“สำนึกความเป็นพลเมือง”กับ“คนไทย”ควรเริ่มต้นที่ “ใคร” ดี!!!
นาถชิดา อินทร์สอาด

­

ถูกโยนเข้าสู่วงความคิด “สำนึกความเป็นพลเมือง” ควรจะเป็นอย่างไร? ใช่ที่เคยเข้าใจมาหรือไม่ ขออนุญาต นำแนวคิดของหลายๆ คน มาแชร์ร่วมกัน

เริ่มจากกระแสสังคมไทยที่เรียกร้อง “สำนึกความเป็นพลเมือง” ในวิชาเรียน “หน้าที่พลเมือง” ที่ทุกคนบอกว่าหายไป ขออนุญาติแชร์บทความที่ได้อ่านจากบทความไทยรัฐออนไลน์ ในการเป็น “คำตอบ” ให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

//////////////////////////////////////////////////////////////////

'เรียนรู้นอกตำรา' พิมพ์เขียวเรียนวิชาประวัติศาสตร์-หน้าที่พลเมือง แบบยั่งยืน!

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 26 มิ.ย. 2557 บทความวิชาพลเมือง ไทยรัฐ ออนไลน์

อยู่ระหว่างการปรับปรุง?' สำหรับการปรับเปลี่ยนชั่วโมงเรียน และเนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ขานรับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยากให้เด็กไทยมีสำนึกรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แบบ 'จัดหนัก' !?...

ระหว่างที่อยู่ในกระบวนการเตรียมโครงสร้าง กรอบวิชา เนื้อหา และสัดส่วนเวลา ซึ่งนำทัพโดย นายวินัย รอดจ่าย ประธานกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองนั้น อีกมุมหนึ่ง นักวิชาการด้านการศึกษาของประเทศไทย อาจเรียกได้ว่า เป็นส่วนน้อยออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ควรเรียกว่า การคัดค้าน แต่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นห่วงว่าการเรียนการสอนมากกว่า ว่าอาจไม่เกิดประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจ อันเนื่องมาจากการ เกาไม่ถูกที่คัน?

"ไทยรัฐออนไลน์" ต่อสายคุยกับนักวิชาการด 3 คน ถึงปัญหา และแนวทางการจัดเรียนสอนวิชานี้อย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ ได้แก่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศึกษา และผู้ช่วยคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำภาควิชาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะนายกสมาคมครูสังคมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.ค.ส.)

"วิชาประวัติศาสตร์-หน้าที่พลเมือง" ไม่ได้หายไปไหน?

เริ่มต้นที่ ผศ.อรรถพล ที่อธิบายให้กับ "ไทยรัฐออนไลน์" ฟังว่า ที่จริงแล้ววิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองนั้น ไม่ได้หายไปไหน ซึ่งก่อนหน้านี้ ประเทศไทยอิงหลักสูตรการเรียนจากประเทศอังกฤษ ซึ่งแยกวิชาเป็น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศาสนา แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิชาการที่ได้รับอิทธิพลมาจากอเมริกา ก็มาผลักดันวิชานี้ให้อยู่ในกลุ่มของ " สังคมศึกษา" แทน ซึ่งประกอบด้วย วิชาหน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และศาสนา ซึ่งใช้สอนมาจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ว่า คนที่ไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของการศึกษามากนักก็อาจไม่รู้ว่า "วิชานี้ยังอยู่" บวกกับความห่วงใยของผู้ใหญ่ที่ต้องการให้การสอนวิชานี้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เพราะสังคมกำลังเกิดความขัดแย้งนั่นเอง ตรงกันข้าม ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษาเอง กลับไม่เคยรู้สึกเลยว่าวิชานี้หายไป

"มันก็อยู่มาตอด ไม่หายไป เพียงแต่คิดว่าน่าจะเกิดจากการรับรู้ไม่เท่ากัน คนที่อยู่ไม่ได้ติดามก็จะเห็นว่า มีคำว่า สังคมศึกษา แต่หน้าที่พลเมืองหายไปแล้ว ทั้งๆ ที่จริง ทั้ง 5 อันมันต้องบูรณาการ เช่น จะสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่อง เขาพระวิหาร เด็กก็ต้องอ่านแผนที่เป็น ต้องรู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรม รู้จักกฎหมายสากล รู้เรื่องการเมืองปกครอง รู้ระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น" ผศ.อรรถพล กล่าว

เรียนไปทำไม?

