ปัญหาการสื่อสารและความกล้าแสดงออกของเด็ก
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

"ทำไมเด็กไทยถึง... ไม่กล้าพูด" "ทำยังไงเด็กไทยถึง...กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง"

­

­

ผมสังเกตเวลาไปทำกระบวนการระดมความคิดกับน้องๆ พอตั้งคำถามแล้วน้องๆ หลายคนไม่กล้าพูด กลัวว่าพูดแล้วจะผิด เลยไม่แสดงความคิดดีกว่า...

การกล้าพูด กล้าคิด คือ กลไกทางจิตที่มาจากส่วนลึกภายในของมนุษย์ที่สะท้อนว่า เขารู้จักตัวเอง มีความมั่นใจในความคิด การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง ร่างกาย ซึ่งหล่อหลอมเป็นบุคลิกภาพของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน บางคนแสดงออกแบบนักเลง บางคนแสดงออกตรงๆ บางคนก็คิดถึงคนอื่นมากกว่าที่จะแสดงออก

วัยรุ่นส่วนใหญ่ เติบโตมากับความกังวลใจ กังวลในร่างกาย-เสียง-สีหน้าท่าทาง คำพูดของตัวเอง และพกความกังวลนั้นไว้ในอ้อมอก แทนที่จะแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ แต่การแสดงความคิด ผ่านภาษาพูดภาษากายในเรื่องที่กล้าหาญและเป็นประโยชน์เป็นเรื่องที่ทำกันน้อยมากในหมู่วัยรุ่นไทย เพราะส่วนใหญ่มักแสดงความรู้สึก อารมณ์สนุก เศร้า เคล้าบันเทิงซึ่งส่วนนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่แสดงออกอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

วันก่อนผมได้มีโอกาสคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาตรงนี้ เรื่องการสื่อสาร การพูดของเยาวชน โดยคำชวนของพี่แอ๋ว รัตนติกา เพชรทองมา โคช หลักของโครงการปลูกใจรักษ์โลก... มูลนิธิกองทุนไทย ที่พัฒนาเยาวชนให้ลงมือทำโครงการด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดิน น้ำ ป่า ขยะ ของชุมชน

ผมคิดถึง "เทคนิคการเสริมพลัง/ดึงศักยภาพของเด็กออกมาผ่านการใช้กระบวนการละครสร้างสรรค์" เพราะกระบวนการเรียนรู้ผ่านแบบฝึกหัดต่างๆ ของละครมันเปิดโอกาสให้ มนุษย์ดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้สร้างสรรค์ผ่านการแสดงออก การสื่อสารโดยใช้ร่างกาย สายตา ความคิด ภาษา คำพูด และจากการทำงานเป็นทีม ผมตื่นเต้นเพราะไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะทำได้ไหม...

­

­

ผมเริ่มจาก...
1) ฝึกให้เขาทำแบบฝึกหัดการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยตลอด 2 ชั่วโมงไม่มีการพูดเลย ให้เขากลับมาอยู่กับตัวเอง สำรวจการหายใจของตัวเอง เพราะการเห็นตัวเองว่าตัวเราเป็นอย่างไรนั้นสำคัญมาก คนส่วนใหญ่มักจะสนใจแต่เรื่องบันเทิงนอกตัว แบบฝึกหัดทางการละครจะชวนให้เขาได้รู้จักเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ความคิด กาย-ใจของตัวเอง

­

2) ผมค่อยๆ เอากระบวนการเล่น play "ละครสร้างสรรค์" เล่นตามโจทย์ที่ให้เล่นสมมุติเป็นสัตว์ สร้างเรื่องอย่างง่ายๆบ้าง และลองเล่นต่อหน้าเพื่อนในห้องด้วยกัน ไม่ได้มีเป้าหมายหวังความสมบูรณ์ทางการแสดง แต่อยากให้เขาได้ทำงานเป็นกลุ่มที่ต้องระดมความคิดในเวลาอันจำกัด มั่นใจที่จะใช้ไหวพริบปฏิภาณ ทำการแสดงสั้นๆ โดยที่ต้องมายืนอยู่หน้าห้องให้เพื่อนได้ดูการแสดงออกของตัวเอง กระตุ้นด้วยโจทย์ละคร เวลา และการนำเสนอ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องล่อให้เขา "ดึงศักยภาพ" ของตัวเองออกมาโดยไม่ผ่าน "การคิด" หรือตกร่อง "ความไม่มั่นใจ" เพราะเมื่อนำเสนอต่อหน้าเพื่อนเป็นการฝึก "พาตัวออกมายืนอยู่หน้าผู้อื่น" ฝึกการรับพลังที่มีสายตาของเพื่อนๆ จับจ้องมาที่เรา ให้เขาคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งจะหล่อหลอมความ "กล้าหาญ" ซึ่งหัวใจของครูฝึก coach. คือ การเสริมพลังทางบวก กระตุ้นให้เขาหาญกล้าที่จะแสดงออกมา

