เด็กยุคใหม่ หัวใจพอเพียง โดย คุณสุจินดา งามวุฒิพร
Atomdony Modtanoy
ในงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 1 "ร่วมสร้างประเทศไทย...ด้วยการให้" กลุ่มเยาวชนพอเพียงพร้อมด้วยผู้บริหารและคณะครูได้ร่วมแรงร่วมใจกันมาจัดกิจกรรมดีๆ ที่สะท้อนการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรม และเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญา แก่เยาวชนและผู้ใหญ่ บริเวณ Atruim 1 มุมเล็กๆ ในห้างใหญ่กลางกรุง



กิจกรรมของน้องน้ำ "อภิสรา เกตุนุติ" และเพื่อนๆ ใน ร.ร. จุฬาภรณราชวิทยาลัย คือการทำสื่ออักษรเบรลล์ให้กับเพื่อนผู้พิการทางสายตา ทั้งที่เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ พระบรมราโชวาท และเรื่องราวความรู้นอกห้องเรียนทั่วไป โดยมีแบบอย่างแรงบันดาลใจมาจากรุ่นพี่ "ตฤณ" ตฤณ ธรรมเนียม และ "ตูน" อธิวัฒน์ พงษ์พานิช ที่บุกเบิกทำโครงการนี้มาก่อน



อดีตแกนนำโครงการนี้ "ตฤณ ธรรมเนียม" เล่าถึงช่วงเวลาเริ่มแรกของโครงการนี้ว่า หลังจากไปเข้าค่ายแล้วมีโอกาสช่วยดูแลน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ทำให้เขากลับมานึกย้อนดูตัวเองอีกครั้งว่า ตัวเขาเองจะมีส่วนช่วยดูแลน้องๆ ตาบอดได้มากกว่าเพียงการบริจาคกระดาษเหลือใช้อีกบ้างไหม



"ผมได้มีโอกาสไปเข้าค่าย แล้วก็ได้ดูแลน้องจากบ้านคนตาบอด น้องแต่ละคนตาบอดแล้วก็มองไม่เห็นเลย หรือบางคนก็ตาฝ้าฟาง ทีนี้ผมได้ดูแลน้องคนหนึ่ง ผมก็พาน้องเขาไปทะเลครับ น้องถามว่า พี่ครับทะเลเป็นไงครับ ผมงงเลย ไม่รู้จะตอบยังไง จะบอกว่าน้ำทะเลมันสีฟ้า น้องก็คงไม่เคยเห็น แต่น้องคงสามารถสัมผัสได้ ผมเลยให้น้องชิมน้ำทะเลครับ มันเค็มครับ น้องเขาคงสัมผัสได้ ทีนี้น้องก็เลยถามว่า "พี่ครับ เรือเป็นไงครับ" อันนี้หนักใจเลย เพราะผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ก็เลยตอบน้องเขาไปว่าเรือนี่นะ มันก็แล่นไปบนน้ำเค็มๆ แล่นไปไหนมาไหนได้ ทีนี้พอผมกลับมามองดูตัวเองครับ ในขณะที่ผมดูน้องเขาไปด้วย เราเป็นคนๆ หนึ่ง เราจะช่วยอะไรให้น้องได้บ้าง หรือว่าดูแลเขาต่อในค่ายถัดไปเหรอ หรือว่าดูแลตลอด จะทำอย่างไร ผมก็คิดครับ คิดอยู่นาน แล้วก็กลับมาดูที่โรงเรียน โรงเรียนมีกระดาษเยอะครับ ก็เป็นกระดาษที่ใช้แล้วสองด้าน ผมก็มองครับว่าผมจะทำอะไรได้บ้าง ทราบมาว่าทางโรงเรียนสอนคนตาบอดต้องการกระดาษเหลือใช้ ผมเลยมองกลับไปที่โรงเรียนว่าเรามีกระดาษที่ใช้สองด้านแล้ว ทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีอยู่เยอะมาก จึงคัดแยกกระดาษส่วนที่ดีออกมาทำอักษรเบรลล์ให้ความรู้กับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา พอทำแล้วจึงเห็นว่า มันเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ที่ว่ากระดาษที่เราไม่ต้องการ แต่มันเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับน้องคนตาบอดได้อย่างดี"

และพวกเขาก็ช่วยกันคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรกับกระดาษหนังสือพิมพ์ ยับ เปื้อนน้ำหมึกต่อไป จนในที่สุดพวกเขานำกระดาษส่วนที่ไม่ดีนั้นไปทำเปเปอร์มาเช่ ประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาหรือพวงกุญแจหารายได้มาสมทบเป็นค่าใช้จ่ายของโครงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดหาทางออกว่าปลายทางของกระดาษที่เสื่อมคุณภาพ จนไม่สามารถนำไปทำให้เกิดประโยชน์ใดได้อีกนั้นจะกลับมามีคุณค่าใหม่ได้อย่างไร


