บทบาทการเป็นพี่เลี้ยงโครงการให้กับเยาวชน
Suttiwat Naskan

จากประสบการณ์.........สู่เรื่องราว "บทบาทการเป็นพี่เลี้ยงโครงการให้กับเยาวชน"

จากการทำงานในฐานะพี่เลี้ยงโครงการต่างๆ ร่วมกับน้องๆ หลายกลุ่ม ทำให้เกิดการเรียนรู้และพบว่า การเป็นพี่เลี้ยงโครงการที่ดีนั้นควรมี ทักษะ คุณสมบัติและบทบาท เหล่านี้อยู่ในตัวของพี่เลี้ยง

  • เป็นที่ปรึกษา หมายถึง เป็นคนที่สามารถให้ความเชื่อมั่นน้องๆ ได้ว่าสามารถปรึกษาได้ในทุกเรื่อง สามารถเป็นได้ทั้งพี่ เพื่อนและผู้ให้คำแนะนำเรื่องงานได้ ไม่ใช่เป็นแค่คนที่เข้ามาดูแลโครงการและตรวจงานน้องอย่างเดียว ทั้งนี้ต้องอาศัยเวลาในการทำความรู้จักกันพอสมควรที่จะทำให้เห็นอุปนิสัยและสามารถประเมินน้องๆ ได้ ว่าพี่เลี้ยงควรมีท่าทีอย่างไร เพราะแต่ละคนก็จำเป็นต้องใช้ท่าทีที่ต่างกัน

­

  • การโน้มน้าวใจ ถือเป็นศิลปะในการทำงานทุกประเภท และการโน้มน้าวใจก็สามารถนำมาใช้กับการทำงานเยาวชนได้เป็นอย่างดี เพราะ พบว่าคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนั้นมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก ดังนั้นวิธีคิดโครงการต่างๆ ที่เสนอเข้ามาเพื่อขอรับทุนนั้นจะมีความต้องการในแบบตนเองสูงมาก ซึ่งยากเหลือเกินที่จะปรับเปลี่ยนความคิดความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายถึงสิ่งที่คนรุ่นใหม่คิดนั้นไม่ถูกต้อง แต่บางครั้งสิ่งที่เสนอมานั้นหากทำไปแล้วอาจไม่เกิดผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นเป้าหมายในการทำโครงการเพื่อสังคม ไม่ใช่การทำงานเพื่อให้มีปริมาณโครงการที่เพิ่มขึ้น แต่กลับเป็นการสร้างคุณค่าของงานและผู้ทำงานนั้นให้เกิดขึ้นต่างหาก การโน้มน้าวอย่างมีเหตุผลและสามารถชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลโครงการหรือพี่เลี้ยงจะต้องมองเห็นและสามารถชี้ประเด็นให้กับน้องๆ ได้ เพื่อให้เกิดการปรับความเข้าใจและความคาดหวังที่ตรงกัน ส่งผลให้เกิดงานที่มีประโยชน์ มีคุณค่า และคุ้มค่ามากที่สุด และ ต้องสามารถ “ประนีประนอม” เพื่อลดความขัดแย้งให้มากที่สุดเช่นกัน

­

  • ความเอาใจใส่ หมายถึง การให้ความสนใจในงานของน้องโดยละเอียด ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ประสานงานที่ทำให้มีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่คอยชี้ช่องว่างและหาวิธีที่จะเติมเต็มให้กับน้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำโครงการได้เห็นถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขได้ นอกจากนั้นยังต้องมีการติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะว่าน้องติดปัญหาอะไรในการทำงาน เพื่อที่จะได้ชวนน้องๆ หาทางจัดการปัญหาให้คลี่คลายไปได้ รวมถึง “การให้กำลังใจ” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการทำงานในลักษณะนี้

