ตีความหนัง The Shawshank Redemption + Gattaca
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์

เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งได้มีโอกาสดูหนังในตำนาน 2 วัน 2 เรื่อง

­

เบิกโรงเรื่องแรก กับ The Shawshank Redemption เรื่องราวของ "แอนดี้ ดูเฟรส์น" นักการธนาคารอนาคตไกลที่อุบัติเหตุชีวิตทำให้เขาตกเป็นอาชญากรต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต และถูกส่งไปยังเรือนจำ "ชอว์แชนค์" แหล่งรวมของเหล่าคน "ใน" คุกมากมายหลากหลายประเภท ทั้งอันธพาล วิกลจริต ฉ้อฉล และพวกชอบใช้ความรุนแรง

­

­

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายของคุกชอว์แชนค์ สิ่งเดียวที่ส่องประกายอยู่ในจิตใจให้ดูเฟรส์นมีชีวิตอยู่มากกว่าเพียงซากปรักหักพังของชีวิตคือ "ความหวัง" ที่จะได้ออกจากคุก สถานที่ซึ่งเขาไม่ควรมาอยู่ตั้งแต่แรก

­

แง่มุมจากหนังเรื่องนี้นอกจากจะสะท้อนได้ชัดเจน ในเรื่องศรัทธาและความหวังต่อการมีชีวิตอยู่ของคนเราแล้ว หนังยังชี้ชัดในเรื่องของการคิดนอกกรอบ การมองโลกในแง่บวกเพื่อการปรับตัวให้อยู่ได้กับสิ่งแวดล้อมที่ยากลำบาก ความเพียรพยายาม ความอดทน และการวางแผนชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อไปสู่ชีวิตที่มีอิสรภาพ ทั้งหมดนี้อาจกล่าวรวมได้ในคำๆ เดียว คือ การมี "หลักคิดที่ดี" ในการใช้ชีวิต ...

­

ประโยชน์ที่คนดูหนังเรื่องนี้จะได้รับคือ การย้อนถามตัวเองดังๆ หลังชม "เรามีหลักคิดที่ดีมอบให้แก่ชีวิตของเราแล้วหรือยัง ?" ...

­

สำหรับใครที่เคยอ่านผลงาน "คนข้ามฝัน" ของประชาคม ลุนาชัย และเจ้ากรรมได้ดูหนังเรื่องนี้ด้วย (เหมือนคนเขียน) คงรู้สึกคล้ายๆ กันว่า คนข้ามฝัน คือนวนิยายชอว์แชนค์ภาคภาษาไทยอย่างไม่ต้องสงสัยเลย .

­

สำหรับหนังเรื่องที่ 2 ที่ได้ดูในวันหยุดคือ Gattaca ฝ่ากฎโลกพันธุกรรม หนังในตำนานที่ได้รับการบอกเล่าพลางชี้ชวนให้มาอยู่ในห้วงความทรงจำตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีโอกาสได้ดูสักที กับคำถามที่รุ่นพี่ที่แนะนำจั่วหัวถามผู้เขียนไว้ในทำนอง "เราจะมีความสุขจริงๆ หรือ หากทุกอย่างรอบตัวเราถูกวัดเป็นตัวเลข ความบกพร่องและความสมบูรณ์ เด่นหรือด้อยได้ ?"

­

­

Gattaca บอกเล่าการไล่ตามความฝันของ “วินเซนต์” มนุษย์ที่ถูกนิยามไว้ในกลุ่ม "ลูกพระเจ้า" ซึ่งเป็นคำแทนที่ให้ความรู้สึกเชิงเหยียดหยามและแบ่งแยก มากกว่าคำยกย่องสรรเสริญ ที่หมายถึงพวกมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาด้วยความสัมพันธ์ของพ่อแม่ด้วยกระบวนการตามธรรมชาติในท่ามกลางโลกอนาคตที่วิทยาศาสตร์คือพระเจ้าองค์ใหม่ สามารถลิขิตลักษณะเด่นทางพันธุกรรม หรือแม้แต่เลือกเพศให้กับสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะลืมตาดูโลกได้ ...

­

เพื่อให้ความฝันได้เป็นความจริง คือการขึ้นยานสำรวจดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ ที่ซึ่งลูกเรือจะถูกคัดสรรอย่างพิถีพิถันมาจากบรรดาพันธุ์เด่นที่ไร้ตำหนิ ลูกพระเจ้าอย่างวินเซนต์ต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ที่จะเปลี่ยนลักษณะ "ด้อย" ของตัวเอง ให้เป็นลักษณะ "เด่น" ด้วยความช่วยเหลือของ “ยูจีน” มนุษย์พันธุ์เด่นที่ไร้ข้อบกพร่องด้านร่างกายและสติปัญญา หากแต่เนื้อในจิตใจ ยูจีนกลับไม่ค้นพบแก่นสารของชีวิต เขาพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ อีกทั้งการเป็นโรคกลัวความสูงก็ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับลักษณะเด่นที่ผลักดันให้เขาเป็นนักบินอวกาศได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามแม้แต่น้อย

­

ตอนจบของหนังเรื่องนี้เดาได้ไม่ยาก วินเซนต์คือลูกพระเจ้าคนเดียวที่ได้ขึ้นยานสำรวจไททัน แต่ก็เป็นสุขนาฏกรรมแบบโศกนาฏกรรม หวานและขมในเรื่องเดียวกัน ประโยคเดียวสั้นๆ ของยูจีนก่อนหนังจบในฉากที่เขาปฏิเสธคำขอบคุณของวินเซนต์สำหรับทุกๆ อย่างที่ยูจีนมอบให้ สะท้อนและสรุปเรื่องราวของ Gattaca ไว้อย่างน่าสนใจ "ไม่ต้องหรอก งานนี้ฉันได้มากกว่าเสีย ฉันให้นายยืมร่างกาย ส่วนนายให้ฉันยืมความฝัน"

­

ออกจะสปอยด์หนังไปนิดๆ ที่จะต้องแอบเล่าตอนจบ แต่เพื่อให้บทสรุปของงานเขียนชิ้นนี้สมบูรณ์ ตอนจบของ Gattaca ยูจีนเลือกจะจบชีวิตของเขาเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเขาก่อนตาย คือ ความหวังที่จะมีชีวิตใหม่อย่างมีความฝัน ส่วนของวินเซนต์นั้น บทสรุปค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว กับการไล่ตามความฝันโดยไม่พะวงถึงชีวิต

­

ตอนจบของ Gattaca เหมือนหนังจะจงใจตั้งคำถามกับผู้ชมไว้อย่างน่าสนใจ ... ระหว่างการมีชีวิตแต่ไร้ความฝัน กับการมีความฝันที่อาจเสี่ยงถึงแก่ชีวิต "ระหว่าง ชีวิต และความฝัน ถ้าเป็นคุณ คุณจะเลือกอะไร ?".