สอนให้เด็กเรียนรู้ความพอเพียงโดยใช้การตั้งคำถามของครูประถม โรงเรียนบ้านร้านตัดผม จ.ชุมพร
สุจินดา งามวุฒิพร

เมื่อกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมถอดบทเรียนครูโรงเรียนบ้านร้านตัดผม (ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาน้องใหม่ในภาคใต้) ตามการชักชวนของอาจารย์ไพโรจน์ คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ประสานงานโครงการฯ ภาคใต้ ซึ่งอาจารย์ไพโรจน์ตั้งโจทย์ให้ครูเล่าให้ฟังเรื่องการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของตนเอง ครูทำอย่างไรจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงแก่เด็ก


ระหว่างการชวนคุณครูพูดคุย รู้สึกได้ว่าคุณครูมีความภูมิใจและมีความสุขจากที่ท่านพยายามปรับการเรียนการสอน และท่านเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนบ้างแล้ว

­

คุณครูช่วยกันเล่าว่าในช่วงแรกๆ ที่อาจารย์ไพโรจน์เข้ามาจัดประชุมอบรมครู ครูก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ระยะหลัง ผอ.พีระพล ภักดีเสนา ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งได้เข้าร่วมอบรมด้วยหลายครั้งและมีความเข้าใจมากขึ้นจึงเกิดศรัทธาได้เข้ามาช่วยดูแผนการสอน และให้คำแนะนำครูทั้งในและนอกห้องเรียน โดยใช้ชุดคำถาม (นำสู่การใช้เศรษฐกิจพอเพียง) 7 ข้อของรศ.ดร.ทิศนา แขมมณี มาประยุกต์ใช้ถามนักเรียนเพื่อกระตุ้นคิด จนกระทั่ง ครูเริ่มเก็บสิ่งที่ท่านบอกมาทดลองใช้ จึงรู้สึกว่าได้ผล และไม่ยากอย่างที่คิด

ตอนที่อาจารย์ไพโรจน์มาจัดอบรมเรื่องการฝึกกระบวนการคิดโดยการใช้คำถาม อาจารย์จะตั้งคำถาม แล้วให้ครูตอบ อาจารย์ไพโรจน์จะไม่เฉลยว่าคำตอบนั้นถูกหรือผิด แรกๆ ครูหลายท่านจะรู้สึกโกรธมาก บางทีอาจารย์ไพโรจน์ถามแย้งกลับมาว่า “จริงเหรอ คำตอบนี้ใช่เหรอ” พอบ่อยๆ เข้า เริ่มเครียด ครูก็เอามาคุยกัน แล้วลองนำเอาวิธีการตั้งคำถามมาใช้กับนักเรียนบ้าง แรกๆ เด็กจะงง แล้วถามครูกลับ เช่น “ครูคะ ตกลงว่านิทานอีสปเรื่องนี้ไม่ได้สรุปว่าอย่างนี้อย่างเดียวเหรอคะ” ครูก็ตอบว่า “ใช่” แล้วให้เด็กช่วยกันคิด เด็กบางคนจะเชื่อมั่นในสิ่งที่เคยได้เรียนมา จะถามครูว่า “กระต่ายกับเต่า ไม่ได้สอนให้ไม่ประมาทเท่านั้นเหรอคะ สอนอย่างอื่นด้วยเหรอคะ” ครูก็จะกระตุ้นให้นักเรียนช่วยกันคิดต่อว่าเรื่องนี้สอนอะไรอีก

ครูวรรณี สอนวิชาการงานอาชีพ เล่าว่า เมื่อก่อนครูจะสอนแบบพูดอยู่คนเดียว ไม่เคยคุยกับเด็กเลย จะพูดเฉพาะเนื้อหาที่สอน เด็กก็นั่งฟัง พอเด็กจะพูด ครูก็ดุว่า “อย่าเสียงดัง” “ห้ามพูด ฟังครู” แต่พอเปลี่ยนการสอนให้มีการโต้ตอบกับเด็กบ้าง โดยครูใช้การตั้งคำถาม เช่น “อันนี้ ทำไมเป็นแบบนี้” “นักเรียนคิดว่ายังไงดีคะ” การได้คุยกับนักเรียนมากขึ้น ทำให้สัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียนดีขึ้น นักเรียนกล้าแสดออกมากขึ้น และก่อนที่จะจบคาบครูให้เด็กสะท้อนว่าได้อะไรบ้าง สิ่งที่เด็กสรุปให้ครูฟัง ครูรู้สึกดีใจมาก เพราะเขาได้ในสิ่งที่ครูสอน