"เด็กเรียนวิชานี้ เพื่อมีเซนต์ของการเป็นสมาชิกของสังคม" ผศ.อรรถพล ควบรวมความหมายคร่าวๆ ของการเรียนวิชานี้ โดยระบุว่า การเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการเมืองการปกครองเพียงอย่างเดียว แต่จะสอนเรื่องสิทธิหน้าที่ 3 มิติ คือ พลเมืองในมิติวัฒนธรรม พลเมืองในมิติการปกครอง และพลเมืองในมิติกฎหมาย เพราะมันครอบคลุม 3 เรื่อง หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิต ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าจะไปเน้นแค่เรื่องนั้น

"เราต้องรู้จักว่าใครอยู่ในสังคมนี่บ้าง รู้จักกฎกติกา และวิธีการอยู่ร่วมกัน เรื่องกฎหมายด้วย สังคมที่อยู่มีอุดมการยังไง มีวิถียังไง ปกครองแแบบใด" ผศ.อรรถพล อธิบาย

เช่นเดียวกับ ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูร ที่กล่าวกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า การเรียนวิชาสังคมนั้น เรียนเพื่อให้เด็กรู้จักว่า รอบตัวของเด็กเป็นยังไง ตัวเองจะมีบทบาทต่อสังคมอย่างไร จะต้องวางตัวต่อสังคมอย่างไร เรียนเพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง และความเป็นมาของสังคม เช่น เศรษฐศาสตร์ หน้าที่พลเมือง หรือจริยธรรม ซึ่งการเรียนสังคมจะเชื่อมโยงกันหมด จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เรียนแยกเป็นวิชาใด วิชาหนึ่ง

"ช่องโหว่" ของการปรับปรุง

เพิ่มภาระครู-เด็ก
ผศ.อรรถพล ตั้งคำถามถึงการนำวิชานี้มา "ปัดฝุ่น" ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักแล้วจริงหรือ ขณะเดียวกันสถานการณ์ปัจจุบัน ควรจะนำวิชานี้ไปเน้นหนักให้ใครมากกว่ากัน ระหว่างเด็ก หรือผู้ใหญ่ และหากเป็นเด็ก จะต้องมีการวางระบบในระยะยาว และต้องชัดเจน เพราะเด็กต้องเรียน 9-12 ปี ขณะเดียวกันวิชานี้ ก็อยู่ในการเรียนของเด็กตั้งแต่ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่แล้ว หรือต้องการเพียงแค่แยกวิชาออกมาเป็นชื่อให้ชัดเจนใช่หรือไม่ และหากแยกวิชาออกมา ภาระครู และนักเรียนก็จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะต้องแยกถึง 5 วิชา ซึ่งสวนทางกับแนวทางบูรณาการที่ตั้งโจทย์ไว้

"เวลาจะเพิ่มบทเรียน หรือเนื้อหา จริงๆ ต้องดูโครงสร้าง ดูภาพใหญ่ร่วมกัน ตุ๊กตาของการเรียนตอนนี้ คือ เด็กประถม ไม่ต่ำกว่า 1,000 ชม./ปี มัธยมไม่ต่ำกว่า 1,200 ชม./ปี ซึ่งวิชาที่ทำอยู่นี้ ระบุว่าจะต้องเรียน 40 ชม.นั้น จะเพิ่มไปอีก 40 ชม. หรือเอา 40 ชม.ไปแทรกในเวลาของเด็ก ขณะเดียวกันครูก็จะ work load มากขึ้น คำถามคือ เราเพิ่มงานเชิงปริมาณหรือไม่ และถ้าเราอยากให้คุณภาพการเรียนพลเมืองดี ควรเน้นคุณภาพดีกว่าหรือป่าว ไม่ใช่เพิ่มภาระงานครู หรือถ้าคิดว่าโรงเรียนสอนวิชานี้ไม่ดี เราก็ต้องมาช่วยกันดูว่าเราจะสอนกันยังไง" ผศ.อรรถพล กล่าว

