ข้อคิดจากหนัง Salmon Fishing in The YEMEN
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์

­

เรื่องย่อ Salmon Fishing in The YEMEN : ท่านชีคแห่งเยเมนมีความประสงค์จัดทำโครงการเลี้ยงปลาแซลมอนให้เป็นความจริงในประเทศของตนเพื่อพลิกฟื้นผืนทะเลทรายอันแห้งแล้งให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตรและประมงอันอุดมเพื่อเลี้ยงดูประชาชนของท่าน ร้อนถึง ดร.อัลเฟรด โจนส์ (นำแสดงโดย อีแวน แมคเกรเกอร์) ที่ต้องมารับทำโครงการที่ไม่อาจเป็นจริงนี้ ( พอๆ กับส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร ) อย่างเสียไม่ได้

ปัญหาสำคัญที่สาหัสยิ่งกว่าการสร้างแหล่งน้ำและพื้นที่วางไข่ของปลาแซลมอนในประเทศเยเมน คือ การนำพันธุ์ปลาแซลมอนนับหมื่นตัวจากแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศอังกฤษไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของแซลมอนสัญชาติเยเมนรุ่นแรก ชนิดเพียงแค่มีข่าวลือแพร่สะพัดออกไปก็เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก ความคิดที่จะนำปลาแซลมอนจากแหล่งธรรมชาติจึงต้องมีอันพับไป ดร.โจนส์จึงต้องหันไปหาปลาแซลมอนจากกระชังเลี้ยงเพื่อธุรกิจอาหารทะเลแทน ทว่ามีข้อกังขาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันว่าปลาแซลมอนในกระชังจะมีสัญชาติญาณในการว่ายทวนน้ำไปวางไข่เหมือนบรรพบุรุษของมันหรือไม่ ?

นี่เองเป็นที่มาของวรรคทองวรรคแรกจาก ดร.โจนส์

" การทวนน้ำ มันมีอยู่ในจิตใจของสิ่งมีชีวิต ต่อให้ไม่เคย หรือพ่อแม่มันไม่เคย มันก็ทำได้ "

แม้ภายหลังโครงการเลี้ยงปลาแซลมอนในเยเมนจะทำท่าประสพความสำเร็จ กระนั้นก็มีเหตุไม่คาดฝันให้โครงการฯ ต้องล้มพับลงไปอีก และเป็นที่มาของวรรคทองวรรคที่สองจากพระเอกของเรา ...

" ผมจะเริ่มต้นใหม่ ให้ต้องเริ่มทำเองก็เอา ผมจะเริ่มจากเล็กๆ ก่อน ลองวิธีใหม่ เริ่มจากปลาไม่กี่ตัว ดึงชาวบ้านมาช่วย ให้เป็นของพวกเขา พวกเขาจะได้ปกป้องมันด้วยไง "

หนัง Salmon Fishing in The YEMEN อาจไม่ใช่หนังโลดโผนที่ดูเพลิน หรือดูสนุกเร้าใจอะไร ทว่ากับคนทำงานที่มีความใฝ่ฝันที่ท้าทาย ยากจะไปถึง และต้องอาศัยการว่ายทวนกระแสของอะไรสักอย่าง หลังจากชมหนังเรื่องนี้แล้ว คุณจะอดอมยิ้มกับบทสรุปของมันไม่ได้ แน่นอน .

อ่านรีวิวเพิ่ม

http://www.thairath.co.th/content/254150