สำหรับ "น้ำ" แม้แรกเริ่มจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการในการทำสื่อการเรียนรู้ให้ผู้พิการทางสายตาในชุมนุมจิตประภัสสรตั้งแต่ต้น แต่แวบแรกที่เห็นรอยยิ้มส่งผ่านออกมาจากภาพการทำกิจกรรมในชุมนุม ใจของเธอก็อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเพื่อทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นบ้าง

"พอได้เข้ามาทำแล้วก็ยังได้รับความรู้มากขึ้นด้วย คือเขามองไม่เห็น เขาก็ไม่สามารถอ่านได้เหมือนเรา ฉะนั้นพอเรามาช่วยเขาทำสื่อการเรียนตรงนี้ให้ ก็เท่ากับว่าเรามีโอกาสช่วยเปิดโลกของเขาให้กว้างออกไปได้มากยิ่งขึ้น ทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้เหมือนกับที่พวกเรามีโอกาส ทำให้เราเกิดจิตอาสาในตัวเอง แล้วยังได้ฝึกสมาธิในการทำงาน มากไปกว่านั้น พวกเราเองยังได้เห็นพลังความสามัคคีจากเพื่อนๆ ด้วย"

สำหรับความเชื่อมโยงในการทำกิจกรรมตรงนี้กับหลักเศรษฐกิจพอเพียง สาวน้อยหน้าใสคนนี้ตอบว่า "พวกเราใช้กระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองหน้า ไม่ได้ฟุ่มเฟือยไปกับการใช้กระดาษใหม่ แต่เราจะเก็บกระดาษเอ 4 ที่เด็กบางคนไม่ใช้แล้วทิ้งมาทำเกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณธรรม โครงการนี้จึงสำเร็จไปได้ด้วยดี แล้วการทำงานตรงนี้ก็ใช่ว่าจะใช้แต่ความรู้ เรายังต้องใช้คุณธรรมในหลายๆ อย่างด้วย งานที่ทำจึงจะประสบความสำเร็จได้อย่างสวยงาม"

สำหรับผู้มาร่วมกิจกรรมนี้อย่าง คุณแม่ของน้องซินดี้ วัย 4 ขวบ 8 เดือน ที่กำลังสนุกสนานกับการเรียนรู้ในการทำอักษรเบรลล์ที่บูธเล่าว่า เห็นบูธนี้น่าสนใจตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่วันนั้นดึกไปที่จะเข้ามาดูว่ามีอะไรบ้าง จึงพาลูกสาวกลับบ้านไปก่อนจะกลับมาใหม่ในช่วงเช้าของวันที่ 11 ตุลาคม

"จริงๆ เช้านี้จะพาน้องซินดี้มาดูหนัง แต่มาเร็วก็เลยยังพอมีเวลาเดินเล่น เลยตั้งใจพาน้องมาที่บูธนี้ก่อน ซึ่งเขาก็ดูสนใจการทำอักษรเบรลล์มาก ส่วนตัวแล้วไม่ได้ตั้งใจว่าจะเลือกกิจกรรมไหนให้ลูกทำเป็นพิเศษ แต่ดูจะประโยชน์ที่ลูกของเราได้รับมากกว่า ซึ่งการทำอักษรเบรลล์นี้ ไม่ได้หาโอกาสเข้าไปเจอกับมันได้บ่อยๆ"



นอกจากจะเป็นการเรียนรู้อักษรที่ไม่ได้มีอยู่ตามห้องเรียนทั่วไปแล้ว ผู้เป็นแม่ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมที่เห็นลูกทำ ก็พอจะเข้าใจว่า กิจกรรมการทำสื่ออักษรเบรลล์นี้เป็นการฝึกให้รู้คุณค่าของสิ่งที่ดูจะไร้ประโยชน์ไปแล้ว ให้กลับมามีคุณค่าและมีประโยชน์กับคนอื่นได้อีก

และที่น่าประทับใจที่สุดเมื่อน้องๆ จากโรงเรียนจุฬาภรณฯ ได้มาเผยแพร่กิจกรรมนี้แล้ว ก็ได้เกิดแรงบันดาลใจที่จะช่วยกันทำหนังสือ "พพ.๘๒๙" ฉบับสีส้มที่เพิ่งออกใหม่นี้ เป็นอักษรเบรลล์ให้ได้ภายในภาคการศึกษาหน้า เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ และเป็นสื่อที่สร้างความเข้าใจเรื่อง "ความพอ