บริบทสังคม ไม่ตรงกับสิ่งที่เด็กเรียน?
ผศ.อรรถพล กล่างอีกว่า สังคมวันนี้ไม่ได้เป็นโลกตามที่เด็กเรียนมา เราพยายามสอนให้เด็กเคารพสิทธิคนอื่น แต่ตอนนี้สังคม เต็มไปด้วยคนที่กำลังละเมิดสิทธิ์ เราไม่ทำตามหน้าที่ ขัดแย้งกัน

"เราบอกว่า เด็กต้องมีเสรีภาพ แต่สังคมเราไม่เปิดให้คนมีเสรีภาพจริงหรือป่าว เด็กเรียนเรื่องสิทธิ แต่ก็เจอการละเมิดสิทธิทุกวัน เด็กเรียนเรื่องหน้าที่ไป แต่คนในสังคมไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง สอนเด็กว่า ถ้ามีความขัดแย้งตามวิถีประชาธิปไตย จะต้องแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่การเมือง 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยไม่ได้ใช้สันติวิธีแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นที่เด็กเรียนในห้องเรียนเป็นแนวคิด เป็นตัวอย่างจากประเทศนั้น ประเทศนี้ แต่ประวัติศาสตร์ของตัวเองไม่ตรงกับสิ่งที่เรียน" ผศ.อรรถพล กล่าว

ต้องปรับปรุงทั้งกลุ่มวิชาสังคม
เช่นเดียวกับ ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูร ที่ระบุว่า เห็นด้วยที่จะปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง แต่การปรับปรุงเพียง 2 วิชานั้น ไม่เพียงพอ ควรทำทั้งระบบกลุ่มวิชาสังคมศึกษามากกว่า ซึ่งการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองจะต้องมีหลายฝ่ายช่วยวางแนวทางว่า อยากให้สังคมเป็นไปในทิศทางใด มีลักษณะอย่างไร มีบทบาทอย่างไรในอนาคต จากนั้น จะช่วยกำหนดแนวทางการสอนของครูสังคมศึกษา และจะทำให้ครูไม่สอนตามที่เชื่อ แต่สอนแบบมีเป้าหมาย

หน้าปกวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง แต่ละยุคสมัย-

ภายใต้หลักสูตร 2551 "แทรกความรักชาติยาก"
ขณะที่ รศ.ดร.สมพงษ์ ระบุว่า วิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองอยู่ในหลักสูตรการศึกษาปี 2551เป็นวิชาที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคมศึกษา ซึ่งไม่มีน้ำหนักพอ ที่จะสอนให้รักชาติ และในแง่ของคนไทยนั้น การสอนให้คนไทยเกิดเจนตคติเรื่องการรักชาติ ค่อนข้างยาก เพราะในการเรียนปัจจุบัน มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มวิชาอื่นมากกว่า จึงสอดแทรกยาก นอกจากนี้ วิชานี้ถูกนำไปอยู่ในวิชาเลือก แน่นอนว่า ทั้งเด็ก และผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่เลือกเรียนวิชานี้ เพราะไม่มีผลต่อการสอบเข้าเรียนต่อ

"คาดว่าตอนนี้น่าจะทำได้ ประมาณ 1 ใน 5 ถ้าอยากได้ 3 ใน 5 หรือ 4 ใน 5 ต้องรื้อใหม่หมด ระบบครูด้วย ระบบการเรียนการสอน ระบบเนื้อหาด้วย ในส่วนของครู ครูต้องไม่ได้สอนตามตำรา ต้องเป็นนักเล่า มีเกร็ด และต้องเชื่อมโยงกับการศึกษานอก และการศึกษาจริง ศึกษาค้นคว้าจากตำนาน เด็กๆ ก็จะสนใจ นอกจากนี้ ครูก็ต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูล แต่ด้วยระบบหลักสูตร 8 กลุ่มตอนนี้ อาจทำให้เด็กไม่สนใจ และก็จะเรียนเหมือนวิชาๆ หนึ่ง เท่านั้น ตรงนี้ ทั้ง ศธ. และคสช. ต้องกล้าหาญปรับปรุงระบบปฏิรูปใหม่" รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ส่อง 3 เส้นทาง "พลเมืองที่ดี" เรียนยังไงให้ได้ผลจริง