­

  • ทักษะการตั้งคำถาม หมายถึง พี่เลี้ยงจะต้องมีความสามารถในการตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้ผู้ที่ทำงานตอบและประเมินในสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่ได้ ไม่ใช่เป็นการบอกหรือเฉลยให้ทำเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้น้องๆ ไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องทำ แต่เมื่อตั้งคำถามแล้วพี่เลี้ยงจำเป็นต้องมีคำตอบอยู่ในใจ หากน้องๆ ตอบมาแล้วไม่เป็นไปในทิศทางที่อยากเห็นนั้น พี่เลี้ยงควรมีวิธีในการตอบคำถามที่ตั้งไว้หรือชี้แจงให้กับน้องๆ ด้วยเหตุผลที่ดีพอเช่นกัน หลายครั้งที่ผู้เขียนพูดกับน้องๆ ที่ทำโครงการคือ “พี่ไม่ได้มีหน้าที่มาบอกน้องๆ ว่าต้องทำอะไร ตามคำสั่งเพราะน้องจะไม่เกิดความเข้าใจว่าทำไมต้องทำ แต่พี่มีหน้าที่มาชวนน้องคิดว่า น้องจะต้องทำอะไรและทำไมถึงต้องทำ จึงจะทำให้น้องเข้าใจและสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ต่อกับงานอื่นๆ ได้”

­

  • การมีชุดตัวอย่าง/ประสบการณ์ หมายถึง ในการชี้ประเด็นให้กับน้องๆ บางคนเข้าใจนั้น อาจสัมฤทธิ์ผลไม่เท่ากันเนื่องจากความสามารถในการรับรู้ของแต่ละคนนั้นมีระดับที่ไม่เท่ากัน จะเป็นการดีมากที่พี่เลี้ยงสามารถนำประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาเล่ายกตัวอย่างให้เห็นเป็นภาพเพื่อให้น้องๆ ได้คิดตาม รวมถึงในบางครั้งพี่เลี้ยงเองอาจจะต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง แล้วมีการชวนคุยว่าเห็นในสิ่งที่พี่ทำแล้วรู้สึกอย่างไร ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้เขียนใช้เป็นประจำ

­

  • ความสามารถในการประเมิน หมายถึง สามารถประเมินสถานการณ์และศักยภาพของน้องในการทำโครงการด้วยเช่นกัน ว่าสามารถทำได้ในระดับไหน เพื่อปรับลดความคาดหวังในการทำงานลงและหาทางในการเพิ่มศักยภาพตัวน้องให้เกิดการพัฒนาขึ้นได้ นอกจากนั้นควรมีทักษะในการชวนน้องประเมินหรือถอดบทเรียนตนเองและงานที่ทำได้เป็นระยะ เพื่อให้น้องเห็นสถานการณ์ในการทำงานที่เป็นปัจจุบันที่สุด หากพบว่าเกิดความเสี่ยงในการทำงานจะได้หาทางในการป้องกันความเสี่ยงนั้นได้

­

  • ความอดทน น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานกับเยาวชน เพราะ ภูมิหลัง ประสบการณ์ ทักษะความรู้ที่แตกต่างกัน ทำให้น้องแต่ละคนเกิดการเรียนรู้ไม่เท่ากัน การเป็นพี่เลี้ยงในกลุ่มที่มีความหลากหลายของสมาชิกเป็นความท้าทายที่พี่เลี้ยงจะต้องเจอ ดังนั้นต้องอาศัยความอดทนในการบอก การอธิบาย หรือการสอนให้น้องเกิดพัฒนาการ แต่ทั้งนี้ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือ การเปิดใจ และความอดทนของน้องๆ ที่จะมีใจในการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

­

­

       นี่คงเป็นเพียงพื้นฐานส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการที่ดี แต่ผู้เขียนเชื่อว่าการเป็นพี่เลี้ยงที่ดีนั้นยังต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ อีกมากมายขึ้นอยู่กับประสบการณ์และสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป

­

---- ศุทธิวัต นัสการ ---