การแก้ปัญหาด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดย คุณกัญพิมา เชื่อมชิต
Atomdony Modtanoy
ข้าพเจ้าถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก “จะทำอะไรต้องมีหลักยึด” หลักยึดที่ใช้ในการดำเนินชีวิตของข้าพเจ้ามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่ การทำงาน การตัดสินใจ หรือการวางแผนใดๆ ข้าพเจ้าจะใช้หลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

วันหนึ่งครูขออนุญาตข้าพเจ้าจะพานักเรียนไปทัศนศึกษา มีเวลาเตรียมการประมาณ 2 สัปดาห์ ข้าพเจ้าจะต้องตัดสินใจ “จะให้หรือไม่ให้ไป” ถ้าให้ไปก็ไม่แน่ใจว่าระยะเวลาที่มีอยู่จะเพียงพอต่อการดำเนินการให้ทุกอย่างเรียบร้อยและบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ และถ้าไม่ให้ไปครูจะเสียกำลังใจในการทำงานหรือไม่

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในการตัดสินใจ ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีการตัดสินใจร่วมกัน โดยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบในการคิดวางแผนดำเนินการ เริ่มตั้งแต่กำหนดเป้าหมายและวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน หลังจากนั้นก็วางแผนการดำเนินงานโดยใช้ปรัชญาฯ วิเคราะห์การเตรียมการและการดำเนินการดังนี้

ความพอประมาณ คือความพอดี โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น โดยพอประมาณในความสามารถ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และเวลา โดยเฉพาะเวลาที่ครูจะต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ขออนุญาตผู้ปกครอง ติดต่อทางหลวง ติดต่อสถานที่ดูงาน พอประมาณกับทักษะความสนใจ และความรู้พื้นฐานของเด็ก ครูจะต้องปูพื้นฐานเพิ่มเติมหรือไม่ ฯลฯ

ความมีเหตุผล คือเหตุผลในการตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงที่ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำอย่างรอบคอบ เช่น นักเรียนควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ตระหนัก ครูต้องการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียน

การมีภูมิคุ้มในตัวที่ดี คือการเตรียมตัวให้พร้อมรับกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ ได้แก่ การวางแผนทำงานอย่างเป็นระบบ เตรียมพร้อมทุกอย่างที่ต้องใช้ในการดำเนินงาน ตลอดจนการขออนุญาตผู้ปกครอง

เงื่อนไขความรู้ คือความรู้และความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการวางแผน เช่น ครูรู้กฎระเบียบของกระทรวงในการพานักเรียนไปศึกษานอกสถานที่ นักเรียนมีความรู้พื้นฐานที่จะต่อยอดความรู้ใหม่

เงื่อนไขคุณธรรม คือการไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเสริมสร้างให้ติดเป็นนิสัยในการดำเนินงานทั้งครูและนักเรียน โดยในครั้งนี้ ได้แก่ การมีสติ ความรับผิดชอบ ความขยันอดทน การตรงต่อเวลา ความสามัคคีช่วยเหลือแบ่งปัน ความซื่อสัตย์ ฯลฯ


หลังจากวิเคราะห์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพานักเรียนไปทัศนศึกษาแล้ว ครูสามารถตัดสินใจได้ว่า “ครั้งนี้ไม่สมควรพานักเรียนไปทัศนศึกษานอกสถานที่ เนื่องด้วยเวลาที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่องานที่ต้องดำเนินการ” จากเหตุการณ์ครั้งนั้นนอกจากครูจะไม่เสียกำลังใจในการทำงานแล้ว ครูยังได้ข้อคิดในการทำงานครั้งต่อๆ ไปของตนเองอีกด้วย”