บูรณาการคณิตศาสตร์เพื่อความพอเพียง โดย คุณวาริน รอดบำเรอ
Atomdony Modtanoy
การจัดการเรียนการสอนของกลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์ในทุกช่วงชั้น จะเชื่อมโยงสาระวิชาคณิตศาสตร์กับหลักสูตรท้องถิ่นในเรื่องต่างๆ อาทิ การศึกษา อายุ อาชีพ จำนวน ระบบเศรษฐกิจ สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของชุมชน


ตัวอย่างเช่น ในช่วงชั้นที่ 4 (ม.4- ม.6) ซึ่งครูวาริน รอดบำเรอ รับผิดชอบ จะมีการบูรณาการและออกแบบกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเชื่อมโยงการเรียนรู้ชุมชนดังนี้ ชั้น ม.4 เรื่องฟังก์ชันกำลังสองกับความพอเพียง และการพัฒนาชุมชนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ชั้น ม.5 เรื่องอัตราส่วนตรีโกณมิติกับการแก้ปัญหาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โจทย์คณิตศาสตร์ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดด้วยฟังก์ชันลอการิทึมและสนุกกับสินค้ามือสองด้วยฟังก์ชันลอการิทึม ส่วนชั้น ม.6 เป็นเรื่อง ความน่าจะเป็นกับความพอเพียง เป็นต้น

การที่ครูวารินบูรณาการและออกแบบกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นเพราะมุ่งหวังให้เด็กเข้าใจในวิชาคณิตศาสตร์ สามารถวิเคราะห์และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ครูจะสร้างโจทย์ปัญหาลอการิทึมให้สัมพันธ์กับรูปภาพพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริ พร้อมทั้งแสดงการแก้ปัญหา หรือนำรูปภาพจากบัตรเติมเงินโทรศัพท์พร้อมทั้งแสดงการแก้ปัญหา หรือสนุกกับสินค้ามือสองด้วยฟังก์ชั่นลอการิทึม หรือการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น เป็นต้น

ขณะเดียวกันในเนื้อหาสถิติและการประยุกต์ ก็มีการออกแบบกิจกรรมที่ให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ การวิเคราะห์ชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการนำเสนอข้อมูล รายงานการสำรวจอาชีพของชุมชนวังตะกู โครงงานรนณรงค์การรับประทานอาหารให้หมดจาน โครงงานคณิตศาสตร์ “ข้าวทุกเม็ด น้ำทุกหยด มีคุณค่า” โครงงานคณิตศาสตร์กับการบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การ์ตูนป๊อปอัฟคณิตศาสตร์แฝงคุณธรรมและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างจิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์

ครูวารินเน้นสอนให้เด็กเกิดจิตอาสาในตัวเองก่อน รู้ว่าจะช่วยเหลือตนเอง พ่อแม่ และครอบครัวอย่างไร จากนั้นจึงเข้าสู่โรงเรียนและชุมชน โดยการสอนจะเป็นการชวนคิด ชวนคุย ชวนกันทำ ทำให้เกิดการซึมซับจนกระทั่งเด็กไปแสวงหาเอง เช่น เด็กไปสมัครทำงานจิตอาสากับหน่วยงาน องค์กรภายนอก

สำหรับครูวารินนั้น “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่สอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ปลูกฝังเด็กมาโดยตลอด โดยเฉพาะการสอนให้เด็กบันทึกรายรับ รายจ่าย แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ กระทั่งปี 2549 เมื่อ ผอ.ทิพวรรณ อยู่สวัสดิ์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และมุ่งเน้นนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสู่การเรียนการสอน โดยให้ครูวิเคราะห์แผนงานของโรงเรียน แผนงานของกลุ่มสาระ ซึ่งพบว่า มีผลงานมากมายที่จะต่อยอดไปสู่การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสู่การเรียนการสอนแบบเต็มรูปแบบได้ โดยเฉพาะสาระคณิตศาสตร์เน้นให้ผู้เรียนได้มีทักษะในการคิด วิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางคณิตศาตร์จากโจทย์ชีวิตจริงที่บ้าน โรงเรียน และชุมชน อาทิ

สินค้ามือสองกับฟังก์ชั่นล็อก ในช่วงปี 2549 กระแสสินค้ามือสองได้รับความนิยมมากในหมู่วัยรุ่น เราก็พยายามสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า ไม่ควรซื้อสินค้ามือสองโดยไม่คำนึงถึงเหตุและผล พร้อมดึงเข้าสู่เนื้อหาเรื่องฟังก์ชั่นล็อก ซึ่งเป็นเรื่องการคิดค่าเสื่อมราคาสินค้า ด้วยการให้เด็กเปรียบเทียบสินค้าว่ามีอายุการใช้งานกี่ปี หากคิดค่าเสื่อมราคาและความคุ้มค่าแล้ว ควรซื้อสินค้าหรือไม่อย่างไร การซื้อสินค้ามือสอง นอกจากจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้งานก็ต้องเข้าใจในเรื่องความคุ้มค่า คุณภาพ และคำนึงถึงค่าเสื่อมราคาซึ่งจะทำให้นักเรียนได้คิดว่าควรซื้อหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กที่เราสามารถดึงเข้าสู่บทเรียนได้

