ส้มตำ โดย คุณราเชนทร์ เปลี่ยนสีบัว
ToRzz Apt
เรื่องเล่าเร้าพลัง
เรื่อง ส้มตำ

           “ครูครับผมอยากกินส้มตำ เป็นเสียงเล็กๆของนักเรียนชายคนหนึ่งพูดขึ้นขณะที่ดิฉันกำลังจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง พืชในท้องถิ่น ในชั่วโมงวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะผ่านมาหลายปีและเด็กชายเล็กๆคนนั้นเรียนจบจากโรงเรียนไปแล้ว เสียงของเขาก็ยังอยู่ในความทรงจำของดิฉันตลอดเวลาและทุกครั้งที่เข้าสอนนักเรียนในช่วงชั้นที่ 2 อย่าคิดว่าแผนการเรียนรู้ที่ผ่านการหาคุณภาพแล้วจะใช้ได้ดีเสมอไป ทุกกิจกรรมจะต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่นอยู่เสมอ ดังเช่นเรื่องของเด็กชายนเรศในวันนั้น เมื่อเขาพูดขึ้นนักเรียนทั้งห้องหันไปมอง โดยเฉพาะสายตาของหัวหน้าห้อง(ซึ่งเป็นคนเก่ง)และเป็นเด็กผู้หญิงที่สามารถสั่งให้ใครทำอะไรในห้องได้ทุกอย่างเพราะได้รับมอบอำนาจจากครู(ประจำชั้น) นเรศหน้าแห้งและพูดอ่อยๆว่า ผมอยากกินส้มตำครับ

           ดิฉันนึกเห็นใจ สงสาร และชื่นชมความกล้าของเขา คงจะหิวแล้วตัวผอมเล็กออกอย่างนั้น และนี่ก็เป็นเวลา 10โมงกว่าแล้ว(ส่วนใหญ่นักเรียนจะไม่ได้ทานข้าวเช้ามาจากบ้าน)ดิฉันยิ้มและพูดว่า ได้ค่ะ ถ้าอย่างนั้นพวกเรามาช่วยกันตำส้มตำให้นเรศกินกันดีกว่านะ...ใครอยากกินบ้างยกมือขึ้นทุกคนหันมามองหน้าหัวหน้า มองหน้าดิฉันแล้วยกมือขึ้นพร้อมกัน แถมหัวหน้ายกมือด้วย เลยได้ยินเสียงใสๆที่บ่งบอกถึงความสุขในห้องพร้อมๆกัน ผม/หนูอยากกินครับ/ค่ะดิฉันก็สวมบทบาทแม่ค้าส้มตำทันที เอ้าช่วยกันบอกหน่อยซิว่าต้องเตรียมและใส่อะไรบ้าง ครก มะละกอ มะเขือสอด(มะเขือเทศ) กุ้งแห้ง ถั่วฝักยาว ถั่วคั้ว(ถั่วลิสง) ดีปลี(พริกขี้หนู) มะนาว กระเทียม น้ำตาล น้ำปลา แถมข้าวเหนียว จาน ช้อน น้ำ ดิฉันรีบเขียนชื่อเหล่านั้นลงบนกระดานดำ แค่นี้ก็พอแล้วที่จะทำให้นักเรียนเรียนรู้เรื่อง พืชที่มีในท้องถิ่น หลังจากนำส่วนต่างๆใส่ลงในครก(บทบาทสมมุติ) แล้วช่วยกันตำ ตักกิน อร่อย เหมือนจริง นักเรียนสนุกและเรียนรู้เรื่องพืชได้อย่างรวดเร็ว การนำคำมาเขียนก็ไม่ยาก ผลงานที่ออกมา คือภาพพืชที่มีในท้องถิ่น พร้อมชื่อใต้ภาพ ดิฉันสามารถประเมินผลการเรียนรู้ นักเรียนผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้ บอกชื่อพืชในท้องถิ่นได้ 5 ชนิด จำแนกได้ว่าอะไรเป็นพืช ถ้าดิฉันยังดื้อที่จะสอนตามแผนการเรียนรู้โดยไม่ปรับเปลี่ยน เชื่อแน่ว่ากว่านักเรียนจะบอก เขียนชื่อและจำแนกพืชได้ คงต้องใช้เวลานานและคงไม่ผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้ทุกคน
          
 จากเหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ดิฉันระลึกอยู่เสมอว่า การที่จะให้ผู้เรียนเรียนรู้สิ่งใดต้องให้เกิดจากความต้องการ เมื่อได้เรียนตามต้องการหรือสนใจแล้วการเรียนสิ่งนั้นๆจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ดิฉันได้นำวิธีการทำนองนี้มาใช้เป็นประจำ ส่งผลให้นักเรียนป.6 มีความสนใจ กระตือรือร้นในการเรียนและตั้งใจเรียนมากขึ้น