เก็บตกงานแถลงข่าวโครงการเรื่องเล่า โดย คุณสุจินดา งามวุฒิพร
Atomdony Modtanoy
           เมื่อสัปดาห์ก่อน วันที่ 24 กันยายน ทางโครงการประกวดเรื่องเล่า "บทเรียนความสำเร็จในการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้" โดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้จัดงานแถลงข่าวและเปิดตัวโครงการ ที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์

               ในช่วงแรกเป็นการพูดคุยของเจ้าสำนักผู้ก่อการ (ดี) ได้แก่ ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คุณศัจธร วัฒนะมงคล ผู้อำนวยการสำนักกิจการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คุณสุกัญญา งามบรรจง รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ชี้แจงถึงความเป็นมาโครงการ บทบาทและความคาดหวัง สิ่งที่อยากเห็นของแต่ละหน่วยงาน

กลุ่มเป้าหมายของโครงการในปีนี้ คือ สถานศึกษาพอเพียงปี 2550 และโรงเรียนเครือข่ายมูลนิธิสยามกัมมาจล รวมประมาณ 139 โรงเรียน




การส่งผลงาน แต่ละโรงเรียนจะส่งได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ 1 คนส่งได้เพียง 1 ชิ้น ทั้งนี้ ผลงานที่ส่งมาอาจจะเป็นของ
  • ผู้บริหารโรงเรียน
  • ครู ส่งเป็นผลงานส่วนตัวรายวิชา
  • ผลงานกลุ่ม เช่น โครงงานหรือหน่วยการจัดการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ ที่มีครูแต่ละรายวิชามาช่วยกันบูรณาการ
แน่นอนว่าผู้บริหาร 1 ท่านส่งได้เพียง 1 ชิ้น และถ้าครูส่งงานกลุ่มแล้ว จะไม่มีสิทธิส่งผลงานส่วนตัว

ดร.ปรียานุชเสริมว่า "จาก งานวิจัยพบว่าหน่วยจัดการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ ที่มีการวางแผนออกแบบร่วมกัน สามารถเห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักเรียน และค่านิยมได้ เห็นผลชัดเจน เราจึงอยากเห็นผลงานกลุ่มแบบนี้ส่งมาสมัครด้วย การ ที่ครูจะส่งผลงานชิ้นไหน ครูจึงน่าจะเลือกจากผลการประเมินที่เกิดการปรับเปลี่ยนกับผู้เรียนเป็นสำคัญ ขอให้ครูใช้นักเรียนเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จว่าควรจะส่งงานชิ้นไหนมา"





คุณปิยาภรณ์ เพิ่มเติมว่า "กรรมการ อยากเห็นผลงานที่สะท้อนบริบทการจัดการเรียนรู้ แรงบันดาลใจที่นำเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ท่านนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาออกแบบการเรียนรู้อย่างไร เล่าให้เห็นกระบวนการและขั้นตอนที่ผู้อื่นสามารถนำไปปรับใช้ได้ และที่สำคัญเกิดผลอย่างไรกับนักเรียน ศิษย์มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร" และเพื่อให้โรงเรียนได้แนวทางการเขียนเรื่องเล่าให้น่าสนุก น่าติดตาม ทางโครงการฯ ได้เชิญคุณศุ บุญเลี้ยง (คุณจุ้ย) มาชวนพูดคุย "เทคนิคการเขียนเรื่องเล่าให้น่าสนใจ"



คุณจุ้ยเริ่มชวนคุยด้วยการกระตุ้นผู้ฟัง (ทุกท่านมีใจจะเขียนเรื่องเล่าส่งมาอยู่แล้วล่ะ) ว่า "เรื่องเล่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คน อาจจะมากกว่าข้อมูลจริงด้วยซ้ำ เพราะเรื่องเล่ามีพลัง ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง"










