เข้าถึงเศรษฐกิจพอเพียงได้ ต้องลงมือปฏิบัติ
ศศินี ลิ้มพงษ์

ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งที่ยากที่สุดคือการนำสู่การปฏิบัติ แต่เมื่อลงมือทำแล้วจะค่อยๆ เรียนรู้ แรกๆ ดูเหมือนยาก หลายครั้งคิดไม่ออกว่าอย่างไรต้องค่อยๆ ตั้งคำถามให้ตัวเองไปอย่างใจเย็นๆ หลายเรื่องยังต้องฝึกฝืนเพราะขัดกับกิเลสตน สุดท้ายเข้าถึงบางอ้อว่าก็อยู่ในชีวิตของเรานั่นแหละ และเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสูตรของความสำเร็จในการทำการงานต่างๆ ...........

­ครั้งแรกที่ได้ยินว่าเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครื่องมือในการ “พัฒนาคน” ก็ให้สงสัยว่าได้อย่างไร.... จนเมื่อได้มาอ่านพบว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักคิด หลักปฏิบัติ มีคนพูดว่าก็เหมือนหลักธรรมะนั่นแหละที่ต้องลงมือทำจึงจะเข้าใจ และรู้ได้ด้วยตนเอง...... ถ้าเราไม่เข้าใจแล้วจะทำงานนี้ได้อย่างไร? ก็อ่านพบหลักการทรงงานอีกบท.... “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ก็ต้องทำความเข้าใจอีกนั่นแหละว่าอย่างไรดีนะ ตีความไปเรื่อยๆ

­

ตอนนี้อ๋อว่า การจะขับเคลื่อนอะไรก็ตาม เราเข้าใจตามตัวอักษร เข้าใจแค่นิยาม หรือแม้จะได้จากการอ่านหนังสือตัวอย่างมากมายก็ยังไม่พอเราจะเข้าใจก็จริง พูดคุยได้ก็จริง อาจคิดตาม logic ไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายจะติดขัด พลิกแพลงไม่ได้เพราะเศรษฐกิจพอเพียงจะเข้ามาในใจเราได้ต้องอาศัยการ “ปฏิบัติ” ด้วยตัวเองเท่านั้น....

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางการนำไปใช้ในสถานศึกษา
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี

­

วิธีการจริงๆ นั้นไม่ยากเลย ก่อนจะทำอะไรให้ตั้งคำถามกับตัวเอง (ต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทิศนาที่ได้ช่วยทำให้กระจ่าง และทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงง่ายขึ้นเยอะมาก) ว่า จะทำอะไร..... ทำไปทำไม......เป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร...... วิธีที่จะทำมีอะไรบ้าง (มองหาทางเลือก) .......... แต่ละวิธีจะมีผลกระทบกับใครและอย่างไรบ้าง........... สร้างความเดือดร้อนให้กับใครหรือเปล่า (เบียดเบียนตัวเอง/คนอื่นๆ ไม่ทำ)........วิธีไหนที่เราจะสามารถทำได้ด้วยตัวเอง...... เรามีความรู้พอไหม ถ้าไม่พอจะต้องหาจากที่ไหน......รู้ได้อย่างไรว่าความรู้ที่ได้มานั้นถูกต้อง....... ถ้ามีความรู้ถึงเรื่องที่จะทำอย่างลึก ละเอียด และครอบคลุมมากพอแล้ว กลับมามองตัวเองว่าสามารถทำได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า.....ถ้าทำเองไม่ได้ต้องขอความช่วยเหลือจากใครบ้าง..... แล้วจะขอความช่วยเหลือเขาอย่างไร (เราต้องใช้คำพูด วิธี และวางตัวอย่างไรจึงเหมาะสม)...... สิ่งที่จะทำต้องใช้วัสดุ อุปกรณ์ อะไรบ้าง...... เรามีหรือไม่....... ต้องหาจากที่ไหน........... ภายใต้งบประมาณและสิ่งของที่มีอยู่จะทำให้สำเร็จจะทำอย่างไร....... มีปัจจัยอะไรเกื้อหนุนเราบ้าง.... จะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด......... มีอะไรที่จะเป็นอุปสรรคที่จะทำให้เราทำงานไม่สำเร็จได้บ้าง...... เราจะรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ อย่างไร........ สุดท้ายเราก็เลือกทางเลือกที่เป็นไปได้ที่สุด............. กว่าจะเข้าใจตรงนี้ใช้เวลาหลายปีทีเดียวค่ะ

