เพราะ "ทำมากับมือ" การเรียนรู้ จึงเกิดขึ้นอย่างน่าภูมิใจ...
Joe pluemjit

เพราะ "ทำมากับมือ" การเรียนรู้ จึงเกิดขึ้นอย่างน่าภูมิใจ...

­

ผมไปชุมชนคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา ติดต่อกัน 2 อาทิตย์ ไปฟังเรื่องเล่า การเรียนรู้ การพัฒนาตน และคุณค่าจากการทำงานของเยาวชนพลเมืองสงขลา 24 กลุ่ม ที่ทำโครงการเพื่อบ้านเมือง... สนับสนุน เสริมพลังการเรียนรู้ "ความเป็นพลเมือง" โดย ป้าหนู พรรณิภา โสติพันธุ์ และพี่ๆ น้องๆ ชาวสงขลาฟอรั่ม

­

ผมได้ยินเรื่องราวที่ น้องๆ เล่าได้เป็นฉากๆ ถึงการทำงานร่วมกับเพื่อน แลกเปลี่ยนความเห็นที่แตกต่าง ทั้งที่ "ลงตัว" และ "ไม่ลงรอย" หลายกลุ่มสะท้อนให้ฟังถึง การเรียนรู้ที่จะ "รับฟัง" ความเห็นของกันและกัน รู้จักที่จะวางอารมณ์ "เอาแต่ใจ" ที่จะยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลางความคิด หลายกลุ่มเกิดอาการ ปะทะอารมณ์ และคารมย์ "ไม่พอใจ" และเรียนรู้ที่จะ "หันหน้าเข้าหากัน" คืนดีกันเพื่อให้ งานเดินต่อไปได้ เพราะสุดท้าย เขาก็เรียนรู้ว่า เพื่อนคือ... กำลังสำคัญ การทำงานเป็นทีมนั้น ขาดใครไปไม่ได้ เพราะสุดท้าย ทำเองคนเดียวก็ "เอาไม่อยู่" และ "อดทน" "อดใจรอ" ที่ต้องทำงานเพื่อให้บรรลุ "เป้าหมาย" ที่พวกเขาไม่เคยทำมันมาก่อน และจะไม่รู้ว่า ความสำเร็จจะถึงเมื่อไร จนกว่าจะลงมือทำงานตามแผนที่วางไว้

­

ผมรับรู้ได้ถึงการ "บ่มเพาะตน" จากการเรียนรู้ชุมชน น้องๆ ใช้เวลาส่วนตัวหลังเลิกเรียน ประชุมๆๆ คิดวางแผนทำงาน ต้องออกไปนอกห้องเรียน ศึกษาข้อมูลชุมชน...ทำให้ต้องฝึกการเป็นนักสังเกต สังกา ฝึกจดบันทึก การค้นหาข้อมูล พร้อมกับได้สร้างความสัมพันธ์ฉันลูกหลานกับชุมชน ฝึกจับประเด็น จับใจความมาทำสื่อรูปแบบต่างๆ และร่วมแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์รอบตัว เช่น

­

ชุมชน "เมืองเก่าสงขลา" ถนน 3 สายหลัก ถ.นางงาม ถ.นครนอก ถ.นครใน พูดคุยกับลุง ป้า น้า อา เพื่อคิดทำสื่อสารคดี ภาพถ่าย ถ่ายทอดผ่าน facebook เพื่อกระตุ้นสำนึกรักในถิ่นเกิด และศึกษาสภาพปัญหาของเมืองสงขลา มาถ่ายทอดในฐานะนักทำสื่อรุ่นใหม่

­

ชุมชน "วัดบ่อทรัพย์" น้องต้องลงชุมชนวัดบ่อทรัพย์ วัดสุวรรณคีรี สุสานต้นตระกูล ณ สงขลา พูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ค้นหาข้อมูลประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่ก่อตั้งเมืองเก่าสงขลา ฝั่งเขาหัวแดง เพื่อนำมาทำเส้นทางการเรียนรู้เมืองเก่า และพัฒนาตนเป็นมัคคุเทศน์ที่กล้าพูด กล้าเล่าเรื่อง รวมทั้งทำสื่อสารคดีแบบมีประเด็นให้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมโลกสมัยใหม่ของตน เข้ากับรากเหง้าทางวัฒนธรรมในถิ่นเกิด

­

ชุมชน "บ้านดอนขี้เหล็ก" ศึกษาเรื่องราวของชุมชน 600 ปี ที่โดนใจมากๆ คือ ส้วมหลังแรก บ่อน้ำแห่งแรก สุสานบรรพบุรษ ประเพณีบุญกูโบ ค้นหา สอบถามจากผู้รู้ในชุมชน เพื่อทำแหล่งศึกษาเรียนรู้ชุมชน