แรกๆ ครูก็จะลองผิดลองถูก ตั้งคำถามไม่เป็น ว่าควรจะถามอะไรดีเพื่อจะสื่อไปถึงเป้าหมายเนื้อหาการสอนของแต่ละคาบ ผอ.ก็จะให้ครูลองไปดูวิธีการตั้งคำถามของครูคนอื่นในห้องอื่น ผอ.จะช่วยกระตุ้นให้ครูได้ผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปดูวิธีการสอนของครูคนอื่น ว่าวิชาอื่นสอนกันอย่างไร อย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยที่ผอ.จะเข้าร่วมสังเกตการณ์สาธิตการสอนทุกครั้งที่ครูปรับปรุงการสอนจากความรู้ใหม่ที่ครูแกนนำไปอบรมมา และผอ.จะให้คำแนะนำและวิพากษ์การสอนด้วย

ครูปราณี สอนคณิตศาสตร์ ป.3 เรื่องการชั่งน้ำหนักและการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เล่าให้ฟังว่า ในขั้นนำ ครูจะชวนคุยให้นึกถึงสถานการณ์ว่าเด็กเคยเห็นเครื่องชั่งที่ไหนบ้าง เด็กส่วนใหญ่จะเห็นจากในตลาด ครูก็จะให้เด็กแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เครื่องชั่งของแต่ละคนเป็นกลุ่มๆ ว่าเคยใช้ชั่งอะไรบ้าง จากนั้นครูจะถามเรื่องการใช้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เด็กก็ตอบว่า “ต้องปรับตั้งตรงเลข 0 ก่อน” แล้วครูก็ใช้สถานการณ์สมมติ ว่ามีพ่อค้าชั่งของขาย โดยนำเครื่องชั่งที่ครูปรับตั้งเข็มไม่ตรงเลข 0 มาชั่งของที่นักเรียนเตรียมมาจากบ้าน แล้วครูถามนักเรียนว่า “นักเรียนสังเกตเห็นอะไรมั้ย” นักเรียนก็ตอบว่า “เข็มปรับไม่ตรงเลข 0” “ถ้าในอนาคตหนูมีอาชีพเป็นแม่ค้าหนูจะไม่ทำอย่างนี้ เพราะมันไม่ดี ไม่ซื่อสัตย์ ต่อไปลูกค้าจะไม่ซื้อร้านเรา”

หลังจากที่ครูสรุปความรู้เนื้อหาเรื่องการชั่งแล้ว ครูก็สรุปให้เด็กเห็นว่าความพอเพียงอยู่ตรงไหน โดยใช้คำถามต่อเนื่องจากสถานการณ์สมมติ เช่น “การที่คนขายไม่ซื่อสัตย์กับเราหมายความว่าอะไร” นักเรียนตอบว่า “ไม่มีคุณธรรมครับ” จากนั้นครูก็จะถามต่อว่า “ถ้าเราเป็นคนขายที่ไม่ซื่อสัตย์แล้ว ต่อไปลูกค้าก็จะไม่ซื้อของเรา แล้วเราจะเป็นอย่างไร” นักเรียนตอบว่า “เราก็จะขายของไม่ได้ ทำให้ขาดทุนค่ะ” ตรงนี้ครูก็จะเสริมนักเรียนว่า “ฉะนั้น ความไม่ซื่อสัตย์ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการขายของ เป็นการขาดภูมิคุ้มกันได้” เป็นต้น ในการสอนความ “พอเพียง” ของครูปราณีนี้ ครูจะตั้งคำถามแยกทีละองค์ประกอบ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกคิดทีละส่วน แล้วสรุปให้นักเรียนรู้ว่านี้คือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

ในช่วงท้ายของการเล่าเรื่อง ครูปราณีสรุปให้เห็นว่าการสอนคณิตศาสตร์ นอกจากครูจะสอนเนื้อหาได้แล้ว ครูยังสามารถสอดแทรกในเรื่องความพอเพียงได้ด้วย

ครูสาวิตรี สอนภาษาไทย เล่าว่าโรงเรียนมีกิจกรรมช่วงพักเที่ยง ว่างๆ ผอ.หรือครูจะสุ่มเรียกกลุ่มนักเรียนเป็นห้องเข้าพบ เพื่อให้นักเรียนฝึกคิด กล้าแสดงความคิดเห็น โดยครูจะให้นักเรียนอ่านข่าวและวิเคราะห์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าว ว่านักเรียนรู้สึกอย่างไร