เมื่อเห็นว่าการปรับปรุงแนวทางการสอนวิชานี้เริ่มมีข่องโหว่ "ไทยรัฐออนไลน์" จึงสอบถามแนวทางการเรียนอย่างไรให้ได้ผล

เน้นเรียนนอกห้องเรียน
รศ.ดร.สมพงษ์ แนะนำว่า หากต้องการทำการเรียนวิชานี้ได้ผลดี จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงาน และปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยให้มองวิชาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ไทย หน้าที่พลเมือง เรื่องอาเซียน และการสอนหน้าที่พลเมืองดีในประชาธิปไตยเป็นหลัก รวมถึงต้องสอนให้ลงสู่ท้องถิ่น สู่อาเซียน ให้เรียนแบบร่วมสมัย แต่มีทุนของไทยอยู่ และให้ความสำคัญแกนหลักของวิชาพวกนี้มากกว่าเนื้อหา

นอกจากนี้ หากยังเรียนแบบเน้นการท่องจำ ใช้หนังสือใช้คู่มือ การเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองจะไม่บังเกิดผล แต่จะต้องเรียนด้วยการปฏิบัติ และเรียนด้วยโครงงาน หรือที่เรียกว่า Project Based Learning (PBL) รวมถึงต้องลดเวลาการเรียนในห้องลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น

"ลองทำจิตอาสา ฝึกฝนกับพื้นที่จริง กับคนที่ทำงานในพื้นที่ ถ้าเรียนอยู่ในห้องเรียนจะติดรูปแบบประชาธิปไตยที่เป็นเนื้อหา และไม่ส่งเสริม ทำให้ไม่คนเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เรียนจากการตั้งโจทย์ มีกิจกรรมสร้างนิสัย ให้คุยกับผู้รู้ มันจะทำให้เกิดการพัฒนา และจะเป็นการพัฒนาคุณภาพของความเป็นพลเมืองที่ดี ต่อไปก็จะรู้จักรากเหง้า และเคารพในสิทธิของผู้อื่น มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และรักชาติ" รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

5 แนวทางสร้างระบบคิดเด็ก
สำหรับการสอนวิชานี้ให้ได้ผลนั้น ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ มีแนวคิด 5 แนวคิด คือ

1.สอนบนพื้นฐานการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ โดยให้เด็กได้แสดงความคิดในเหตุการณ์เกิดขึ้น
2.เอาปัญหามาเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เด็กถกเถียง โดยใช้เรื่องในอดีตเป็นโจทย์
3.ต้องเน้นให้เด็กทำโครงงานเพื่อหาทางเลือกใหม่ โดยสมมติตัวเองอยู่ในเหตุการณ์นั้น
4.ต้องให้เด็กรู้จักแสวงหาทางเลือก ฝึกคิดอะไรใหม่ แก้ปัญหาเป็น
5.ต้องสอนให้เด็กรู้จักการประยุกต์ เพราะจะไม่ทำให้เด็กยึดติดกับเนื้อหา

"สังคมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พอสังคมเปลี่ยน ความสัมพันธ์ของคนก็เปลี่ยนไปด้วย การเรียนรู้ปัญหา การคิด จะสำคัญมากกว่าการได้รับเนื้อหา เชื่อว่าในอนาคตนั้น จะมีการเปลี่ยนเยอะ มีปัญหาเพิ่มขึ้นอีก ถ้าฝึกให้เด็กรู้จักหาทางออกจะช่วยเด็กได้ แต่การเพิ่มเนื้อหาให้เด็กเรียนเยอะๆ ไม่มีประโยชน์ ไม่ควรเน้นท่องจำ ไม่ต้องไปจำ พ.ศ. วันเดือนปีอะไรมากมาย ควรเน้นเรื่องกระบวนการค้นคว้ากระบวนการคิด และแก้ไขมากกว่า" ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ แนะนำ

