คิดอย่างไรให้ครบ (วิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยให้ออกแบบกิจกรรมได้ง่ายขึ้น)
Suttiwat Naskan

คิดอย่างไรให้ครบ (วิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยให้ออกแบบกิจกรรมได้ง่ายขึ้น)

­

น้องๆ หลายคนคงมีประสบการณ์การทำโครงการต่างๆ ในสมัยเรียนมาไม่มากก็น้อย หลายครั้งที่เราทำโครงการแล้วเกิดปัญหาในระหว่างทาง หรือหลายครั้งที่เรามักหาทางออกกับปัญหาไม่ได้เสียที กว่าจะพบทางออกก็ใช้เวลาไปนานจนงานเลยกำหนดไปบ้าง หรือไม่สมบูรณ์ตามที่ใจนึกบ้าง หลายวันก่อนพี่เพิ่งมีโอกาสได้ให้วิธีคิดนี้กับน้องที่ทำโครงการถึงการออกแบบกิจกรรม วันนี้พี่เลยนำเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นมาแบ่งปัน ให้น้องๆ ที่กำลังทำโครงการต่างๆ อยู่ในขณะนี้ได้ลองนำไปใช้ออกแบบกิจกรรมเพื่อให้งานที่ทำมีอุปสรรคน้อยที่สุด

­

เราเริ่มต้นที่การคิดและออกแบบโครงการ/กิจกรรม ด้วยการ “คิดให้ครบ” ...... หลายคนคงมีคำถามในใจว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรหละ ว่าสิ่งที่คิดนั่นมัน “ครบ” แล้วหรือยัง ง่ายๆ เลยครับ วิธีที่จะรู้ว่าเราคิดได้ครบหรือยัง ก็ดูว่าสิ่งที่เราคิดนั้นตอบโจทย์กับสิ่งที่เราต้องการแล้วหรือยัง โดยเราใช้วิธีคิดย้อนจากปลายทางมาต้นทาง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรากำลังจะทำกิจกรรมปรับปรุงห้องสมุดชุมชน เป็นต้น วิธีคิดย้อนจากปลายทางมาต้นทางก็จะเป็นเช่นนี้

­

­

  • เริ่มจากปลายทางว่าสิ่งที่เราอยากเห็นคืออะไร มีอะไรบ้าง ลองคิดให้เป็นรายละเอียดออกมาให้ได้มากที่สุด แล้ววิเคราะห์ถึงศักยภาพและความพอประมาณว่าสิ่งใดบ้างที่จะสามรถทำแล้ว เกิดขึ้นจริงได้
  • ย้อนกลับมาที่ระหว่างทางที่จะเน้นถึงวิธีการอะไรที่จะสามารถทำให้เห็นผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจเอาไว้ โดยวิธีการต่างๆ ที่คิดนั้นก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการทำได้จริง รวมถึงการคิดถึงว่า อะไรคือความเสี่ยงหรือในทางตรงกันข้ามว่าถ้าไม่เกิดขึ้น หรือเกิดปัญหาขึ้นเราจะรับมือหรือแก้ปัญหาอย่างไรได้รวดเร็วที่สุด
  • สุดท้ายลองกลับมาที่ต้นทาง ว่ากิจกรรมที่จะทำนั้นสามารถตอบโจทย์ให้กับสิ่งที่อยากเห็นได้หรือไม่อย่างไร ถ้าทำแล้วจะได้ผลอย่างที่เห็นแน่นอนหรือไม่ ถ้า มีเหตุผลเพียงพอว่าใช่ก็เริ่มลงมือ
  • แต่การคิดให้ครบนั้นต้องให้คนที่เกี่ยวข้องหลายๆ คนช่วยตั้งคำถามเหล่านั้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมากที่สุด โดยอย่าลืมสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ก็คือ เหตุผล ความพอประมาณ และ ศักยภาพ
  • คิดซ้ำไปซ้ำมาแล้วค่อยๆ ตัดสิ่งที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่เหมาะสม สิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบ เสียเวลาหรืองบประมาณ ออกไปที่ละนิด แล้วเราจะได้คำตอบที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนขึ้น

­

การคิดแบบนี้จะช่วยให้คนที่ทำโครงการสามารถตั้งคำถามและออกแบบวิธีการในการทำกิจกรรมได้ดีและตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น และมีแผนในการทำงานอย่างยืดหยุ่นและสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ส่งผลกระทบน้อยในการทำงานที่สุด อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนและการทำงานได้เป็นอย่างดี เช่น การวางแผนการทำรายงาน การวางแผนการทำงาน เป็นต้น หากว่าใครลองนำไปใช้แล้วได้ผลก็อย่าลืมเอาไปแบ่งปันเพื่อนๆ คนอื่นนะครับ หรือใครที่คิดไม่ออกว่าจะตั้งคำถามอย่างไรก็ลองถามพี่เข้ามาได้นะครับ

---- ศุทธิวัต นัสการ (พี่โต้งไก่) ---

https://www.facebook.com/TKSCBF