ห้องเรียนรู้ชีวิตพอเพียง
นงนาท สนธิสุวรรณ


ข้าพเจ้าเป็นเด็กในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ และด้วยความที่เป็นลูกสาวนายทหาร ที่ต้องติดตามครอบครัวแบบระหกระเหิน ไปตามค่ายทหารต่างๆที่พ่อสังกัดอยู่ การเรียนรู้แบบเด็กนักเรียนในระยะต้นๆของชีวิต จึงได้มาจากโรงเรียนที่จัดตั้งโดยกรมกองของพ่อ คือ โรงเรียนสื่อสารสงเคราะห์ (ส.ส.ส) ในเขตดุสิต กทม.

สภาพแวดล้อมของโรงเรียนในยุคนั้น ติดดินมากๆ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว อุปกรณ์การเรียนหลักสำหรับเด็กอนุบาล คือกระดานชนวนสีดำ และดินสอหิน ไม่มีการแจกหนังสือเรียน ครูจะสอน ก-ฮ ด้วยการจับมือเขียนบนกระดานชนวน และให้การบ้านเขียนเพียงวันละหนึ่งตัวอักษร มีการประกาศยกย่องชมเชยติดดาวเงินสะสมที่หน้าชั้นสำหรับนักเรียนที่เขียนได้ถูกต้องสวยงาม เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่เพื่อนๆ นับเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย ไม่กดดัน แต่สร้างความบันดาลใจให้มีความรับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอ

ข้าพเจ้าจำได้ว่า แม่ซึ่งเคยเป็นอดีตครูอาชีพประจำโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ ได้ปลีกเวลาว่างจากงานแม่บ้าน มาสอนลูกสาวเพิ่มเติมทุกวัน และยังหัดให้ผสมคำง่ายๆเป็นของแถม สะท้อนความเอาใจใส่ของผู้ปกครองต่อการเรียนของบุตรหลาน ไม่ทอดทิ้งให้เป็นภาระของโรงเรียนเท่านั้น




การเรียนของข้าพเจ้า จึงก้าวหน้ากว่าในห้องเรียนมาก และสามารถสอบขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ในโรงเรียนราชินี ซึ่งเป็นโรงเรียนพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และได้รับพระบรมราชินูปถัมภ์จากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ส.ผ. เป็นพระนามาภิไธยย่อในพระองค์ท่าน) โรงเรียนนี้มีระบบการเรียนที่พัฒนาในทุกด้านทั้งเชิงวิชาการ และการจัดการชีวิตตามวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ผสมผสานกับความเป็นอยู่ยุคใหม่อย่างมีความสุขด้วยคุณธรรมทั้ง กาย วาจา และใจ



ณ โรงเรียนนี้ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้การเสริมทักษะการใช้ชีวิตในการประกอบการงานอาชีพของกุลสตรีจากพื้นฐานง่ายๆ ไปจนถึงระดับลึกซึ้งซับซ้อน ทั้งงานการครัว การเย็บปักถักร้อย การเข้าสังคมด้วยคุณสมบัติของผู้ดีที่เพียบพร้อมความรู้รอบตัว และมารยาทของการรักสามัคคี รู้จักแบ่งปัน ไม่เอารัดเอาเปรียบแก่งแย่งชิงดีเด่น ไม่ถือประโยชน์ตนเป็นที่ตั้งกว่าส่วนรวม




น้องสาวอีกสี่คนของข้าพเจ้า ได้ติดตามเข้ามาเรียนรู้ที่โรงเรียนเดียวกันนี้จนจบขั้นมัธยมศึกษา ได้เห็นแบบอย่างอันมีคุณค่าของคณาจารย์ทุกคนผู้ "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น" .. ดำรงตนอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ทำมากกว่าพูด ยกย่องคนอื่นมากกว่าโอ่อวดตนเอง


ต่อมา ข้าพเจ้าได้ก้าวขึ้นสู่การเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่มุ่งเน้นศาสตร์และศิลป์แห่งการอยู่ร่วมกับคน เป็นหัวใจสำคัญของความสุขในการดำรงชีวิต ด้วยจิตวิทยา และมนุษยวิทยา ให้สามารถจัดการกับวิกฤตของสถานะการณ์ ที่ไม่อาจแก้ไขด้วยความฉลาดทางวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องใช้ความเฉลียวใจในการรู้จักยืดหยุ่นปรับทัศนคติ และจิตสำนึกของความเมตตาประนีประนอมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

การเรียนรู้ ไม่ได้จบที่สถานศึกษาเท่านั้น....สังคมรอบด้าน..เหตุการณ์ผันแปร..วิถีปฏิบัติจริง..คือห้องเรียนรู้ชีวิต ที่ต้องปรับสู่ความพอเพียงอย่างเป็นสุขและยั่งยืน..