สรุปเส้นทางการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ โดย ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ
Webmaster

1. จากการเสวนาของวงเด็กที่กระตุกผู้ใหญ่ให้ต้องทบทวน จะเห็นได้ว่าการศึกษาไทยจะต้องเปลี่ยนแปลง

­

  • เด็กต้องการความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้ใหญ่ และที่สำคัญคือการให้โอกาส เมื่อเด็กได้โอกาส ได้มีพื้นที่และกระบวนการที่เขาจะได้ลงมือทำเอง บางครั้งเด็กต้องการกระตุ้นคิดจากผู้ใหญ่หรือจากสื่อง่ายๆ หรือจากโอกาสที่เขาจะได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเด็กกับเด็กด้วยกัน
  • ในการทำงานจริง มีกระบวนการที่เด็กพูดเองว่าแรกๆ ก็งงเหมือนกัน เมื่อทำเสร็จต้องกลับมาทบทวนและไปทำ เมื่อทำแล้วก็กลับมาทบทวนใหม่อีก ซึ่งเด็กพูดว่ากระบวนการทำงานแบบนี้กระตุ้นให้เขาได้คิดตลอดเวลา และกระตุ้นให้ค้นพบทั้งจุดบกพร่องและจุดแข็งด้วยตนเอง
  • ในทุกขั้นตอนของการทำงานมีการคิดแทรกอยู่ตลอด ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าครูจะจัดกิจกรรมเพื่อการคิดเฉพาะเรื่องเท่านั้น แต่คุณครูผู้จัดประสบการณ์เรียนรู้ให้เด็ก ต้องเข้าใจว่ามีการคิดอยู่ตลอดเวลา และเมื่อถึงจุดที่เขาปิ๊งแว๊บขึ้นมา เขาก็จะ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง”


ฉะนั้น จากสิ่งที่เด็กๆ สะท้อนมา จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ที่ได้ผลเป็นเรื่องที่เขาต้องสร้างเอง แต่ผู้ใหญ่ ครอบครัว หรือผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องต้องให้โอกาส ให้เวลา ให้พื้นที่ ให้กิจกรรมเป็นสื่อเพื่อให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วเด็กจะเกิดการตกผลึกได้ในที่สุด บางคนอาจจะเกิดเร็ว บางคนอาจจะเกิดช้า ก็ต้องให้เวลา

การปฏิรูปการศึกษาไทยต้องปฏิรูปการวัดและประเมินผลความดีความชอบของครูและผู้บริหาร ถ้าไม่แก้ไขจุดนี้ อย่างอื่นจะไม่ปลดล็อค แต่ถ้าให้ความดีความชอบครูจากผลผลิต คือนักเรียนอย่างที่เราเห็น จะประเมินได้เลยจากกระบวนการทำงาน เราจะรู้ได้จากการให้เด็กสะท้อนสิ่งเหล่านี้

สิ่งที่เด็กๆ เล่านี้ เมื่อเชื่อมกับช่วงที่ครู ผู้บริหาร และทีมขับเคลื่อนที่เป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียนกล่าวไว้ ทุกคนคิดตรงกันกับเด็กว่า “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดช่วยในการตัดสินใจที่มีคุณธรรมเป็นหลักกำกับให้เรา” และเด็กๆ ช่วยกันเติมว่าหลักปรัชญาช่วยทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ คือ เป็นคนดี เก่งอย่างพอเพียง และมีความสุขด้วย


2.หลักคิดต่อเนื่องในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ มีหลายข้อ เช่น

  • ต้องคิดเชิงบวก ให้เชื่อมั่นในงานที่เราทำ และถ้ารักในงานที่ทำจะเป็นฐานของความสำเร็จ
  • ถ้าเริ่มต้นทำงานโดยการทบทวนแล้วย้อนดูอดีต ความสำเร็จจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าน่าจะทำอะไรต่อ ไม่น่าจะทำอะไรต่อ คือนำการชี้วัดความสำเร็จในอดีตมาต่อยอดใหม่สู่อนาคต
  • ให้เรียนรู้จากชีวิตจริง ทั้งครูและนักเรียนเรียนรู้ร่วมกัน นำชีวิตจริงและเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันมาเป็นสื่อ เป็นสาระในการเรียนรู้ด้วย จะมีความหมายและเด็กจะเข้าใจ เพราะจากที่ฟังเด็กสะท้อนบอกว่า ถ้าเริ่มจาก 2 เงื่อนไข 3 ห่วง 4 มิติ เด็กจะงง แต่ถ้ากระตุ้นให้เขาคิดแล้วโยงกลับในระดับที่เขาเข้าใจได้และเขาเห็นความหมายต่อตัวเอง จะไปได้ดี


3.มาตรการในการทำงานควรจะมีเป้าหมาย ครูต้องเข้าใจเป้าหมายว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีส่วนในการจัดการเรียนการสอนของครูอย่างไร เช่น ประเด็นที่ ดร.อาจองพูดว่า ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ว่าสร้างคนดีของแผ่นดิน ทุกฝ่ายทำงานให้ไปถึงเป้าหมายนั้น กระตุ้นให้ครู ผู้เรียน ผู้บริหาร พ่อแม่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีเป้าหมายในการช่วยส่งเสริมนักเรียนร่วมกัน ก็จะกลายเป็นเป้าหมายของสถานศึกษา เป็นต้น