เรียนตามวัย-สาระ เรียนรู้จากโลกจริง
ปิดท้ายที่ ผศ.อรรถพล ที่ชี้แนะว่า หากจะเรียนวิชานี้ให้ได้ประสิทธิภาพนั้น กิจกรมการเรียนการสอน ควรมีความหลากหลาย ตามผู้เรียน วัย ระดับชั้น และสาระ เช่น เด็กประถม เริ่มด้วยการสร้างทักษะ และคุณลักษณะ มีทักษะทางสังคม มีการจัดการตัวเอง ต้องเจรจาต่อรอง เรื่องคุณลักษณะค่านิยม ต้องเคารพผู้อื่น ต้องทำหน้าที่ ต้องมีวินัย ไม่เรียนตัวเนื้อหาวิชา ไม่ท่องจำ ต้องเน้นทัศนคติอยู่ร่วมกันในสังคม ทักษะการอยู่ร่วมกัน พอขึ้น ม.ต้น ต้องเรียนเนื้อหาสาระมากขึ้น การปกครองเป็นแบบไหน สอดคล้องแนวคิดเศรษฐกิจอย่างไร พอ ม.ปลาย เริ่มเรียนเนื้อวิชา เพื่อเตรียมพร้อมต่อยอด

"เด็กเรียนโลกความจริงเยอะมาก ถ้าจะให้ดีต้องไม่เรียนท่องจำ ต้องเอาตัวอย่างของจริงมาคุยกัน มีกรณีอะไรบ้าง ใช้ข่าว ต้องรู้ความหลากหลายของวัฒนธรรม กฎหมาย ระบอบการปกครอง เรียนลอยๆ ไม่ได้ ต้องเรียนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญหน้าที่พลเมืองเป็นเรื่องของ Citizenship ไม่ใช่เรื่องของ Civic Duty ที่กฎหมายสั่งให้คุณทำอะไรก็ทำแค่นั้น" ผศ.อรรถพล ทิ้งท้าย

เห็นได้ชัดเจนว่า สิ่งที่อาจารย์ทั้ง 3 คน เน้นย้ำ และพูดตรงกันนั่นคือ การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองนั้น เป็นการเรียนที่ไม่อาจแยกจากวิชาอื่นๆ ในกลุ่มสังคมศึกษาได้ เพราะต้องเรียนควบคู่ และเชื่อมโยงกันตลอด นอกจากนี้ ความคำสัญของการเรียน มิใช่มุ่งหวังให้เพียงเพื่อขานรับนโยบายของผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนี้ แต่กลับมองว่า ผลลัพธ์ของการเรียนครั้งนี้ ควรเป็นทางเลือก และทางออกในการแก้ไขความขัดแย่งที่เกิดขึ้น ให้เด็กๆ เรียนรู้ความแตกต่างทั้งความคิด วัฒนธรรม จนต่อยอดให้ตัวเองนั้น เป็นพลเมืองดีที่ของสังคมต่อไปได้.

ขอบคุณที่มา http://www.thairath.co.th/content/432136

บทสรุปของบทความนี้ การเรียนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองนั้น ไม่อาจแยกออกจากวิชาอื่นๆ ได้นั่นแสดงว่าตั้งแต่เด็กเราก็ได้รู้จักคำนี้กันพอสมควร แต่จะเข้าใจคำนี้มากพอหรือไม่ ยังไม่สามารถการันตีได้