­

3) แบบฝึกหัดการใช้เสียง และกลับมาสำรวจลมหายใจที่เขาเปล่งเสียงออกมา การขยับปาก รูปปาก ลิ้น คำพูด ส่งพลังไปให้ถึงจุดหมาย ถึงหัวใจของผู้ฟัง เราค่อยๆ ปรับแก้ การออกเสียง การใช้ริมฝีปาก พูดให้ถูกอักขระ เสียง-สูง-ต่ำ น้ำหนักและความหมายของคำพูด ตรงนี้มันคือการฝึกหัดปรับแก้คำพูดของเขาด้วยตัวเขาเอง

­

4) ฝึกเรียบเรียงความคิด ผ่านการแนะนำตัวเอง แนะนำโครงการที่ทำง่ายๆ ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-เมื่อไร-อย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะเรียบเรียงความคิดนำเสนออย่างไรให้กระชับ จินตนาการเล่าเรื่องให้เห็นภาพ เน้นบุคลิกความเป็นตัวเองมากกว่าการเลียนแบบบุคลิกของดาราพิธีกรวัยรุ่น มีประเด็นที่ได้เสนอความคิดของตัวเอง ไม่น่าเชื่อว่าแค่แนะนำตัวเองสั้นๆ 2 นาที เป็นช่วงเวลาที่เขาเตรียมการมากกว่า 30 นาที ผมลองให้เขาจดในกระดาษ เล่าให้เพื่อนฟังรอบที่ 1 หลายคนสะท้อนว่า เขาแค่ท่องจำมาเล่า ผมลองให้เขาลองเดินไปเดินมา ลองพูดกับตัวเองว่าจะเล่าอย่างไรให้มีพลัง มีจินตนาการ ลองพูดกับตัวเองว่าจะเล่าเรื่องของตัวเองอย่างไรให้มีเสน่ห์ มีพลัง มีความหมาย สื่อสารผ่านร่างกาย-สีหน้า-น้ำเสียง และลองนำเสนอทีละคนหน้าห้อง พบว่าหลายคนตื่นเต้นไม่กล้าออกมาพูด

แต่จากแบบฝึกหัดก่อนหน้านี้เขาเคยผ่านประสบการณ์ออกมายืนแสดงละครสั้นๆ จากไหวพริบปฏิภาณ ต่อหน้าเพื่อนแล้ว จึงกระตุ้นให้เขาใช้เวลาชั่ววินาที ใช้ไหวพริบของตัวเอง "พูดแนะนำตัว" ซึ่งหลายคนแนะนำตัวได้อย่างน่าประทับใจ จาก 4 ชั่วโมงผมเห็นน้องเปลี่ยนไป

­

"แทน" เป็นเด็กน้อยที่สุดในกลุ่ม และมั่นใจในตัวเองน้อยที่สุด ตอนเริ่มต้นเขาพูดน้อยที่สุด หลบสายตาด้วยรอยยิ้ม พูดไม่ออก และหยุดหัวเราะตัวเองเป็นระยะๆ เขาและเพื่อนนำเสนองานกลุ่มต่อหน้าเพื่อน 60 คน ในงานมหกรรมสื่อสารสิ่อที่ค่ายปลูกใจรักษ์โลกพาไปดูงานพื้นที่ hip farm เขาพูดเป็นคนแรก แทนตัวเองเป็น 'พี่โอ๋' เจ้าของฟาร์ม เขาเล่าประวัติพี่โอ๋ผ่านการพูดของตัวเอง ที่เรียบเรียงความคิดได้ดี พูดจาฉะฉาน มั่นใจทั้งสายตา การยืน และสะท้อนว่า "ผมสนุกมากครับ" เมื่อกลับมาในวงสะท้อนคิดสรุปผลการทำงาน เขากล้าที่จะออกความคิดทั้งๆที่ไม่เคยทำมาก่อน