จิตศึกษา : การศึกษาที่ถูกต้องสร้างความสุข
Supakiat Yombun

“การศึกษาที่ผิดสร้างความทุกข์ การศึกษาที่ถูกต้องสร้างความสุข” คำกล่าวหนึ่งในคำนิยมของศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่เขียนไว้ในหนังสือ “จิตศึกษา พัฒนาปัญญาภายใน” ของครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง
.
อยากชวนทุกคนนึกภาพสมัยเรายังเป็นนักเรียนใส่เสื้อขาว กางเกงหลากสีตามแต่ละโรงเรียน นึกไปให้ถึงตอนที่เรานั่งอยู่มุมใดมุมหนึ่งของห้องเรียน ในคาบที่เรามีความสุข เราจดจ่อกับสิ่งที่ครูกำลังสอน เมื่อครูถาม เรารีบยกมือ ลุ้นให้ครูเลือกเราเพื่อให้ตอบคำถามข้อนั้น และเราก็ได้ตอบ คำตอบเราถูก ครูชื่นชม เพื่อนๆต่างปรบมือให้ ใบหน้าเราเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เรามีความสุขมากแค่ไหน แต่ทันใดรอยยิ้มก็ค่อยๆหายไปพร้อมเสียงออดที่ค่อนข้างดัง ครูค่อยๆเก็บของ และเดินออกจากห้องเรียน สวนทางกับครูในคาบถัดไป ร่องรอยรอยยิ้มที่เคยมีค่อยๆจางหายไป ห้องเรียนที่เคยมีชีวิต ปะปนไปด้วยเสียงของการแย่งกันพูด แย่งกันถาม และแย่งกันตอบ กลับกลายเป็นห้องที่เงียบสงัดราวกับไม่มีใครอยู่ในห้องเรียน เรานั่งนิ่ง และหลังตรง หยิบสมุดบันทึก และจดตามที่ครูเขียนบนกระดาน ทุกครั้งที่ครูเดินผ่าน เสมือนเราได้ทำอะไรผิดมามากมาย จนต้องลอกข้อความจากเพื่อนข้างๆ เพราะไม่อยากเงยหน้ามอง คำถามหนึ่งผ่านไป คำถามสอง สามก็ผ่านไป ไม่มีนักเรียนคนไหนยกมือตอบเลย สุดท้ายก็กลายเป็นการบ้านที่ต้องไปลอกมาส่ง ทำไมมันทุกข์อย่างนี้
.
.

­


“จิตศึกษา คือ นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยในการพัฒนา และยกระดับ “ปัญญาภายใน” ของผู้เรียน ปัญญาภายใน ที่หมายถึง ความเข้าใจต่อตัวเอง ต่อชีวิต ต่อโลกและจักรวาล การอยู่อย่างมีเจตจำนงอย่างมีความหมายทั้งต่อตัวเอง และสรรพสิ่ง เป็นทั้งความฉลาดทางจิตวิญญาน (Spiritual) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emotion)
ในห้วงของการใช้ชีวิต คำถามสำคัญที่ส่งผลต่อแกนชีวิตทยอยเข้ามาในเส้นทางเดินของเรา
ชีวิตคืออะไรล่ะ
เกิดมาทำไม
เรียนไปเพื่ออะไร
ดำรงอยู่ไปเพื่ออะไร
จะอยู่อย่างมีความหมายและมีความสุขอย่างไร
การได้เจอคำถามใหญ่ในชีวิตเป็นสิ่งวิเศษ ถึงแม้พวกเราบางคนจะค้นพบคำตอบกันแทบตาย แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรเลยก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้สูญเปล่า คำถามใหญ่จะทำให้เราได้เริ่มต้นการใคร่ครวญครั้งใหญ่ ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับตนเอง ใคร่ครวญเกี่ยวกับผู้คนและสรรพสิ่ง ซึ่งเป็น กระบวนการภายในที่จะปรับเข็มทิศชีวิตมุ่งไปหาสิ่งจริงแท้”
.
.
ไม่ว่าจะเป็นครูหรือไม่ใช่ก็ตามแต่ การทำจิตศึกษา คือการได้ชวนนักเรียน หรือเด็กๆ ได้พิจารณาตัวเอง รับฟังเสียงตัวเอง ค่อยๆใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้น และอยู่ได้กับสิ่งที่กำลังดำเนินไป อาจเริ่มต้นด้วยการชวนนักเรียนนั่งเป็นวงกลม ในมือมีแก้วน้ำที่มีน้ำเต็มแก้ว ค่อยๆส่งแก้วน้ำนั้น ทุกครั้งที่รับ และส่ง ให้ชวนนักเรียนยกมือขอบคุณเพื่อนด้วยความนอบน้อม หากระหว่างทางน้ำเกิดหก ให้ชวนเขามองอุปสรรคนั้นด้วยความกรุณา ชวนเขาโฟกัสแค่การส่งแก้วน้ำนั้นไปจนกว่าจะครบทุกคนในวง เมื่อส่งครบวงแล้ว ชวนเขาแลกเปลี่ยนว่า เขาเห็นอะไร รู้สึกอย่างไร สุดท้ายขอบคุณเขาที่ร่วมกิจกรรม ชวนทำแบบนี้ทุกครั้งก่อนการสอนสัก 10 นาที ทำต่อเนื่องไปเรื่อยเรื่อย ความสุขในห้องเรียน ก็จะตามมา และเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยหล่ะ แต่อย่าได้เชื่อในสิ่งที่ผมได้บอกไป ถ้ายังไม่ได้ลองทำด้วยตัวเองนะครับ
.
.
“จะดีกว่าไหมถ้าจะให้การเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะปัญญาภายในให้กับเด็กๆตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อจะช่วยให้เด็กๆได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับตัวเองเร็วขึ้น ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตและสรรพสิ่ง เพื่อที่จะได้พบคำตอบของคำถามเหล่านั้นได้เร็วขึ้น”
.
.
อะไรที่มีข้อพิสูจน์ เห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ดีมากในระยะยาว และหลายหลายคนยอมรับ แต่
.
รู้ว่าดี แต่ทำไมถึงไม่ทำ !

ขอบคุณบางบทความจากหนังสือ "จิตศึกษา พัฒนาปัญญาภายใน" หนังสือที่สร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาด้านในของมนุษย์ โดย วิเชียร ไชยบัง

ขอบคุณที่ผ่านมาเจอบทความนี้

กอล์ฟ
02.08.60