พร้อมมีเคล็ด (ไม่) ลับ (แล้ว) การเขียนเรื่องเล่า 7 ข้อ
1. เรื่องที่ราบรื่น สำเร็จโดยดี ไม่มีลุ้น จะเป็นเรื่องที่ฟังแล้วจืด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ความสำเร็จจะไม่มีอุปสรรคเลย เทคนิค คือการใช้ "...แต่..." ปัญหาจะทำให้เรื่องเล่าน่าสนใจ
2. ตรรกะของ เรื่องต้องแข็งแรง เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งคนที่ทำจริงจะไม่มีปัญหาในการเล่า คำพูดที่ใช้ไม่สำคัญเท่าเหตุผล ไม่ต้องกลัวว่าภาษาไม่ดี เพราะภาษาไทยไม่มีคำไหนดีกว่าคำไหน บางคนชำนาญทางด้านภาษา แต่อาจใช้ภาษาไม่เหมาะกับเรื่องก็ได้ ขึ้นกับบริบท อาจไม่ต้องใช้คำพรรณนามาก
3. เรื่องที่สนุกต้องขยัก เรื่องที่ทำสำเร็จ หรือน่าสนใจ อย่ารีบบอกผลลัพธ์ เก็บเรื่องที่สำคัญไว้ในจังหวะเวลาที่เหมาะ
4. ต้องไม่ลืมที่จะขยายความรู้สึกที่เกิดขึ้น (แต่ไม่ใช่โกหก)
5. เลือกจุดสำคัญที่จะขยี้ หรือเล่นประเด็น หาโอกาสนำคำพูดหรือเรื่องที่เคยเปิดประเด็นไว้กลับมาใช้อีกครั้งในตอนหลัง
6. ขจัดสิ่ง ที่ไม่จำเป็น อาจลองเขียนเรื่องดูก่อน แล้วดูว่าตรงไหนที่ไม่จำเป็นตัดทิ้ง เขียนส่วนที่เราชำนาญ หรือจำได้ก่อน แล้วเพิ่มหัว-ท้ายทีหลัง เล่าเรื่องให้เกิดความหมายของหัวข้อนี้ ให้ผู้อ่านรู้สึกได้เองว่า ..นี่แหละ!!.. เป็น "บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้" โดยไม่ต้องเขียนคำนี้ออกมา จะไม่ทำให้การเขียนต้องรู้สึกวุ่นวายกับคำพวกนี้
7. ขัดเกลาคำที่ไม่สำคัญ คำฟุ่มเฟือย เช่น ที่ ซึ่ง อัน ทิ้งไป




"เพื่อ ให้เรื่องเล่ามีพลัง มีเสน่ห์ เราต้องรู้จักสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว หน้าที่ของเรื่องเล่าคือ ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึก วิธีคือเขียนเรื่องเล่าเหมือนเรากำลังเล่าเรื่อง ไม่เป็นการเขียนเรียงความ กรรมการจะไม่ชอบความเป็นทางการ เวลา เขียนหนังสือ ผมจะนึกถึงการปรุงอาหาร อย่าต้มไก่ทั้งตัว เอาขนไก่ออกก่อน แต่ต้องระวังเรื่องบางเรื่องที่สำคัญอย่าตัดออก อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เหมือนจะไม่สำคัญ แต่สำคัญมากสำหรับเรื่องเล่า เช่น บริบท" คุณจุ้ยกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "อย่าเขียนให้เครียด ขอให้เล่าด้วยความรื่นรมย์ ไม่ต้องกลัวว่าคนอ่านจะไม่ชอบ"

ดูแล้ว การเขียนเรื่องเล่าไม่ยากอย่างที่คิดเลยใช่มั้ยคะ ....ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจจะเขียนและส่งผลงานมานะคะหากท่านใดสนใจ ต้องการดูบันทึกเทปคุณจุ้ย download ได้ที่ http://www.scbfoundation.com/knowledge_th.php?kid=24 ค่ะ