                                          /////////////////////////////////////////////

­

-เหล่าเยาวชนเมืองสงขลาและทีมงานสงขลาฟอรั่ม-

พามารู้จัก “วิชาพลเมือง” อีกแบบหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเรียนใน “ห้องเรียน” เพียงอย่างเดียว “นอกห้องเรียน” ก็สามารถทำได้หรือไม่ ขอแชร์วงเสวนาของ “พี่หนู” ของน้องๆ หรือ “คุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์” ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม ที่ร่วมเสวนาในงานการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างสำนึกพลเมือง ในงานอภิวัฒน์การเรียนรู้ สุ่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้นำตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ในการสร้าง Active Citizen ในเมืองสงขลา ด้วยการใช้ Project Based เป็นเครื่องมือสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้จากเรื่องจริง ชีวิตจริงให้เยาวชนมีทักษะชีวิตและมีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองได้

-“พี่หนู”กับแนวคิดสร้าง“พลเมือง”-

แนวคิดคือเปิดเวทีเพื่อเด็กไปเลย เปิดพื้นที่ให้เขาได้ทำงานเขาจะได้มีเวทีที่เขาแสดงออกมาได้ เด็กที่อยู่กับทางสงขลาฟอรั่มไม่ได้มีสังกัดนะ เด็กบางคนที่มีมหาวิทยาลัยทำงานกับมหาวิทยาลัยเวลามีการขับเคลื่อนก็มักจะไปหาครูก่อนเสมอ แต่เด็กๆ ที่ทำงานกับสงขลาฟอรั่มมีประสบการณ์จากจากเรื่องจริง สถานที่จริง กับบ้านเกิดตัวเองเลย เมื่อเด็กเข้ามาพัฒนาโครงการ โครงสร้าง พื้นฐานที่สุดคือ เด็กต้องพูดคุย ดูตัวเอง เกี่ยวกับทักษะชีวิต ระบบคิดของตนเอง การจัดการทางอารมณ์ เพราะวัยรุ่น ต้องมีการจัดการด้านอารมณ์ เรื่องของการสื่อสาร เราต้องให้เขาเรียนรู้เพื่อสร้างปฎิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น เรื่องสุดท้ายคือ จิตใจเพื่อส่วนรวม เมื่อเกิดโครงการ ควรจะขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น เด็กจะได้เรียนรู้ศักยภาพเหล่านี้ เช่น โครงการห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่พี่สอนน้อง เนื่องจากห้องสมุดในโรงเรียนไม่น่าสนใจ เลยอยากทำให้ห้องสมุดนี้ดูมีความสุข โดยการเอาหนังสือที่น่าสนใจใส่ตระกร้า ไปหาน้องตามแต่ละสถานี่ต่างๆ เด็กกลุ่มนี้รวมตัวกัน 5 คน ปัจจุบันมีสำนักพิมพ์บริจาคหนังสือจำนวนมากมาให้น้อง โครงการนี้ที่ประสบความสำเร็จเพราะคนกับคนช่วยกันฟูมฟักดูแล ที่นี่ที่ชื่นชมคือ เด็กเติบโตขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น บางโครงการอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เขาแทบจะรันโครงการเค้าไม่ได้เลย แต่ตัวเด็กเติบโตขึ้น เด็กได้เรียนรู้ว่าจะทำอะไรกับชุมชนต้องลงไปเรียนรู้ชุมชนนั้นๆ เด็กมองเห็นอะไรหลายๆอย่าง ได้เรียนรู้ และเติบโตจากปัญหาที่เกิดขึ้น ทักษะชีวิตจะนำไปสู่ทักษะการเป็นพลเมือง

นั่นแสดงความแค่ในห้องเรียนก็ยังไม่สามารถสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองในตัวคนได้ เราจึงจำเป็นต้องใช้กิจกรรมนอกห้องเรียนที่เน้นการปฏิบัติจริงมาเสริมให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น

                                       ///////////////////////////////////////////////////////

สำหรับมูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นองค์กรที่สนับสนุนให้เยาวชนมีสำนึกความเป็นพลเมือง (Active Citizen) จากการลงมือทำจริง ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษโครงการพลังพลเมืองเยาวชน (กลุ่มมหาวิทยาลัย)โดย สงขลาฟอรั่ม