นอกจากนี้ บางครั้งครูจะเล่านิทานปลูกฝังคุณธรรมให้นักเรียนฟัง แล้วครูถามให้นักเรียนคิดว่า “ถ้านักเรียนเป็นตัวละครในเรื่อง นักเรียนจะทำอย่างไร” ผลที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนที่ปานกลางจะพัฒนาดีขึ้น สำหรับนักเรียนที่เก็บตัวเงียบ ครูจะกระตุ้นให้เพื่อนช่วย ครูสังเกตเห็นว่า นักเรียนที่พูดมาก พูดไม่หยุด ไม่เว้นจังหวะให้เพื่อน เมื่อทำกิจกรรมนี้หลายครั้ง เขารู้แล้วว่าจะต้องแบ่งให้เพื่อนได้พูดบ้าง มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือถ้าเพื่อนตอบไม่ได้ นอกจากนี้ กิจกรรมนี้ยังทำให้ครูเห็นวิธีคิด ทัศนคติของนักเรียน ซึ่งจะช่วยเป็นข้อมูลให้ครู “รู้จักเด็ก” มากขึ้น ครูจะได้นำมาใช้ปรับการจัดการเรียนการสอนได้เหมาะสมกับลักษณะของเด็กแต่ละคนมากขึ้น

เนื่องจาก ผอ.พีระพลกำลังจะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้ เมื่อครูถูกตั้งคำถามส่งท้ายว่า “หากผอ.ที่เข้ามาใหม่ไม่ขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต่อ คุณครูจะทำอย่างไร” คุณครูได้ช่วยกันตอบด้วยความมั่นใจว่า “ในตอนแรกเริ่มผอ.สั่งแกมบังคับ แต่ตอนนี้ครูทุกคนทำกันได้แล้ว และเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่นักเรียนบ้างแล้ว จึงคิดว่าเรามาถูกทางแล้วและน่าจะทำต่อไป” “ผอ.ใหม่น่าจะเปิดใจกว้าง ดูการเรียนการสอนของครูในห้องก่อน อย่างไรก็ตาม หากผอ.ใหม่ไม่เอาด้วย แต่อย่างน้อยกระบวนการเรียนการสอนของครูในห้องเรียน 1 ชั่วโมงที่ครูอยู่กับเด็ก ครูยังทำงานของตัวเองได้อยู่ และถ้าผอ.เห็นผลว่าเกิดกับเด็กจริง ผอ.ก็น่าจะสนับสนุนครูอยู่”

­

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการชวนคิดชวนคุยกับคุณครู

  • การเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เมื่อลงมือปฏิบัติ ที่ครูเล่าว่าเข้ารับการอบรมหลายครั้ง หรือแม้แต่ไปดูงานโรงเรียนอื่น ก็ยังไม่เข้าใจว่าจะต้องปรับเปลี่ยนการสอนอย่างไร แต่เมื่อได้ทดลองทำดู จึงเข้าใจและรู้ว่าไม่ยากอย่างที่คิด และเมื่อครูสัมผัสผลจากการที่เห็นเด็กเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว จึงเริ่มเห็นคุณค่า ดังที่ครูเน้นย้ำว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารไป ก็จะพยายามพูดคุยกับผู้บริหารใหม่ให้เห็นคุณค่า และจะยังคงพัฒนาการสอนต่อไป
  • การที่ครูปรับการสอนโดยใช้การตั้งคำถามมากขึ้น นอกจากจะเป็นฝึกกระบวนการคิดของนักเรียนแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น แสดงเหตุผลของตนเอง นักเรียนก็จะกล้าแสดงออกมากขึ้น เมื่อครูและนักเรียนต่างเปิดใจรับฟังกันมากขึ้น ก็จะเข้าใจกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ของครูและนักเรียนก็จะดีขึ้น บรรยากาศการเรียนการสอนจะสนุก มีชีวิตมากขึ้น การเรียนรู้ของนักเรียนก็จะดีขึ้น 
  • ผอ.พีระพลใช้วิธีการพัฒนาการสอนของครูที่ได้ผลมาก คือ การสังเกตการสอนในห้องเรียนครู ทำให้ครูผู้สอนเห็นจุดเด่นและจุดที่ต้องพัฒนาของตนเองและของเพื่อน และการช่วยกันให้คำแนะนำสะท้อนกลับ (Feedback) อย่างกัลยาณมิตร จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและครู และระหว่างครูด้วยกันได้อย่างดี สังเกตได้จากการที่คุณครูช่วยกันตอบเสริมกันได้อยู่เป็นระยะๆ ราวกับสอนอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนบ้านร้านตัดผมนี้ เกิดจากความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงของครูที่มีใจ โดยมีผู้อำนวยการเป็นผู้สนับสนุน และที่จะลืมเสียไม่ได้ ต้องขอขอบคุณอาจารย์ไพโรจน์ พี่เลี้ยงที่ตั้งใจจริง และพยายามที่จะปรับวิธีการสอนของครูด้วยความมุ่งมั่น...สอนโดยไม่บอก