­

ชุมชน "บ้านต้นปลิง" ที่ต้องเดินทางเป็น กิโล ศึกษาพื้นที่ป่าต้นน้ำของคนสงขลา เห็นปัญหาป่ายางพาราที่รุกคืบ และสานสัมพันธ์ กับ ผู้ใหญ่ ฝากตัวเป็นลูกหลาน เชื่อมสัมพันธ์กับลูกหลานคนรุ่นใหม่ เพื่อชวนให้รักษา ผืนป่าต้นน้ำ 

­

ชุมชน "บ้านพังเภา" ที่โรงเรียนขนาดเล็กกำลังจะถูกยุบ แต่การไปเยี่มบ้านน้อง กลับเป็นการพาน้องออกนอกห้องเรียน ทำให้ได้เห็นแหล่งเรียนรู้ "โหนด นา เล" คือ ตาลตะโนด ท้องนา ชายทะเล ที่ พ่อ-แม่ในชุมชน ก็เป็นผู้รู้ในเรื่องต่างๆ ได้ ไม่ต้องรอเรียนจาก จอตู้โทรทัศน์เพียงอย่างเดียว

­

ชุมชน "บ้านหนองบัว" "เทพา" "ระโนด" น้องๆ ถึงกับต้อง ศึกษา "เส้นทางของขยะ" เพื่อที่จะหาวิธีจัดการปัญหาความสกปรก หลังเหลือใช้ กลยุทธ์ทั้ง ต้องกล้าพูดหน้าเสาธง รณรงค์เก็บขยะ สร้างถังใหม่ๆ ให้น่าทิ้ง reduce reuse recycle จนกระทั่ง ขายเพื่อนำเงินเป็นทุนการศึกษาให้แก่เพื่อน

­

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องใกล้ตัวน้องๆ ที่กลับกลายมาเป็นโจทย์ท้าทายที่ คิดอ่าน ทำเพื่อส่วนรวม เช่น 

­

เรื่อง "ปัญหาการพังทะลายของชายหาด" เพราะ น้องๆ ต้องสู้กับปัญหาเชิงโครงสร้างของการจัดการภาครัฐ ที่เอาโครงสร้างแข็ง "กระสอบทราย" มาถมหาด ทำให้ยิ่งเกิดการกัดเซาะยิ่งไปกว่าเดิม น้องๆสร้างเครือข่ายร่วมกับเยาวชนกลุ่มต่างๆ ทั้งในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในจังหวัดสงขลา ฝึกตนจัดกระบวนการเรียนรู้ และพูดคุย เพื่อสร้างสำนึกหวงแหนหาด นำไปสู่การระดมความคิด เพื่อพัฒนาธรรมนูญของเยาวชน เป็น "ข้อตกลง" ที่จะรักษา หาดอันสวยงามที่ทุกคนในจังหวัด เข้ามาใช้ประโยชน์

­

เรื่อง "ส้วมสกปรก" ถึงกับต้องรวมเยาวชนศึกษา และทำน้ำหมักจุลินทรีย์ ทำนำยาเอนกประสงค์ ชำระล้างห้องน้ำของส่วนรวม 

­

เรื่อง"การประหยัดน้ำในหอพัก" ที่ค้นหาข้อมูลว่าน้ำประปามาจากไหน? ในเมืองสงขลา เราใช่น้ำกันมากมายเท่าใด? เพื่อรณรงค์ให้เพื่อนประหยัดน้ำ

­

เรื่อง "การแต่งกายของมุสลีมะห์" ที่ได้เรียนรู้ทั้งหลักศาสนา และเสริมสร้างความมั้นใจในตน

­

เรื่อง "เอาอ้วนออก" น้องที่ห่วงใยสุขภาพ เพื่อน ครู จนเกิดชั่วโมงออกกำลังกายกันทั้งโรงเรียน 

­

จากประเด็นของส่วนรวม ที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของความคิดที่งดงาม ที่ต้องการจะ "เปลี่ยนแปลง" ชุมชนสังคม เมื่อน้องๆ ได้หยิบมา "ลงมือทำ" จริง และ สละเวลาว่าง เวลาบันเทิงของส่วนตน ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมแล้ว ทำให้พี่สัมผัสได้ถึง "หัวใจความเป็นพลเมือง" และ "การเรียนรู้" การเติบโต การพัฒนาตนที่น้องๆ บ่มเพาะ เอาเองได้จาก "การทำงาน" ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็น "ประสบการณ์" ที่หาได้ยาก ที่ถ้าไม่ขวนขวายเอาเองแล้ว ก็ซื้อหามาไม่ได้เลย 

เรื่องเล่าจากการ "ทำมากับมือ" ของพวกเรา บอกพี่อย่างนี้ ขอบคุณครับ