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอน มีหลักว่าครูต้องการให้เด็กเป็นอย่างไร ครูต้องเป็นอย่างนั้น และครูต้องทำให้เด็กเห็นด้วย ฉะนั้น ครูจึงเป็นต้นแบบ เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กด้วย เพราะครูเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดเด็ก การที่จะให้เด็กคิดเป็น ครูก็ต้องคิดเป็น ให้โอกาส ให้ความเชื่อมั่นแก่เด็ก



4.พี่เลี้ยงย้ำว่า บทบาทของการเป็นครู ครูทำงานกับชีวิตคน ตัวตนของคน ฉะนั้น ครูไม่ได้สอนเพื่อให้เด็กได้เกรดดีๆ หรือมีผล ONET สูง แต่จริงๆ คือสอนให้เด็กรู้ว่าตัวตนของตัวเองเป็นอย่างไร ดิฉันคิดว่าเป็นหลักคิดที่คุณครูต้องเตือนใจเสมอว่าเราทำงานกับตัวตนของเด็ก และในกระบวนการเรียนรู้ ครูกระตุ้นให้เด็กเรียนโดยใช้คำถาม ในกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ไม่ว่าครูจะใช้รูปแบบใดก็ตาม ต้องมีกระบวนการหยุดคิด ทบทวน กลับมาวิเคราะห์ มองอดีตและตัดสินใจเพื่อก้าวต่อไป ต้องฝึกเด็กในเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ต่อเนื่อง

หน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาคือ ต้องให้ทุกคนทำและให้ทุกคนได้ ในเชิงยุทธศาสตร์ คือ ทุกคนชนะทั้งหมด WIN WIN โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ทุกคนทำ ผู้บริหารต้องเก่งในการวางยุทธศาสตร์ว่าจะขยายอย่างไร แต่หลักคือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้องทำให้ชีวิตครูดีด้วย ทำอย่างไรให้ครูเข้ามามีส่วนร่วมทั้งโรงเรียน คือ Whole School

ที่สำคัญ ผู้บริหารบอกว่าทุกคนต้องเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ตรงกัน แต่การเข้าใจตรงกันไม่ได้หมายความว่าต้องกำหนดเป็นนิยาม อย่าติดนิยาม แต่ต้องหาความหมายของปรัชญาว่าคืออะไร การหาความหมายของหลักปรัชญาเกิดได้จากการเรียนรู้ไป ลองทำไป แล้วสรุปบทเรียนว่า “อ๋อ เป็นอย่างนี้นี่เอง” แล้วลองทำอีก และเรียนรู้ว่า “อ๋อ เป็นอย่างนี้นี่เอง” แล้วตกผลึกจากกระบวนการ อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยต้องเข้าใจตรงกันว่า อ๋อของผู้บริหาร กับ อ๋อของครู ตรงกันหรือเปล่า อาจจะต้องตรวจสอบกันด้วย



5.ผู้บริหารและครูมีข้อเสนอว่า อาจจะเริ่มจากจุดเล็กๆ เมื่อประสบความสำเร็จก็ขยายขึ้นไป และให้อิสระในการคิด ผู้บริหารบอกว่า งานวิชาการต้องมีอิสระในการคิด ฉะนั้น ถ้าผู้บริหารปิดกั้นแล้วเอานโยบายเป็นตัวตั้งโดยไม่ได้เอามาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของโรงเรียนแล้ว ก็จะเถียงกันไม่จบ แล้วงานไม่สำเร็จ เพราะนโยบายที่สั่งมาจะมาแบบกว้างๆ แล้วให้มาแปลเอง เพื่อให้เข้ากับบริบท ฉะนั้น ถ้าเริ่มต้นโดยยึดหลักให้อิสระทางการคิดและหลักการพึ่งตนเองในการทำงาน สถานศึกษาก็จะประสบความสำเร็จ



6.เครื่องมือที่ท่านใช้ในการทำโครงการที่ผ่านมาแล้วประสบความสำเร็จ จะเห็นได้ว่า ได้ใช้การจัดการความรู้มาก ตั้งแต่การถอดบทเรียน การเล่าเรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสอนกันและกัน การทบทวนหลังปฏิบัติการ (AAR) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล อีกเครื่องมือหนึ่ง คือ การวิเคราะห์สถานการณ์และการมองอนาคต โดยการใช้ SWOT Analysis และที่ใช้มากและทุกคนชอบ คือ การจัดเวที ไม่ว่าจะเป็นการประชุม เสวนา ที่มีการถกกันทั้งกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ และครูเรียนรู้ได้ดีจากการเป็นวิทยากร ฉะนั้น ถ้าผู้บริหารจัดกิจกรรมในโรงเรียนให้ครูผลัดกันเป็นวิทยากร จะเป็นกระบวนการที่กระตุ้นให้ครูเรียนรู้ ให้ครูได้คิด เมื่อเก่งแล้วก็ไปเป็นวิทยากรข้างนอก นักเรียนก็เช่นเดียวกัน เมื่อนักเรียนมีโอกาสได้เป็นวิทยากร เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดี



ผลที่เกิดขึ้น สรุปได้ว่า หลังจากตกผลึกทางความคิด ประมวลประสบการณ์แล้ว ทุกคนมองว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงช่วยเปลี่ยนความเชื่อ เจ้าของเรื่องเปลี่ยนก่อน เปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนทัศนคติ สุดท้ายนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม ผลพลอยได้ คือ องค์ความรู้ และเทคนิคกลวิธีต่างๆ