เซ็ตอินเตอร์เซ็กชั่นกับพืชผักสวนครัว การเรียนเรื่องเซ็ตแทนที่จะใส่ตัวเลข ก็อาจจะใช้ต้นไม้ หรือพืชสวนครัวที่ปลูกในพื้นที่จำกัดก็ได้ วิธีการคิดก็คือ ถ้าพืชวงที่หนึ่งเป็นวงไม้ประดับ แล้ววงที่สองเป็นไม้ที่กินได้ ฉะนั้นที่เราจะปลูกไม้ประดับเพื่อความสวยงาม หรือไม้กินได้ที่ไม่สวยงาม หากลองปลูกไม้ทั้งสองอย่างรวมกันเลือกที่สวยด้วย แล้วเอามากินได้ด้วย นั่นก็คือการอินเตอร์เซ็กชั่นกันในเรื่องของเซ็ต ซึ่งสิ่งที่ครูบอกเด็กๆ ก็คือพืชสวนครัวเป็นทั้งอาหารและยา ก็โยงไปสู่เนื้อหาเรื่องเซ็ต ขณะเดียวกันก็โยงไปสู่สภาพบ้านของเด็ก แล้วมีโยงไปถึงอาชีพของผู้ปกครองด้วย การเชื่อมโยงเรื่องชีวิตกับสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริงทำให้ผู้เชื่อมได้รู้จักมองสิ่งรอบตัวเป็นกลุ่มๆ และการคละกันเป็นพื้นฐานในการคิดอย่างมีระบบต่อไป

จากข้าวต้มมัดสู่ฟังก์ชั่น เป็นการนำคณิตศาสตร์เชื่อมโยงสู่อาชีพของผู้ปกครอง โดยเวลาสอนครูจะให้เด็กๆ เล่าถึงอาชีพของผู้ปกครอง พบว่า ผู้ปกครองมีอาชีพที่น่าสนใจ อาทิ ทำข้าวต้มมัด ทำข้าวหลาม การปลูกชะอม เด็กๆ ได้เลือกที่จะเรียนรู้การทำข้าวต้มมัด จึงกลับไปถามสูตรการทำจากผู้ปกครอง ขณะเดียวกันครูก็เปิดเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลการทำข้าวต้มมัดว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง จากนั้นจึงเปลี่ยนสัดส่วนของส่วนผสมออกมาเป็นเนื้อหาการเรียนเรื่องราก เรื่องฟังก์ชั่นใส่เข้าไป เสร็จแล้วจึงให้เด็กออกมาเล่าเรื่องราว ซึ่งผลที่ได้คือชิ้นงานของเด็กๆ ที่ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานไปพร้อมกัน

สิ่งสำคัญของการบูรณาการเรียนการสอนแบบนี้ก็คือ เราต้องย้ำในส่วนที่เด็กไม่เข้าใจ ให้เด็กเข้าใจก่อน จากนั้นจึงให้เด็กวิเคราะห์ว่าที่ทำอย่างนี้ ดีหรือไม่ดีอย่างไร และมีข้อเสียตรงไหนอย่างไร เช่น ข้าวต้มมัด 1 มัด ทำมาจากอะไรบ้าง ใบตองที่ใช้ห่อมาจากต้นกล้วย กล้วยที่ปลูกกว่าจะใช้ได้ ต้องใช้เวลาปลูกนานเท่าไร ใช้น้ำใช้ปุ๋ยเท่าไหร่ เสร็จแล้วให้ทุกคนสะท้อนอาชีพของผู้ปกครอง โดยนักเรียนเขียนสรุป แล้วครูก็จะเสริมแรงกระตุ้นให้กับเด็ก ด้วยคำชม

“โครงงานคณิตศาสตร์ ไม่ว่าเรื่องอะไรจึงต้องผ่านกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจก่อน การสอนเรื่องโครงงานคณิตศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่ว่าโครงงานมีกี่ประเภท แล้วใช้สื่อประกอบทั้งสื่อภาพ สื่อนิทาน พอเล่าจบ ก็ชวนเด็กมาช่วยกันสำรวจโครงงานในโรงเรียนก่อนว่า เขาจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เมื่อจะทำก็ต้องมีการเก็บข้อมูล สอนเด็กให้รู้เป้าหมาย วิธีการ ขั้นตอนในการทำโครงงาน ที่ต้องมีการวางแผน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องมีการพูดคุยกันและร่วมกันคิดวิเคราะห์ การสอนแบบนี้พบว่า เด็กสนใจมาก เพราะเขามองเห็นภาพของการทำโครงงาน จึงเกิดความรู้สึกดีในการเรียนและการทำงานร่วมกับเพื่อน และในที่สุดแล้วการทำโครงงานก็สามารถดึงให้เด็กนำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการทำงานได้”

จะเห็นได้ว่าขั้นตอน กระบวนการและความสัมพันธ์ที่ผู้เรียนได้ร่วมกันทำโครงงานในลักษณะนี้ก็ได้นำหลักปรัชญาของเศณษฐกิจพอเพียงไปใช้ในขั้นตอนการทำงานจนได้ผลงานที่สำเร็จร่วมกัน