"ละคร" เพื่อการเรียนรู้
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร



ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเรื่อง "ละคร" ซึ่งเป็น "กระบวนการเรียนรู้" มาตั้งแต่เริ่มชีวิตการเป็นนักศึกษา และทำวิทยานิพนธ์ประเด็น การพัฒนาศักยภาพคนทำงานละคร ในฐานะที่เป็น "ผู้อำนวยการเรียนรู้" สมัยนี้เรียก "coach" หรือทางละครเรียก "actor-teacher" ใน "ละครเพื่อการศึกษา" โดยเข้าไปปรึกษาครูอุ๋ย พรรัตน์ ที่เคารพ รัก ศรัทธา ที่ภาควิชาศิลปการละคร อักษร จุฬา และครูก็เอ็นดู ให้ตำรามาอ่าน lecture พิเศษ คราวละครึ่งค่อนวัน ช่วยอ่าน ช่วยปรับแก้งานเขียน ที่ค้นคว้ามาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

(สามารถดาวน์โหลดอ่านได้ที่ http://www.plian.in.th/knowledge/article/research...

­

ผมตั้งใจค้นคว้าเก็บข้อมูลทำวิจัยในฐานะคนทำงานคนหนึ่งที่กินเงินเดือนทีมประเมินภายในโครงการ โดยมี อ.เจี๊ยบ สุคนธจิต วงษ์เผือก มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าทีม ในเครือข่ายละครงดเหล้า มีสมาชิกเป็นคนทำงานละครในกลุ่ม กิ่งก้านใบ ถักทอฝัน ไม้ขีดไฟ และหุ่นสายเสมา ตั้งแต่เริ่มปี 2547 ทำเสร็จ ปี 2552


ข้อค้นพบจากการวิจัย พบว่า actor-teacher ใน ละครเพื่อการศึกษานั้น ควร "ทำได้" 6 ด้าน คือ

1) ออกแบบการเรียนรู้ผ่าน "ละคร"

2) การสร้างบท สร้างละครที่มี "ประเด็น" ในการอภิปราย ถกเถียง คิดอ่าน เรียนรู้

3) การเชื่อมโยงบทเรียนในละคร เข้าสู่การเรียนรู้ประจำ ในโรงเรียน

4) การจัดกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการเรียน การตั้งคำถาม การเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนผ่านละครในห้องเรียน กับประสบการณ์จริงในชุมชน ชวนผู้เรียนลงชุมชน เก็บข้อมูล และทำละครเพื่อคลี่คลายปัญหาของชุมชน โดยจัดแสดงในห้องเรียน หรือ ไปเร่ละครในชุมชน

5) การเสริมพลัง ชวนคิด ชวนคุย ทำกระบวนการทางความคิด กระตุ้นให้ผู้เรียนเห็นความสามารถ ซึ่งเป็นพหุปัญญาด้านต่างๆ ของตนเองจากการทำละคร

6) มีความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักในการทำงาน รักในการพัฒนาตน


ตอนท้ายของการวิจัย ผมได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า การที่ actor-teacher ใน ละครเพื่อการศึกษา จะพัฒนาตนได้นั้น ควรจะรวมกลุ่มกันเป็น "เครือข่ายเรียนรู้" พบปะกันเป็นระยะ เพื่อพูดคุย ถอดบทเรียนการทำงานละคร แลกเปลี่ยนเทคนิคในการทำละครรูปแบบต่างๆ และชวนเพื่อนที่เก่งในด้านต่างๆ ทั้งครู แกนนำชุมชน แกนนำเยาวชน หรืออาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์อื่น มาร่วมกันทำงานเพื่อบูรณาการละคร ไปใช้สร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง


เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อผมวิจัยจบ ความรู้ก็ได้ "แขวนขึ้นหิ้ง" ด้วยเครือข่ายละครก็แยกย้ายกันไป เพราะหมดทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผมเองก็ มาทำโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ร่วมกับ กลุ่มละครมะขามป้อม พัฒนาหลักสูตร พัฒนากระบวนการอบรม และสร้างกลุ่มละครเยาวชน ได้ปีกว่า ผมเองก็เปลี่ยน area มาทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนมิติอื่นๆ ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ถึง 4 ปี ห่างไปจากละครเพื่อการพัฒนาตั้งนานสองนาน


เมื่อปีที่แล้ว ได้โอกาสอย่างมากจาก พี่ก๋วย พฤหัส พหลกุลบุตร ชวนผมมาช่วยเป็นทีมประเมินภายใน แม้ว่าผมมีเวลาไม่มาก ก็ปลีกตัวเองในช่วงวันหยุด ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียน "ประเมินเพื่อการเรียนรู้" และเครื่องมือ "social lab" ที่เก็บเกี่ยวมาจากการทำงาน ได้จัดกระบวนการให้กับพี่ๆ เครือข่ายละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกิ่งก้านใบ มะขามป้อมเชียงดาว มานีมานะ สื่อใสวัยทีน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มละครเพื่ การเรียนรู้บางเพลย์