­

ชุดคำถามยังไม่จบแค่นี้ เพราะนี่แค่เริ่มต้นวางแผนยังไม่ได้ลงมือทำงานจริงเลย.... เวลาทำงานจริงจะมีเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งเหมือน และแตกต่างจากที่เราคาดไว้เสมอ จึงต้องมีการประเมินสถานการณ์ว่าเป็นไปตามที่เราคาดคิดหรือเปล่า อะไรที่ดีกว่าคาด และจะนำสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์มากขึ้นได้อย่างไร.... อะไรที่เป็นอุปสรรคปัญหา....เราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรที่สมเหตุสมผล และมีความเป็นไปได้มากที่สุด (กลับไปมองคำถามเดิมๆ เพื่อประเมินทางเลือก)....... ระหว่างทางต้องคอยประเมินสถานการณ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง และมองหาวิธีที่จะทำให้งานสำเร็จดีขึ้นเรื่อยๆ ....

­

เมื่องานเสร็จไม่ว่าความสำเร็จจะออกมาได้อย่างใจคิดหรือไม่ จะมีประโยชน์มากถ้าเรามาตั้งคำถามกับตัวเอง (ถอดบทเรียน) เสียหน่อยว่า “เราได้เรียนรู้อะไรจากงานที่เราทำ” มีความสำเร็จอะไรเกิดขึ้นบ้างทั้งที่คิด และไม่คิดไว้ .......... ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร......... ครั้งต่อไปจะทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่..... อย่างไร....... มีความผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นบ้าง...... เพราะอะไร....... ถ้าต้องแก้ไขจะทำอย่างไร........

­

วิธีนี้จะพบว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมักมาจากไม่รู้นี่...... ถ้ารู้อย่างนี้....... ไม่คิดว่าเหตุการณ์นี้จะเกิด........ ลืมไป........ ไม่ได้ใช้ความพยายามมากพอ...... ที่ตั้งใจไว้ลืมทำ ... ฯลฯ ก็ความบกพร่องที่ใช้ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขไม่ครบทั้งนั้น ความสำเร็จยิ่งดีแค่ไหนก็หมายความว่าชุดคำถามของเราลึกและละเอียดมากเท่านั้นและที่สำคัญคือเราทำตามแผนเป็นอย่างดี

­

จากที่เคยทำงานไม่ค่อยเป็นระเบียบ ได้จัดระเบียบชีวิตดีขึ้น.... จากการรีบด่วนตัดสินใจทำให้คิดรอบคอบขึ้น... โดยเฉพาะในเรื่องของเป้าหมายในการทำงานต้องชัด และทบทวนบ่อยๆ ว่าเรื่องที่ทำตอบโจทย์ของเราไหม เดือดร้อนคนอื่นไหม.... เป็นประโยชน์มากค่ะ มาวันนี้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เข้ามาอยู่ในใจแล้ว และรู้อีกว่าจะเรียนรู้อะไรได้จริง การอ่าน อ่าน อ่าน การคุย คุย คุย และการแลกเปลี่ยนเท่านั้นไม่พอ ต้องลงมือทำค่ะ บางครั้งก็ไม่อยากทำแก้ตัวสารพัด ไม่มีเวลา คนอื่นยังไม่ทำเลย ฯลฯ แต่ถ้าเราเป็นคนขับเคลื่อนงานอะไรก็ตามก็ต้องนำมาใช้ให้แตกฉาน แรกๆ บังคับใจหน่อยต้องใช้คุณธรรม แล้วจะค่อยๆ ชินไปเอง และเมื่อสัมผัสประโยชน์แล้วตอนนี้อยากให้คนใกล้ชิด คนที่เรารัก และใครก็ได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ รับรองชีวิต “เป็นสุข” แน่ๆ ค่ะ

­


- ศศินี ลิ้มพงษ์ - ผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล