลาที่เกิดเหตุการณ์บ้านเมืองเพียงเท่านั้น ส่งเสริม สนับสนุน การทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครแบบชั่วคราวที่เข้ามาทำงานเป็นครั้งคราว หรือ อาสาสมัครแบบที่นำทักษะมาช่วยพัฒนางานขององค์กร รวมถึงพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่หลักได้ โดยเราเรียกอาสาสมัครเหล่านี้ว่า “อาสาสมัครมืออาชีพ” (Professional Volunteer)

­

­

เมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา เครือข่ายจิตอาสา ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อความต้องการอาสาสมัครมืออาชีพขององค์กรภาคประชาสังคมขึ้น ที่โรงแรมอมารี สุขุมวิท ในงานมีพี่น้องภาคีที่อยู่ในองค์กรภาคประชาสังคมจากทุกๆ ประเด็นเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และได้สะท้อนถึงสถานการณ์ขององค์กรภาคประชาสังคม ให้เห็นว่าการรับรู้จากสังคมภายนอกนั้นยังมีน้อย เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ทั้งในเชิงของการสร้างการรับรู้ และ การทำให้คนที่มีใจรู้ว่าตนเองจะเริ่มต้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานภาคประชาสังคมในฐานะอาสาสมัครได้อย่างไร นอกจากนั้นเมื่อมองลึกถึงเชิงโครงสร้าง เรากลับพบว่าหน่วยงานรัฐบาลนั้นบางส่วนยังให้การสนับสนุนในด้านการทำงานขององค์กรประชาสังคมน้อย โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ นอกจากนั้น “คนทำงาน” และองค์กรภาคประชาสังคมมีความเป็นเอกเทศสูง นั่นหมายถึง ทุกคนมุ่งมั่นต่างทำงานในหน้าที่และประเด็นของตนเองจนลืมนึกไปว่าตนเองกำลังเดินอยู่เพียงลำพัง จึงทำให้งานด้านสังคมขับเคลื่อนไปได้อย่างช้าๆ และขาดพลัง รวมถึงสังคมที่ให้ค่านิยมและชื่นชมกับการทำดีแบบผิวเผิน สิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างและชี้ให้เห็นว่า งานภาคประชาสังคมยังต้องการความช่วยเหลือจากคนที่มีความรู้ความสามารถอีกเป็นจำนวนมากในการพัฒนาให้งานภาคสังคมให้สามารถขับเคลื่อนได้ในทุกมิติของสังคมและเกิดพลังของความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

­

­

จากปัญหาและสถานการณ์ที่ได้สะท้อนออกมา ทำให้นำไปสู่ความต้องการอาสาสมัครมืออาชีพที่จะสามารถเข้ามาช่วยพัฒนางานภาคประชาสังคมให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ ในขอบข่ายงานดังต่อไปนี้

1.ผู้ที่มีทักษะด้านสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการผลิตสื่อต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน

2.ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการระดมทุนรวมถึงองค์กรภาคเอกชนที่มีความต้องการในการช่วยเหลือสังคม

3.หน่วยงานหรือคนที่มีทักษะต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น เช่น ระบบบัญชี เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

4.ผู้ที่มีประสบการณ์และทักษะการออกแบบกระบวนการ กิจกรรม และการถอดบทเรียน

5.อาสาสมัครทั่วไปในส่วนงานสนับสนุนต่างๆ

แต่ทั้งนี้ องค์กรภาคประชาสังคมก็มีความห่วงใยต่อคนที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัคร และวิธีการจัดการอาสาสมัคร เพราะงานเหล่านี้เป็นงานที่ทำด้วยใจทั้งสิ้น ไม่มีค่าตอบแทนในลักษณะของค่าแรง อาจทำให้ขาดความจูงใจได้ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาที่อาสาสมัครส่วนใหญ่มีภาระหน้าที่เรื่องของงานประจำอยู่แล้ว อาจทำให้การเข้ามาเป็นอาสาสมัครอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาที่ไม่อาจมาช่วยงานได้อย่างต่อเนื่อง ขาดความอดทนที่จะเรียนรู้เนื่องจากอาสาสมัครบางประเภทต้องมีการอบรมและฝึกฝนก่อนที่จะลงสนามได้ และความท้าทายที่ยากที่สุด คือการที่องค์กรภาคประชาสังคมจะทำอย่างไรให้อาสาสมัครเหล่านั้นรู้สึกว่า “ตนเองเป็นเจ้าของงานที่ทำอยู่”

อย่างไรก็ตามองค์กรประชาสังคมก็ยังคงมีความหวังที่จะได้เห็นพลเมืองที่มีความเป็นจิตอาสา ตระหนักและใส่ใจต่อชุมชนและสังคมที่ตนเองอยู่มากขึ้น สามารถขยายผลและสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อสาธารณะได้ดีขึ้น ในที่สุดสังคมอาจดีขึ้น เกิดความร่วมมือและลดความขัดแย้งได้โดยอ้อมก็เป็นได้