เป็นที่แปลกเหมือนกัน "ความรู้ที่แขวนขึ้นหิ้ง" ไป 4 ปี ได้ หยิบกลับมาใช้จริง ผมได้เห็นพี่ๆ แกนนำคนทำงานละครประยุกต์ หรือละครเพื่อการพัฒนา ได้นำเอาความรู้จากประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกันอย่างลึกซึ้ง เป็นวงพูดคุยของคนทำงานที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้ผมรู้สึกหัวใจพองโต และพร้อมเรียนรู้อีกครั้ง




ผมเห็นเครือข่ายคนทำงานที่ "ขยายตัว" ไปจากพี่ๆ หัวหน้าแต่ละองค์กรที่สั่งสมประสบการณ์จากการทำจริง... มาสู่น้องๆ ทีมงานรุ่นใหม่อีกหลายคนที่ผมเห็นเขาตั้งแต่เป็นเยาวชนทำละคร ขยับบทบาทตนมาเป็น ศิลปิน-วิทยากร ผมเห็น user เพิ่มมากขึ้นไปกว่าคนทำละครเพื่อการพัฒนา แต่เป็น พี่ๆ NGOs ที่ทำงานสายพัฒนาแต่สนใจละคร เห็นแกนนำเกษตรกร แกนนำผู้ปกครอง และแกนนำเยาวชน หรือแม้กระทั่ง อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ สหสาขา เช่น นิเทศศาสตร์ และมนุษยวิทยา ที่เขาสามารถอธิบาย "การเรียนรู้ผ่านละคร" ได้อย่างลึกซึ้ง และทุกคนเข้าใจว่า "ละคร" สามารถ "สร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร"


ปรากฎการณ์ครั้งนี้ นับว่าเป็นคุณค่าอย่างยิ่ง ที่คนที่เข้าใจละครจากการทำจริง สามารถใช้ไปเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของเยาวชน และชวนลงมือทำ เพื่อคลี่คลายปัญหาในชุมชน


สิ่งหนึ่งที่ผมพบว่าสำคัญและเป็นเงื่อนไขในการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงปัญญา ของกลุ่มผู้เรียน คือ ละครเป็นศิลปะที่ให้ประสบการณ์ทางสุนทรียะ สะท้อนชีวิต และบทเรียนการเรียนรู้ ในคุณค่าความเป็นมนุษย์ เป็นการเรียนรู้ผ่านความรู้สึกนึกคิด และจิตวิญญาณของมนุษย์ ที่ทำให้ความคิด และจินตนาการของผู้ทำละคร หรือผู้ชมแตกตัวไปสู่การเข้าใจใน แก่นแท้ของธรรมชาติ และความเป็นมนุษย์ ที่ต้องการดำรงอยู่ร่วมอย่างมีคุณค่า ความดี ความงาม ซึ่งสุดแท้แต่การรับรู้ รส สัมผัสของแต่ละคน และแม้ว่าละครอาจไม่มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนความคิดของปัจเจกไปชั่วชีวิต หรือเปลี่ยนสังคมอย่างเห็นผลในทันที แต่ละครก็ได้ทำหน้าที่ ในฐานะ สร้างสรรค์อุดมการณ์ของมนุษย์ อย่างมีชีวิต ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนที่กวี ดนตรี และประติมากรรม และจินตทัศน์ได้ทำหน้าที่อยู่ในวัฒนธรรมของสังคมทุกยุคทุกสมัย


เหมือนที่อาจารย์ ต้อย ผู้สอนมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในภาคีผู้ใช้ประโยขน์จากละคร เปรียบเทียบว่า ต้นไม้ต้นหนึ่ง ณ ฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ที่คนโอบกอดได้ไม่มิด เคยให้ร่มเงา ลมพัด ที่ให้นกเกาะกิ่ง ร่ำร้อง ครั้งโดนขีปนาวุธ นิวเคลียร์ทิ้ง ครืน... กลีบเหลือเพียงตอไม้ ประชาชนชาวญี่ปุ่น ต่างเชื่อมั่นและรอคอยว่าวันหนึ่งไม้ใหญ่นี้จะ แตกยอด แทงหน่อ สร้างชีวิตให้ คืนมาอีกครั้ง แม้ว่าจะไร้ซึ่งความหวัง ที่เหลือแต่ความว่างเปล่า แต่เมื่อ 30 ปีผ่าน ใบไม้ได้เติบโตเป็นจริงอีกครั้ง และได้สร้างสรรค์ให้เสียงกลับคืนมา ลมได้ผัดผ่าน ความสงบเย็นคืนสู่วิถีธรรมชาติ


เช่นกัน ละครก็คงทำหน้าที่ "สร้างการเรียนรู้" ในฐานะวัฒนธรรม และสร้างสรรค์ปัญญาของมนุษย์ให้งอกงามตามธรรม