และ สำนึกความเป็นพลเมือง คืออะไรกัน และทำไมต้องไปสนใจด้วย นี่คือคำถามส่วนใหญ่ในสังคมไทยหรือเปล่า เพราะถ้าไม่เกิดคำถามนี้คงไม่ต้องมีภาครัฐ ภาคเอกชนออกมารณรงค์กันให้วุ่นวายไปหมด

สำหรับความเห็นของตัวเองที่มีต่อเรื่องนี้ คิดว่าทุกคนมีความเป็น “พลเมือง” และ “มีสำนึก”อยู่ในตัวเองไม่มากก็น้อยและคงไม่เท่ากันแน่นอน กลับมานิ่งคิดและตรึกตรองว่าสำหรับตัวเองแล้วได้มี “สำนึก” เกี่ยวกับเรื่องมากน้อยเพียงไร

ขอเล่าเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและเจอบ่อยๆ ในช่วงนี้ การถูกแซงคิวเรียกแท็กซี่ต่อหน้าต่อหน้า ซึ่งเหตุการณ์นี้ขอแนะนำว่าอย่ายอมและเดินไปบอกพวกเขาเหล่านั้นให้เห็นชัดๆ ไปเลยว่ากำลังรอคิวอยู่...อย่าสร้างนิสัยเคยตัวให้เกิดขึ้นกับคนแบบนี้

เพราะสำนึกพลเมืองตามที่ตัวเองเข้าใจก็คือต้องปฏิบัติตัว ไม่ให้เป็นภาระของผู้อื่น และยังต้องเคารพสิทธิต่างๆ ในสังคม ตามกรอบที่สังคมนั้นๆ กำหนด ความสงบสุขถึงจะเกิดขึ้น เมื่อทุกคนปฏิบัติตามกรอบแล้ว ก็ยังเผื่อแผ่ดูแลสังคมด้วย ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เห็นใครทิ้งขยะ ก็ช่วยกันตักเตือน หรือเห็นขยะถูกทิ้งไม่เป็นที่ก็หยิบไปทิ้งเสีย เพราะรู้ว่านี่คือบ้านของเราเหมือนกัน อยากให้บ้านเราสะอาด หรือ เรียบร้อยก็ต้องช่วยกันดูแล นี่คือเรื่องง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวที่เราทำกันได้ ถ้าทุกคนช่วยกันแบบนี้ รับรองได้ว่าเมืองไทยพัฒนาไปไกลแน่

ปรับนิสัยของพวกเราให้เคยชิน จากพวกเราก็กลายเป็นคนไทยส่วนใหญ่

การปลุกสำนึกเรื่องนี้อย่างจริงจังควรเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในปัจจุบัน ยังจำภาพข่าวได้ติดตากับคนไทยที่แห่กันไปดูตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ตอน ยุทธหัตถี ที่ให้ตั๋วฟรี ภาพเบียดเสียด ทะเลาะ กระจกแตก ไม่เป็นระเบียบในการเข้าแถวรับตั๋ว รู้สึกอับอายและหน้าชา แต่ทุกคนอาจมองเรื่องนี้เป็นแค่ภาพชินตา แล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป

เราจะเป็นคนหนึ่งที่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้แล้วปล่อยให้คนเดินแซงคิว ให้มอเตอร์ไซด์วิ่งบนฟุตบาต ให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา โดยไม่ทำอะไร ทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้คนเหล่านี้กำลังละเมิดสิทธิความเป็น “พลเมือง” ของคนอื่นกันหรือ? และเราเองเริ่มทำตามคนเหล่านั้นจนกลายเป็น “ความเคยชิน”

แค่เราปล่อยให้เกิดขึ้นก็เท่ากับสนับสนุนให้มีคนแบบนี้เกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง

คำถามที่ถามไว้ตั้งแต่ต้นว่าใครเป็นผู้เริ่มต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ดี 

สุดท้ายก็อยากให้ทุกคนร่วมกันแสดงความคิดเห็นกับเรื่องนี้

และอยากรู้ว่าความหมายของ “สำนึกความเป็นพลเมือง”ของแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร 

ร่วมกันสะท้อนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง...

อย่างน้อยความคิดเห็นตรงนี้น่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย

­